xs
xsm
sm
md
lg

กรุงศรี คอนซูมเมอร์เปิด 3 กลยุทธ์ปี 65 เร่งขับเคลื่อนดิจิทัล ตั้งเป้าใช้จ่ายผ่านบัตรโต 10%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เผยผลประกอบการปี 2564 เติบโตเป็นที่น่าพอใจ ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร 285,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 76,500 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 139,900 ล้านบาท อันเป็นผลจากการบริหารค่าใช้จ่าย พร้อมใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ควบคู่กับการรักษาคุณภาพสินเชื่อและช่วยเหลือลูกค้า ประกาศกลยุทธ์ปี 2565 พร้อมก้าวสู่โลกการเงินยุคใหม่ มุ่งใช้ระบบดิจิทัลและข้อมูลในการทำธุรกิจสำหรับอนาคต ยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการ พัฒนาศักยภาพองค์กร พร้อมจับมือพันธมิตรสร้างความเติบโต ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตร 312,300 ล้านบาท ภายในปี 2565

น ส.ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์
ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อันประกอบไปด้วย บัตรเครดิตกรุงศรี บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิตโลตัส กล่าวว่า ผลประกอบการของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในปี 2564 ยังคงเติบโตเป็นที่น่าพอใจ แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 285,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 76,500 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 139,900 ล้านบาท อันเป็นผลจากการบริหารค่าใช้จ่าย พร้อมใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ควบคู่กับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ด้วยการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม และช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ อยู่ที่ระดับ 1.1% สำหรับบัตรเครดิต และ 2.8% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระ ซึ่งนับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในธุรกิจ

โดยหมวดใช้จ่ายผ่านบัตรสูงสุดเรียงตามยอดใช้จ่าย ได้แก่ 1.ประกันภัย 2.ชอปปิ้งออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ 3.ไฮเปอร์มาร์ทและซูเปอร์มาร์เกต 4. ตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ในครัวเรือน 5. ปั๊มน้ำมัน ส่วนหมวดใช้จ่ายที่มีอัตราเติบโตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ชอปปิ้งออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (+55%) 2.ไอทีและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (+12%) 3.ปั๊มน้ำมัน (+11%) 4.ประกันภัย (+9%) และ 5.ตกแต่งบ้านและของใช้ในครัวเรือน (+8%) ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ยอดการชอปปิ้งผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มยังคงเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเพิ่มสูงขึ้นถึง 55% เทียบกับปี 2563 ขณะที่ยอดใช้จ่ายในห้างสรรพสินค้ายังคงทรงตัว แต่ที่น่าสนใจคือ ยอดใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ของหมวดห้างสรรพสินค้าเติบโตถึง 62% แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการปรับตัวของทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากขึ้น มีการปรับรูปแบบเป็นการขายของแบบออมนิแชนเนล คือ ทั้งออนไลน์ และหน้าร้าน

สำหรับในปี 2565 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอลงบ้างจากการระบาดของไวรัสโอมิครอน รวมทั้งสภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยหนุนจากมาตรการพยุงกำลังซื้อประชาชน และกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อในปีนี้คาดว่าการแข่งขันจะสูงขึ้น รวมไปถึงจะเห็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินกับธุรกิจต่างๆ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ มากขึ้น และผู้ประกอบการมีแนวโน้มจะนำเอาระบบดิจิทัลและข้อมูลมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตในรูปแบบดิจิทัล หรือการขอสินเชื่อแบบดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปิดรับเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในฐานะผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ได้เตรียมปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ เพื่อพัฒนาศักยภาพองค์กรให้พร้อมก้าวสู่โลกการเงินยุคใหม่ โดยได้วางกลยุทธ์หลัก 3 ประการ ได้แก่
1.การใช้ระบบดิจิทัลและข้อมูลในการทำธุรกิจสำหรับอนาคต โดยมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล ผ่านการขยายแพลตฟอร์มข้อมูล และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินและบริการใหม่ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล ทั้งการพัฒนาบัตรเครดิตดิจิทัลใหม่ๆ ที่มีจุดเด่นหลากหลาย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง ซึ่งจะทยอยเปิดตัวภายในปีนี้ รวมถึงบริการใหม่ๆ เช่น การปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล โดยกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทย และคาดว่าจะเริ่มให้บริการในครึ่งปีหลังของปี 2565 พร้อมอำนวยความสะดวกให้ลูกค้ายิ่งขึ้น โดยพัฒนาบริการใหม่ เช่น การขยายจุดรับบริการยืนยันตัวตนในการสมัครบัตรในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ การพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ในแอป UCHOOSE เช่น บริการสมัครบัตรใหม่ผ่านแอป บริการ UCASH บริการเบิกเงินสดจากวงเงินบัตรผ่านแอปโดยโอนเข้าบัญชีธนาคาร บริการผ่อนก่อนจ่ายทีหลัง (BNPL - Buy Now Pay Later) ผ่านแอป ซึ่งสามารถขอทำรายการผ่อนชำระสินค้าด้วยตนเอง รวมถึงการนำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกมาใช้ในการทำการตลาดเฉพาะบุคคล เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และโปรโมชันที่ตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น

2.การสร้างความเติบโตโดยผสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรี และพันธมิตรชั้นนำทางธุรกิจ รวมทั้งการขยายธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยสู่ภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการทำงานแบบ Krungsri One Retail ซึ่งจะผสานความร่วมมือระหว่างหลายกลุ่มธุรกิจในเครือกรุงศรี โดยมุ่งเน้นความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ข้อมูล ผลิตภัณฑ์ และช่องทางการขาย โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในธุรกิจ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ บริการ และโปรโมชันที่ดียิ่งขึ้นให้ลูกค้า พร้อมกับการปรับโมเดลธุรกิจเพื่อแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เช่น นำเสนอบริการ ‘Call Center as a Service’ ‘Collection as a Service’ เพื่อให้บริการกับพันธมิตร เป็นต้น รวมทั้งขยายธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยสู่ภูมิภาคอาเซียน เช่น ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยผสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรีในภูมิภาค

3.การพัฒนาศักยภาพองค์กร โดยเฉพาะการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ก้าวทันโลกธุรกิจยุคใหม่ พร้อมสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานแบบยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่โลกการเงินแห่งอนาคต

น.ส.ณญาณี กล่าวอีกว่า กลยุทธ์ทั้ง 3 ประการนี้ เป็นไปเพื่อเสริมศักยภาพของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ให้สอดรับกับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจในโลกยุคใหม่ รวมถึงความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจการเงินไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปี 2565 กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตร 312,300 ล้านบาท หรือเติบโต 10% ยอดสินเชื่อใหม่ 84,600 ล้านบาท เติบโต 11% ยอดสินเชื่อคงค้าง 149,600 ล้านบาท เติบโต 7% และมียอดบัตรใหม่ 500,000 บัญชี จากปีก่อนที่ประมาณ 300,000 บัตร โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ยอดใช้ผ่านบัตรเครดิตเริ่มกลับมาเติบโตได้ประมาณ 12.3% ขณะที่สินเชื่อบุคคลเติบโตได้ประมาณ 8.3% และยังมีแนวทางที่ดูแลช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคงต้องรอดูว่าเมื่อครบกำหนดการผ่อนเกณฑ์ในสิ้นปีนี้แล้ว สถานการณ์จะเป็นอย่างไร จะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรุงศรีคอนซูมเมอร์ยังคงเกณฑ์การอนุมัติไว้ในระดับเดิม แม้จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแล้วก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่เข้าไปสู่จุดเดิม และยังมีเหตุการณ์ใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นต้น ขณะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงจึงยังต้องมีความระมัดระวังอยู่ ขณะที่ดิจิทัล เลนดิ้งนั้น น่าจะช่วยทำให้เราเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เดิมไม่สามารถเข้าระบบสถาบันการเงินได้มากขึ้น โดยคาดว่าจะเปิดตัวได้ในช่วงกลางปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น