ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สรุปภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือน มี.ค.65 ผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นมาก และส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับลดลง อีกทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้มีความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี และ 2 ปีของสหรัฐฯ ที่ติดลบ (Inverted Yield Curve) ทำให้ผู้ลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท. เปิดเผยว่า จากปัจจัยภายในประเทศที่มีความเชื่อมโยงไปยังรัสเซียและยูเครนค่อนข้างน้อย และเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคบริการและการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากการกลับมาเปิดเมืองในอนาคต ทำให้เห็น Fund Flow จากผู้ลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ลงทุนต่างชาติย้ายเงินทุนกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นในภูมิภาคอาเซียน โดยในไตรมาส 1/65 มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายมายังตลาดหุ้นไทยมากที่สุด ทำให้ ณ สิ้นเดือน มี.ค.65 SET Index ปิดที่ 1,695.24 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 0.6% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ปรับเพิ่มขึ้น 2.3% จากสิ้นปี 64
ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย
- ณ สิ้นเดือน มี.ค.65 SET Index ปิดที่ 1,695.24 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 0.6% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ปรับเพิ่มขึ้น 2.3% จากสิ้นปี 64 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในอาเซียน
- SET Index ในไตรมาส 1/65 ได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากการกลับมาเปิดเมือง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 64 ได้แก่ กลุ่มบริการ กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มทรัพยากร
- ในเดือน มี.ค.65 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 95,532 ล้านบาท ลดลง 0.4% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/65 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 96,240 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุดเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ผู้ลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิเป็นเดือนที่ 4 โดยในเดือน มี.ค.65 ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 32,771 ล้านบาท ทั้งนี้ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวม 131,367 ล้านบาท
- ในเดือน มี.ค.65 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน SET 1 บริษัท ได้แก่ บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) ประกอบธุรกิจผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ-ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง ซึ่งมีมูลค่าเสนอขายกว่า 5,000 ล้านบาทซึ่งมีมูลค่าติด 1 ใน 5 ของ IPO ใน ASEAN สำหรับไตรมาส 1/65
- Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือน มี.ค.65 อยู่ที่ระดับ 17.6 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.3 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 18.4 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 16.0 เท่า
- อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 2.63% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.41%
ส่วนภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในเดือน มี.ค.65 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 701,944 สัญญา เพิ่มขึ้น 14.2% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ SET50 Index Futures, Single Stock Futures และ Gold Online Futures และในไตรมาส 1/65 TFEX ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 631,382 สัญญา เพิ่มขึ้น 14.6% จากไตรมาส 1/64
นายศรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 2-3 นี้ จะต้องมีการติดตามมาตรการที่จะเข้ามาสนับสนุนการเดินหน้าของเศรษฐกิจภายใต้แรงกดดันจากราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่พุงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงความสามารถในการปรับตัวเพื่อที่จะสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในภาวะต้นทุนในการดำเนินกิจการระดับสูง สำหรับทิศทางเงินทุนต่างชาติในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีแรงซื้อสุทธิรวมแล้ว 131,367 ล้านบาท โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการดำเนินนโยบายเปิดประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนของประเทศไทยที่ปรับตัวดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเป็นการนำเงินเข้ามาพักในประเทศที่มีความผันผวนน้อย ซึ่งไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความผันผวนน้อย ขณะที่ยังมีหุ้นบางกลุ่มที่เริ่มฟื้นตัว นักลงทุนมองเห็นกลุ่มเหล่านี้จึงเข้ามาซื้อมากขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมองว่ามีโอกาสเป็นไปได้ แต่ไม่มากเท่ากับประเทศขนาดใหญ่อื่นๆ ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่การปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่ได้มากนัก ส่วนเงินทุนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยจะยาวหรือไม่นั้น ต้องติดตามสถานการณ์ทั้งสงคราม โควิด การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ มองว่าตลาดหุ้นไทยยังเป็นจุดที่น่าสนใจอยู่ ยกเว้นว่าหากสงครามหยุดลง หรือยุโรปกลับมา จีนปรับเปลี่ยนนโยบาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ต้นเดือน เม.ย.นี้ดัชนีปรับตัวน้อยมาก เพราะปัจจัยต่างๆ ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งมีผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นมาก อัตราดอกเบี้ยที่แต่ละประเทศต้องระมัดระวัง ซึ่งยังไม่มีปัจจัยใหม่ แต่ที่น่าสนใจคือเงินทุนต่างชาติไหลเข้าเป็นจุดที่นักลงทุนต่างประเทศเห็นตลาดหุ้นไทยยังเป็นตลาดที่มั่นคง มีเสถียรภาพสูง ทั้งตลาดตราสารหนี้และตลาดทุน เห็นได้จากตั้งแต่ต้นปีเงินทุนยังไหลเข้าตลอด ไทยยังมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ