xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.แจงเอาผิด อดีต ผอ.สำนักพุทธฯ ทุจริตเงินทอนวัดเพิ่มอีก 6 คดี เผยไตรมาสแรกปี 65 ชี้มูลแล้ว 189 เรื่อง อปท.- มท-ศธ.ถูกร้องมากสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ป.ป.ช.” เผย ชี้มูล “อดีต ผอ.สำนักพุทธ” ทุจริตเงินทอนวัดเพิ่มอีก 6 คดี - พร้อมสรุปผลงานปราบปรามทุจริตไตรมาสแรกปี 65 ชี้มูลแล้ว 189 เรื่องความเสียหาย 152.8 ล้าน พบ อปท.-มท-ศธ.โดนมากสุด ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ

วันนี้ (28 ก.พ.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. แถลงผลงานของ ป.ป.ช.ในด้านการปราบปรามการทุจริต ไตรมาสแรกปี 2565 ช่วง เดือนตุลาคม 2564 - เดือนมกราคม 2565 ว่า มีคำกล่าวหาที่เข้าสู่สำนักงาน ป.ป.ช.จำนวน 2,656 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นคำกล่าวหาประเภทหนังสือร้องเรียน จำนวน 1,494 เรื่อง เป็นหนังสือราชการ จำนวน 592 เรื่อง บัตรสนเท่ห์ จำนวน 434 เรื่อง ร้องเรียนด้วยวาจา จำนวน 61 เรื่อง คำกล่าวหาที่ไม่ปรากฏชื่อและตำแหน่งผู้ถูกร้อง จำนวน 29 เรื่อง ร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ จำนวน 21 เรื่อง เหตุอันควรสงสัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 14 เรื่อง และแจ้งเบาะแส จำนวน 11 เรื่อง

ส่วนคำกล่าวหามากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เรื่องการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จำนวน 2,031 เรื่อง จัดซื้อจัดจ้าง 393 เรื่อง และอื่นๆ เช่น ร่ำรวยผิดปกติ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและส่วนรวม ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม จำนวน 232 เรื่อง

สำหรับหน่วยงานที่ถูกกล่าวหามากที่สุดคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 655 เรื่อง รองมาเป็น กระทรวงมหาดไทย จำนวน 536 เรื่อง กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 146 เรื่อง และเป็นส่วนราชการอื่นๆ จำนวน 1,319 เรื่อง

ทั้งนี้ การไต่สวนข้อเท็จจริง มีเรื่องที่กล่าวหาค้างสะสมมาจากปี 2564 จำนวน 2,767 เรื่องและรับใหม่ในปี 2565 จำนวน 236 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 3,003 เรื่อง ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงไปแล้ว 246 เรื่องและเป้าหมายในปี 2565 จะดำเนินการให้แล้วเสร็จ 1667 เรื่อง

ส่วนที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดในปี 2565 จำนวน 189 เรื่อง แยกเป็นการชี้มูลความผิดทางอาญา 82 เรื่อง ชี้มูลความผิดทางวินัย 2 เรื่อง ชี้มูลความผิดทางวินัยและอาญา 102 เรื่อง ชี้มูลว่าร่ำรวยผิดปกติ 3 เรื่อง โดยมูลค่าความเสียหายของคดีทั้ง 189 เรื่องโดยประมาณ 152,811,052 บาท และหน่วยงานที่ถูกชี้มูลความผิดมากที่สุด คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รองลงมาคือกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และรัฐสภา

คดีสำคัญ ที่ ป.ป.ช. ชี้มูลไปแล้ว คือ คดีของ นายนริศร ทองธิราช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย กรณีเสียบบัตรแทนกันในการลงมติพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดย ป.ป.ช. มีมติชี้มูลไปตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. 64 แต่เพิ่งส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 64 ตอนนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของอัยการ ดำเนินการฟ้องต่อศาลต่อไป

กรณีกล่าวหา นายดำรงค์ พิเดช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับพวก อนุมัติโครงการ และอนุมัติเงินงบประมาณในโครงการฝึกอบรมจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระหว่างวันที่ 7-16 มิ.ย. 55 โดยมิชอบ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด

กรณีชี้มูลอาญาและวินัย นายสุรเดช อัคราช ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดมุกดาหาร ที่ 1 กับพวก กรณีทุจริตเรียก รับเงินจากผู้เสียหายเพื่อเป็นการ อำนวยความสะดวกในการคืนไม้พะยูงของกลางในคดีอาญามูลค่าความเสียหาย 2 ล้านบาท

กรณี นายสมศักดิ์ วงศ์วัฒนศานต์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าทำสัญญาฝากเก็บรักษามันเส้นนะคลัง 231 จ.สระแก้วปี 55 โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

กรณีชี้มูลอาญาและวินัย นายภุชงค์ โพธิกุฎสัย ครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กับพวกทุจริตโครงการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินปีงบประมาณ 2558 มูลค่าความเสียหาย 166,640 บาท แต่มีการคืนเงินแล้วโดยเรื่องอยู่ระหว่างเสนอ ป.ป.ช.ลงนามสำนวน

กรณีชี้มูล นายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน กรณีมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติรวมมูลค่า 52 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด

นอกจากนี้ ยังมีการชี้มูลความผิดข้าราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในคดีทุจริตการเบิกงบประมาณอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาหรือ คดีเงินทอนวัด เพิ่มอีกจำนวน 6 วัด รวมมูลค่า 39 ล้านบาท

แบ่งเป็นการชี้มูล นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนากับพวก ทุจริตเงินทอน วัดชุมนุมพระ ตำบลหนองฝ้าย จ.กาญจนบุรี วัดดอนชัย ต.สันปูเลย จ.เชียงใหม่ วัดพระศรีเจริญ ต.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ วัดหันสัง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด ในการดำเนินการสั่งฟ้องต่อศาลต่อไป นอกจากนี้ ยังมีวัดราษฎร์บุรณะ ต.ท่ามะพลา จ.ชุมพร ที่อยู่ระหว่างเตรียมจัดส่งสำเนาให้อัยการสูงสุดซึ่งจะส่งในวันที่ 4 มี.ค. 65 เนื่องจาก ป.ป.ช.ชี้มูลไปเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 64

และชี้มูลความผิด นายพนม ศรศิลป์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา กรณีเงินทอนวัด อีก 1 คดี คือ วัดญาณเมธี ต.ดงขุย จ.เพชรบูรณ์ 2558 ซึ่งเรื่องนี้ส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 65 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุดว่าจะดำเนินการสั่งฟ้องต่อศาล

อย่างไรก็ตาม ผลคำพิพากษาของศาลตามที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาตั้งแต่เดือนตุลาคม 60 จนถึงปัจจุบันพบว่า กรณีอัยการสูงสุดฟ้องคดีอาญา ศาลชั้นต้นจำนวน 128 เรื่องลงโทษ จำนวน 121 เรื่องยกฟ้อง จำนวน 7 เรื่อง ศาลอุทธรณ์ จำนวน 59 เรื่อง ลงโทษจำนวน 52 เรื่อง ยกฟ้อง จำนวน 7 เรื่อง กรณี ป.ป.ช. มีมติให้ฟ้องคดีเอง จำนวน 2 เรื่อง ศาลชั้นต้น ลงโทษ จำนวน 2 เรื่อง

นายนิวัติไชย ยังกล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบการทุจริตโครงการเสาไฟกินรี จ.สมุทรปราการ ว่า ทราบว่า ภายในเดือนมีนาคม จะมีการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งคดีนี้มีการแยกสำนวนไปตามปีงบประมาณหลังมีการแจ้งข้อกล่าวหา และให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแล้ว คงใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก็จะมีการสรุปแล้วเสร็จซึ่งก็จะพยายามเร่งรัด

ส่วนคดีทุจริตการจัดซื้อถุงมือยางขององค์การคลังสินค้าขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปสำนวนหลังแจ้งข้อกล่าวหาคาดว่าไม่เกิน 2 เดือนนี้จะสรุปได้






กำลังโหลดความคิดเห็น