สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตรียมทบทวนแก้กฎหมายหลักทรัพย์ เพื่อให้มาตรการลงโทษทางอาญามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะความผิดการปั่นหุ้นและการใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น
เพราะมาตรการลงโทษในทางแพ่งโดยการปรับเริ่มใช้ไม่ได้ผล ความผิดการใช้ข้อมูลภายในหรืออินไซเดอร์เทรดดิ้ง ก.ล.ต.จะขยายผลเอาผิดกับบุคคลภายนอกที่นำข้อมูลภายในไปแสวงหาประโยชน์ด้วย จากเดิมจะลงโทษผู้กระทำผิดที่เป็นบุคคลภายในบริษัทจดทะเบียนเท่านั้น และจะใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ Ai เข้ามาตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติ เพื่อยับยั้งการกระทำผิดตั้งแต่ต้น
นอกจากนั้น ยังอยู่ระหว่างเสนอกฎหมายเพื่อให้ ก.ล.ต.มีอำนาจในการสอบสวน ก่อนส่งเรื่องให้อัยการฟ้อง และเสนอแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพยานให้เข้ามาอยู่ในกฎหมายหลักทรัพย์ โดยเฉพาะพยานบุคคล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนการจับกุมผู้กระทำความผิด
สำหรับความผิดในการปั่นหุ้นและการใช้ข้อมูลภายในนั้น ก.ล.ต.จะประเมินและทบทวนประสิทธิผลของมาตรการลงโทษทางแพ่ง และเป็นมาตรการลงโทษที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งจะทบทวนใหม่
เพราะแม้มาตรการลงโทษทางแพ่งจะช่วยให้การดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดได้เร็วและมีประสิทธิผล แต่มีข้อเสีย เพราะเมื่อผู้กระทำผิดยอมจ่ายค่าปรับ คดีก็จบ จึงไม่เกิดความเกรงกลัวในการกระทำผิด
พฤติกรรมการปั่นหุ้นและอินไซเดอร์เทรดดิ้ง เกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหุ้นเมื่อ 47 ปีก่อน แม้ตลาดหลักทรัพย์ และ ก.ล.ต.จะกำกับดูแลอย่างเข้มข้น บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด แต่ก็ไม่อาจขจัดการปั่นหุ้นหรือการใช้อินไซด์ให้สิ้นซากได้
ทั้งที่การปั่นหุ้นและอินไซด์เป็นความผิดร้ายแรง มีโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และเป็นพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบประชาชนผู้ลงทุน รวมทั้งสร้างเสียหายให้นักลงทุนนับแสนคน
จุดอ่อนของคดีปั่นหุ้นและอินไซด์อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน และอัยการ เพราะเมื่อ ก.ล.ต.รวบรวมข้อมูลหลักฐานการกระทำความผิด ส่งให้พนักงานสอบสวนเพื่อทำสำนวนส่งอัยการ คดีมักถูกตัดตอน ส่วนใหญ่จะถูกตัดตอนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรืออาจตัดตอนในชั้นอัยการ โดยการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้อง
ในยุคที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เคยสั่งตัดตอนคดีปั่นหุ้น 14 คดีรวดในคราวเดียว และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่เคยแถลงถึงความคืบหน้าใดๆ คดีเกี่ยวกับความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์
แทบทุกคดีที่ ก.ล.ต. ร้องทุกข์กล่าวโทษไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ คดีจะเงียบหายเป็นเป่าสาก แม้จะตัดตอนเป่าคดีไปแล้ว สาธารณชนก็ไม่มีวันได้รับรู้ แม้จะเป็นคดีปั่นหุ้นหรือไซฟ่อนเงินออกจากบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง จนกิจการล่มสลาย สร้างความย่อยยับให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยนับหมื่นรายก็ตาม
การใช้มาตรการลงโทษทางอาญาเพื่อให้กลุ่มมิจฉาชีพ แก๊งโกง ขบวนการปั่นหุ้นเข็ดหลาบ เมื่อกลายเป็นการเตะหมู โดยคดีถูกตัดตอน ไม่เข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล ทำให้อาชญากรในตลาดหุ้นรายแล้วรายเล่าลอยนวล ก.ล.ต.จึงต้องหันมาใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง โดยการสั่งปรับ
ผู้กระทำผิดรายใดไม่ยอมจ่ายค่าปรับ ก.ล.ต.จะส่งเรื่องให้อัยการฟ้อง และหากอัยการไม่ฟ้อง ก.ล.ต.ก็สามารถเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเองได้ โดยคดีปั่นหุ้นหลายดคียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล
รวมทั้งคดีปั่นหุ้นบริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA ซึ่งก.ล.ต.ลงโทษนายอมร มีมะโน อดีตผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท พร้อมพวกรวม 40 คน ในความผิดปั่นหุ้น กำหนดให้ชำระค่าปรับประมาณ 1.7 พันล้านบาท แต่นายอมร ไม่ยอมจ่าย ก.ล.ต.จึงส่งเรื่องให้อัยการฟ้อง เรียกค่าปรับสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดจำนวน 2.3 พันล้านบาท
การทบทวนมาตรการลงโทษทางแพ่ง สำหรับความผิดร้ายแรง เช่น การปั่นหุ้นและการใช้ข้อมูลภายใน โดยอาจยกเลิกวิธีการใช้เงินเพื่อปิดคดี น่าจะเป็นสิ่งที่ดี
เพราะตั้งแต่ใช้มาตรการทางแพ่ง คดีการปั่นหุ้นหรือคดีอินไซด์หุ้นไม่ได้หมดไปจากตลาดหุ้น
แก๊งมิจฉาชีพ คนโกง หรืออาชญากรในตลาดหุ้นที่ก่อคดีปั่นหุ้นหรือใช้อินไซด์ ไม่ได้เกรงกลัวมาตรการลงโทษทางแพ่ง เพราะถ้าพลาดถูกจับได้ อย่างดีก็เสียค่าปรับ ยอมจ่าย ทุกอย่างจบ
แต่ถ้ายกเลิกมาตรการลงโทษทางแพ่ง กลับไปใช้มาตรการลงโทษทางอาญา โดยผู้กระทำผิดถูกลงโทษ ติดคุกสักรายสองราย
ปัญหาอินไซด์และการปั่นหุ้นที่เป็นวงจรอุบาทว์ในตลาดหุ้นมาเกือบ 50 ปีคงจะหมดไปหรือเกิดขึ้นน้อยเต็มที และจะทำให้ประชาชนมองภาพลักษณ์ตลาดหุ้นดีขึ้น มีความมั่นใจเข้ามาลงทุน ไม่ต้องพะวงว่าจะถูกโกง
การทบทวนมาตรการลงโทษทางแพ่งคดีปั่นหุ้นและอินไซด์เป็นแนวคิดที่ดี และน่าสนับสนุน
เพราะโทษปรับ ไม่ว่าจำนวนเงินสูงเพียงใด ไม่มีวันทำให้แก๊งปั่นหุ้นหรืออินไซเดอร์หัวหด เลิกโกงชาวบ้านได้
แต่การดำเนินคดีอาญาอย่างเฉียบขาด จับเข้าคุก จะทำให้การกวาดล้างแก๊งปั่นหุ้นและแก๊งอินไซด์สำเร็จจริงๆ เสียที