ศาล ปค.กลาง พิพากษายกฟ้องปม “ธาริต” ขอเพิกถอนมติชี้มูลร่ำรวยผิดปกติ ระบุพฤติการณ์ร้ายแรงมาก แม้คืนเงินที่ทุจริตแล้ว ก็ไม่เป็นเหตุให้ลดหย่อนโทษ คำสั่งไล่ออกจากราชการ จึงชอบด้วย กม.แล้ว
วันนี้ (9 มี.ค.) ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ฟ้องขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ชี้มูลความผิดกรณีร่ำรวยผิดปกติ และคำสั่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 3 เม.ย. 60 ที่ลงโทษไล่นายธาริตออกจากราชการ
โดยศาลฯเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากการที่ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงและพิจารณาวินิจฉัยมีมติ ว่า นายธาริต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดี DSI ร่ำรวยผิดปกติโดยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติและมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติทั้งที่อยู่ในชื่อของนายธาริต นายปิยฤกษ์ อรรถกานต์รัตน์ นายสนชัย ศรีทองกุล บริษัท ปิยธนวรรษ จำกัด และ นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ รวมมูลค่า 346,652,588.52 บาท แต่เนื่องจากทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติบางส่วนได้มีการโอน ยักย้าย แปรสภาพหรือซุกซ่อนทรัพย์สิน คงเหลือทรัพย์สินที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติที่ ป.ป.ช.มีคำสั่งอายัดไว้เป็นการชั่วคราวจำนวน 90,260687.40 บาท จึงเหลือทรัพย์สินที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติจำนวน 256,391,901.12 บาท แล้วเห็นได้ว่าพฤติการณ์แห่งการกระทำของนายธาริตมีความร้ายแรงเป็นอย่างมากแม้จะอ้างว่ารับราชการมานาน ไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสีย หรือเคยกระทำความผิดใดๆมาก่อน มีผลงานในการป้องกันปราบปรามการทุจริตและกระทำผิดในคดีสำคัญของบ้านเมืองเป็นที่ประจักษ์แก่สังคม ควรนำมาพิจารณาประกอบการกำหนดโทษตนเองด้วยนั้น ก็ไม่เป็นเหตุที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบเพื่อลดหย่อนการกำหนดโทษนายธาริตเป็นปลดออกจากราชการ
อีกทั้งก่อนที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดโทษ นายธาริต ก็ได้พิจารณาประกอบกับมติ ครม.แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร.0205/ว 234 ลงวันที่ 24 ธ.ค. 36 กำหนดแนวทางการลงโทษผู้กระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการเป็นความผิดวินัยร้ายแรงซึ่งควรลงโทษเป็นไล่ออกจากราชการ การนำเงินที่ทุจริตไปแล้วมาคืน หรือมีเหตุอันควรปรานีอื่นใด ไม่เป็นเหตุให้ลดหย่อนโทษ เป็นการปลดออกจากราชการและไม่ปรากฏว่าสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับในระหว่างการพิจารณาของศาลปรากฏว่าศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติมูลค่า341,797,811.58 บาทพร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติตามรายการ 49 รายการตกเป็นของแผ่นดิน ดังนั้นการที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้รับแจ้งจากประธานป.ป.ชแล้วมีคำสั่งสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ 47/2560 ลงวันที่ 3 เม.ย. 60 ลงโทษไล่นายธาริตออกจากราชการจึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 80 วรรคหนึ่ง(4) พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534
ส่วนที่ นายธาริต โต้แย้งว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ควรรอคำพิพากษาศาลปกครอง ศาลแพ่ง ที่ตนได้ยื่นฟ้องกรณี ป.ป.ช.ชี้มูลก่อนจะมีคำสั่งไล่ออกจากราชการ ศาลเห็นว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีรอคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลก่อนออกคำสั่งลงโทษ หรือกรณียกคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีหมายเลขดำที่ อม.209/2561 หมายเลขแดงที่ อม.258/2562 ขึ้นมาแล้วเทียบเคียงว่าการชี้มูลข้อกล่าวหาที่มาจากการไต่สวนซึ่งมีอำนาจจำกัดแต่เฉพาะการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของนายธาริตที่ได้มาในระหว่างการดำรงตำแหน่งอธิบดี DSI ตามที่ระบุไว้ในคำสั่งเท่านั้น จึงต้องถือเป็นการชี้มูลความผิดนายธาริตในขณะดำรงตำแหน่งอธิบดี DSI และถือเป็นการไต่สวนนายธาริตในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งสูงตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. 2542 นั้น ศาลเห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยถึงอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช. และกรณีที่จะต้องบังคับแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้นไม่อาจตีความคำพิพากษาดังกล่าวเช่นที่นายธาริตสรุปได้ข้อกล่าวอ้างของนายธาริตจึงไม่อาจรับฟังได้