xs
xsm
sm
md
lg

สาวกคริปโตฯ เบาใจ! เครื่องมือโกงเบอร์ 1 ยังเป็น “เงินเฟียต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ พบเงินเฟียตยังคงเป็นทางเลือกอันดับหนึ่งของเหล่าอาชญากรทางการเงิน ไม่ใช่คริปโตฯ อย่างที่กังวลกัน
คนส่วนใหญ่มักกังวลว่า วายร้ายมักใช้สินทรัพย์คริปโตฯ เป็นเครื่องมือฉ้อโกง อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เพิ่งเปิดเผยรายงานชิ้นใหม่ที่ระบุว่า เงินเฟียตยังคงเป็นทางเลือกอันดับหนึ่งของเหล่าอาชญากรทางการเงิน ไม่ใช่สกุลเงินเสมือนอย่างที่วิตกกัน

ต้นเดือนนี้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้เปิดเผยรายงานว่าด้วยการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินเพื่อแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และการสนับสนุนทางการเงินแก่เครือข่ายก่อการร้ายที่ใช้เวลารวบรวบข้อมูลนานถึง 3 ปี ซึ่งพบว่า เงินเฟียต หรือเงินกระดาษยังคงเป็นทางเลือกที่เหล่าอาชญากรใช้มากที่สุด

รายงานของกระทรวงการคลังครอบคลุมการหารืออย่างละเอียดเกี่ยวกับสกุลเงินเสมือน ซึ่งระบุว่า ทั้งฐานผู้ใช้และมูลค่าตลาดของคริปโตฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ทำการประเมินความเสี่ยงครั้งที่แล้วเมื่อปี 2020

อย่างไรก็ตาม รายงานพบว่า อาชญากรรมที่ดำเนินการผ่านเงินกระดาษและเครือข่ายดั้งเดิมยังคงมีปริมาณมากกว่าอาชญากรรมจากคริปโตฯ ตัวอย่างเช่น การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการฟอกเงินยังพบได้น้อยมากเมื่อเทียบกับเงินสด หรือช่องทางดั้งเดิมอื่นๆ

กระนั้น รายงานการประเมินความเสี่ยงด้านการฟอกเงินแห่งชาติตั้งข้อสังเกตว่า “สินทรัพย์เสมือน” เป็นส่วนที่มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องภายในคลังแสงที่เหล่านักฟอกเงินใช้ในการปกปิดสถานะการเงินของตนเอง โดย DeFi และเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมการปกปิดตัวตนอาจเป็นผู้ร้ายสำคัญ

ยกตัวอย่างเช่นในช่วงวิกฤตโรคระบาดนั้นจะเห็นได้ว่า มีการใช้สินทรัพย์เสมือนในการโจมตีด้วยฟิชชิ่งและซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ในวงกว้างขึ้นอย่างชัดเจน เช่น คนร้ายอาจพยายามทำกำไรจากตลาดคริปโตฯ ที่คาดเดายากด้วยการหลอกให้เหยื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือส่งไวรัสโจมตีอุปกรณ์ของผู้ที่ตกเป็นเป้าหมาย จากนั้นจึงเรียกร้องให้จ่ายด้วยคริปโตฯ

นอกจากนั้น ในรายงานอาชญากรรมคริปโตฯ ของเชนาไลซิส อาชญากรจำนวนมากยังใช้โบรกเกอร์ที่ทำการซื้อขายนอกตลาดในการฟอกคริปโตฯ

โบรกเกอร์เหล่านั้นคือบุคคลหรือธุรกิจที่ช่วยจัดการธุรกรรมระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายที่ไม่ต้องการ (หรือไม่สามารถ) ทำธุรกิจในตลาดคริปโตฯ ด้วยตนเอง

ขณะเดียวกัน รายงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า การฟอกเงินสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกถึงปีละ 800,000 ล้านดอลลาร์ ถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2-3% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของโลก ซ้ำร้ายเกือบ 90% ของการฟอกเงินในขณะนี้ยังไม่สามารถติดตามตรวจสอบได้

ทั้งนี้ แม้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอาจนำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นที่ช่วยให้อาชญากรแอบเคลื่อนย้ายเงินสกปรกของตัวเองแนบเนียนขึ้น แต่ขณะเดียวกัน หน่วยงานรัฐบาลและบริษัทฟินเทคได้ใช้เทคโนโลยีเหนือชั้นในการระบุลักษณะของธุรกิจและช่วยเปิดโปงคดีฉ้อโกงมาแล้วมากมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น