xs
xsm
sm
md
lg

รวมสารพัดปัจจัยลบฉุดอสังหาฯ ปี 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้านเข้ามากระทบอย่างหนัก โดยมีปัจจัยลบหลักๆ ที่ส่งผลให้เกิดผลกระทบด้านลบเป็นลูกโซ่ คือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งยังคงต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันนี้ อย่างไรก็ตาม หลังการทยอยรับวัคซีนของประชาชนในประเทศอย่างต่อเนื่องจนทำให้จำนวนผู้ได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 มีสัดส่วนมากกว่า 60% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้น สถานการณ์ที่เป็นบวกนี้ทำให้บริษัทอสังหาฯ มีความหวัง และเชื่อมั่นมากขึ้นว่า ในปี 2565 นี้ตลาดอสัหาฯ จะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

ขณะเดียวกัน ปัจจัยบวกอีกหลายตัว เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งช่วยให้กำลังซื้อผู้บริโภคฟื้นตัวได้ดีขึ้น การยืดอายุมาตรการลดค่าการจดทะเบียนการโอนอสังหาฯ จาก 2% และค่าจดทะเบียนจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของตลาดอสังหาฯ และสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ช่วยเหลือให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องและผู้ประกอบการกลับมาประกอบธุรกิจได้เร็วขึ้น รวมถึงการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ  LTV) เป็นการชั่วคราว จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

จากเดิมที่กำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เป็น 100% (กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน) สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (รวมสินเชื่ออื่นนอกเหนือจากเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และมีที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลักประกันหรือสินเชื่อ Top-up แล้ว) ทั้งกรณี (1) มูลค่าหลักประกันต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป และ (2) กรณีมูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1 เป็นต้นไป ทั้งนี้ การผ่อนคลายดังกล่าวเป็นการผ่อนชั่วคราว สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.64 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.65


ขณะที่ปัจจัยบวกซึ่งเป็นความหวังของผู้ประกอบการอสังหาฯ มากที่สุดคือการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาฯ จำนวนมากยังมีสต๊อกสินค้ารอโอนจากกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ดังนั้น การเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในช่วงปลายปีจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นและมีการขยายการลงทุนโครงการใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาฯ อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยบวกที่เป็นเหมือนสัญญาณดีหลายอย่างมีผลให้ผู้ประกอบการเริ่มขยับเปิดขายโครงการที่อยู่อาศัยใหม่มากขึ้น โดยในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2564 เห็นได้ชัดเจนเลยว่า ผู้ประกอบการบางรายมีการประกาศเปิดขายโครงการใหม่ โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมที่เริ่มเห็นว่ามีการเปิดขายโครงการใหม่มากขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/2564 แล้ว ในขณะที่โครงการบ้านจัดสรรยังคงเป็นประเภทโครงการที่อยู่อาศัยที่ผู้ประกอบการเลือกเปิดขายในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัจจัยหรือสัญญาณบวกที่มีให้เห็นและผู้ประกอบการคาดหวังว่าจะมีผลให้ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นคือ

1.จำนวนคนฉีดวัคซีนในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยคิดเป็นสัดส่วนมากว่า 70-80% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ 2.จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่ลดลงต่อเนื่องแม้ว่าจะยังมีจำนวนสูงอยู่ก็ตาม 3.การปลดล็อกดาวน์ของหลายธุรกิจและกิจกรรมช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศที่มากขึ้น 4.การเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติจาก 63 ประเทศที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดสามารถเข้าประเทศไทยได้โดยที่ไม่ต้องกักตัว 5.การปลดล็อก LTV สำหรับบ้านหลังที่สองกระตุ้นกำลังซื้อในกลุ่มที่มีความพร้อม 6.กิจกรรมทางการตลาดหรือกิจกรรมที่ต้องจัดให้คนจำนวนมากเข้าร่วมสามารถกลับมาทำได้อีกครั้งภายใต้มาตรการป้องกัน

ปัจจัยบวกหรือสัญญาณดีๆ ทั้ง 6 ปัจจัยนี้มีผลให้ผู้ประกอบการคาดหวังว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเริ่มมีทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น โดยเฉพาะในปี 2565 ซึ่งหลายฝ่ายแสดงความมั่นใจว่าเศรษฐกิจในปี 2565 จะดีกว่าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาแน่นอน การมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในหลายเมืองท่องเที่ยวนับเป็นสัญญาณที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยที่พึ่งพากำลังซื้อจากต่างชาติแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะยังน้อยมากเมื่อเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 แต่ยังดีกว่าไม่มีเลย เพราะต้องให้เวลาในการตัดสินใจเดินทางเข้ามาในประเทศไทยของชาวต่างชาติด้วย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเปิดรับนอกท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศในช่วง 3 เดือนแรกนับตั้งแต่เปิดประเทศ (1 พ.ย.2564) ตามนโยบายของรัฐบาลที่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภท Test& Go ก่อนจะมีการปิดระบบลงทะเบียนTest & Go เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.2564-31ม.ค.2565 เพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน พบว่า ณ เดือน ธ.ค.2564 มีผู้เดินทางจริงเข้าประเทศรวม 290,617 คน

“การมาของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีผลให้รัฐบาลปิดระบบรับลงทะเบียน Test& Go ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินั้น เรียกได้ว่าเป็นการปิดตัวลงของปัจจัยบวกที่จะเปิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา เพราะนับจากเกิดการระบาดของสายพันธุ์โอมิคอรนในประเทศไทยปัจจัยลบต่างๆ ก็ทยอยผุดขึ้นมาอย่างไม่ขาดสาย”


เริ่มที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่กลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่แนวโน้มของดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นมีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค โดยในปี 2565 มีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงกดดันจากการปรับเพิ่มของอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศที่สูงขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา และจะยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ อัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยต้องมีการปรับเพิ่มขึ้นเพื่อไม่ให้แตกต่างกับอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศมากเกินไป

ดังนั้น ต้นทุนในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนในประเทศจะมากขึ้น ทั้งจากเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นค่อนข้างแน่นอนในปีนี้ ส่วนจะปรับขึ้นมากน้อยเท่าใดต้องติดตามต่อไปแต่มีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นไปถึง 1% แต่เป็นการทยอยปรับทีละไตรมาสไปเรื่อยๆ เรื่องของราคาวัสดุก่อสร้างและต้นทุนในการก่อสร้างที่สูงขึ้นที่ชัดเจนมาตั้งแต่ปีที่แล้วว่ามีการปรับเพิ่มขึ้นในหลายส่วน ปัจจัยลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ล้วนแต่ส่งผลต่อกำลังซื้อคนไทยให้ปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้บริโภคหลายกลุ่มยังคงมีรายได้ลดลงในหลาย อาชีพ หรือในหลายธุรกิจ ขณะที่เรื่องของหนี้ครัวเรือนมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการขาดรายได้ในช่วงโควิด-19 และเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้มีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเพราะเป็นการสร้างภาระหนี้สินในระยะยาวแบบชัดเจน

สุรเชษฐ กองชีพ
ล่าสุด ปัจจัยลบที่ทวีความรุนแรงขึ้นอีก 2 ตัวคือ ปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงต่อเนื่อง และปัญหาความขัดแย้งระหว่าง รัสเซียและยูเครน ซึ่งก่อตัวเป็นสงครามในขณะนี้ โดย นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวว่า ขณะที่เศรษฐกิจประเทศไทยชะลอตัวรุนแรงเพราะผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยผลกระทบเกิดขึ้นกับคนไทยทุกระดับชั้นและมีคนจำนวนไม่น้อยที่รายได้ลดลง หรือว่าไม่มีรายได้เลยจากการตกงาน หรือกิจการปิดตัวลง ซึ่งการที่คนไทยมีรายได้ลดลง ประกอบกับยังไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะยาวมีผลให้ความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของคนไทยลดลงเป็นอย่างมาก คนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะชะลอการซื้อของหรือจับจ่ายสินค้า รวมไปถึงการออกนอกบ้านลดลงกว่าก่อนหน้านี้ เพราะความกังวลต่อการติดโควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะมีทิศทางที่ดีขึ้นในปี 2565 แต่ยังคงต้องติดตามต่อเนื่อง แล้วมาเจอเรื่องของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งมีผลกระทบไปในหลายเรื่องซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด-19

สิ่งที่มีผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนแล้ว คือ เรื่องของราคาน้ำทันที่ปรับเพิ่มขึ้นไปมากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลไปแล้วในตอนนี้ และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันมีผลโดยตรงต่ออีกหลายปัจจัย เช่น ค่าขนส่งสินค้าที่ต้องเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปยังสินค้าต่างๆ และจะซ้ำเติมกับสถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นมาตลอดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะมีผลมากน้อยเท่าใด ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของปัญหา และผลสุดท้ายของปัญหาว่าจะร้ายแรงเพียงใด

ปัญหาเรื่องของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังมีผลกระทบทางอ้อมกับเรื่องอื่นอีก นอกจากเรื่องของราคาน้ำมันแล้ว เรื่องเศรษฐกิจที่จะมีผลต่ออีกหลายประเทศในยุโรปไม่ใช่เฉพาะประเทศคู่ขัดแย้ง หรือรัสเซียเท่านั้น เพราะการคว่ำบาตรไม่ซื้อสินค้ารัสเซียมีผลให้ประเทศในทวีปยุโรปต้องซื้อสินค้าที่นำเข้าจากประเทศอื่นในราคาที่สูงขึ้น เพราะระยะทางในการขนส่งที่ยาวนานมากขึ้น อีกทั้งราคาน้ำมันสูงขึ้น การประกาศเขตห้ามบินของรัสเซียมีผลให้การบินจากทวีปยุโรปไม่สามารถบินผ่านรัสเซียเพื่อมาทวีปเอเชียได้ซึ่งการเปลี่ยนเส้นทางการบินมีผลต่อระยะเวลาในการบินที่นานขึ้น ค่าน้ำมันที่ต้องจ่ายมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วมีผลต่อค่าโดยสารที่ต้องแพงขึ้น และจะมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวในเอเชีย รวมไปถึงประเทศไทยเรื่องที่มีผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยว และการค้าคือ การตัดรัสเซียออกจากระบบการเงินโลก (SWIFT) ซึ่งมีผลโดยตรงต่อคนรัสเซียที่อยู่นอกประเทศทั้งที่ออกมาทำธุรกิจหรือท่องเที่ยว เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต หรือทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวกแบบก่อนหน้านี้ และมีผลกระทบแน่นอนต่อธุรกิจการท่องเที่ยวไทย

เรื่องของการส่งออกสินค้าไปรัสเซียอาจจะไม่มีผลกระทบมากเท่าใดเนื่องจากประเทศไทยส่งออกสินค้าไปรัสเซียเพียง 0.4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด แต่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าจากรัสเซียมากกว่าเนื่องจากสินค้าหลายอย่างที่ผลิตในประเทศไทยเพื่อส่งออกไปต่างประเทศต้องการวัตถุดิบจากรัสเซีย เมื่อเกิดการคว่ำบาตรทางการค้าประเทศไทยไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบเหล่านี้จากรัสเซียได้

สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในรัสเซีย นอกจากจะเป็นเรื่องของระบบการเงิน การธนาคาร อีกเรื่องที่ชัดเจน คือ ค่าเงินรูเบิลรัสเซียที่ลดลงซึ่งมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายหรือการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของพวกเขาแน่นอนถ้าค่าเงินรูเบิลยังลดลงแบบนี้แม้ว่าตอนนี้อาจจะลดลงไปประมาณ 26% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2564 ยังคงไม่เทียบเท่าตอนหลายปีก่อนหน้านี้ที่ค่าเงินรูเบิลลดหายไปกว่า 40% ซึ่งมีผลให้นักท่องเที่ยวรัสเซียหายไปจากประเทศไทย และมีผลต่อเนื่องไปยังตลาดคอนโดมิเนียมในพัทยาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่านักท่องเที่ยวรัสเซียจะกลับมาในประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านคนเทียบเท่าก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม แต่ความขัดแย้งรอบนี้คงมีผลกระทบที่รุนแรงกว่าครั้งที่แล้ว เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีใครคาดการณ์บทสรุปได้


ผลกระทบจากความขัดแย้งเรื่องนี้ยังคงไม่ได้ขึ้นสู่จุดสูงสุด เนื่องจากบทสรุปสุดท้ายของเรื่องนี้ยังไม่มีใครตอบได้ว่าจะจบเมื่อใดหรือมีความรุนแรงถึงขั้นใด แต่ถ้าความขัดแย้งต่อเนื่องยาวนานจะมีผลให้เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบ เพราะรัสเซียเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อตลาดน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ รวมไปถึงวัตถุดิบสำคัญในการผลิตชิปเซ็ตคอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งการตัดรัสเซียออกจากระบบการเงินการธนาคารโลกมีผลต่อหนี้สิน หรือการชำระสินค้า บริการต่างๆ ของคนหรือบริษัทในรัสเซียที่มีต่อคนทั้งโลก ซึ่งสุดท้ายแล้วจะกระทบต่อเจ้าหนี้หรือเจ้าของธุรกิจที่เป็นคู่ค้าของรัสเซียตามมา ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลด้านลบต่อทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจ และแน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบต่อกำลังซื้อและการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นการก่อหนี้ระยะยาวของผู้บริโภคในปีนี้อย่างแน่นอน

“อนึ่ง ปัจจัยลบที่ทยอยก่อตัวขึ้นในช่วงต้นปีนี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่คาดฝันสำหรับผู้ประกอบการอสังหาฯ โดยเฉพาะปัจจัยลบที่เกิดจากผลกระทบส่งครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งทุกฝ่ายต่างหวังว่าปัญหานี้จะสามารถคลี่คลายได้ในเร็ววัน ซึ่งจะส่งผลให้ปัจจัยลบจากสงครามที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัจจัยบวกที่มีต่อเศรษฐกิจทั่วโลกในทันที
นอกจากปัจจัยบวกที่จะเกิดจากการคลี่คลายของสงครามที่เกิดขึ้นแล้ว ปัจจัยบวกที่หลายคนหวังจะได้เห็นในปีนี้คือ การกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของรัฐบาลอีกรอบ”

นายสุรเชษฐ กล่าวว่า เศรษฐกิจประเทศไทยยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 เพราะธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศไทยยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ นักท่องเที่ยวต่างชาติยังกลับเข้ามาในประเทศไทยไม่เทียบเท่าจำนวนในอดีต ซึ่งมีผลให้ธุรกิจการท่องเที่ยวรวมไปถึงธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังคงไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เทียบเท่าในอดีต ซึ่งแน่นอนว่ามีผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่นๆ และคนอีกจำนวนมากที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว แม้ว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าของประเทศไทยไปต่างประเทศจะขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาโดยตลอด แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้จากการท่องเที่ยวที่ขาดหายไป


ท่ามกลางสารพัดปัจจัยลบที่เกิดขึ้นในตลาดอสังหาฯ สัญญาณบวกกำลังจะกลับมาอีกครั้งเมื่อกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เสนอให้ ศบค.ยกเลิกการระงับการลงทะเบียนเข้าไทยชั่วคราวสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยในแบบ Test & Goในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)วันที่ 20 มกราคม 2565โดยล่าสุด ที่ประชุม ศบค.ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 มีการพิจารณาเรื่องการปรับมาตรการเข้าราชอาณาจักรเพื่อเพิ่มช่องทางประเภท Test & Go (เทสต์แอนด์โก) ทางบก

โดยมีจังหวัดนำร่อง คือ หนองคาย อุดรธานี และสงขลา รวมทั้ง Test & Go ทางน้ำเฉพาะเรือยอชต์ในระยะแรกนี้ก่อน ขณะเดียวกัน ได้ขอให้พิจารณา Test &Go ยกเลิกการจองที่พักและตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 ของการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยปรับใช้เป็นการมอบ Self ATK ใช้ตรวจในวันที่ 5 หรือเมื่อมีอาการและให้รายงานผลในแอปพลิเคชันหมอชนะ

ทั้งนี้ รายงานข่าวจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการท่องเที่ยวและกีฬา (ศปก.กก.) ระบุว่า หลังจากรัฐบาลกลับมาเปิดระบบลงทะเบียนรับนักท่องเที่ยวประเภท Test& Go รอบใหม่ ซึ่งเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศเริ่มเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา จากการเก็บสถิติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่ามีจำนวนผู้เดินทางจริงเข้าราชอาณาจักรทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1-22 ก.พ.2565 สะสมที่ 151,578 คน

สัญญาณการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งนั้นถือว่าเป็นปัจจัยบวกเพียงหนึ่งเดียวในขณะนี้ เพราะหากนักท่องเที่ยวกลับมามากขึ้นแน่นอนว่าจะส่งผลดีต่อตลาดอสังหาฯ โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามา และจะดีมาก หากประเทศจีนเปิดให้ประชาชนชาวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้เช่นเคย เพราะกลุ่มคนจีนเป็นกลุ่มลูกค้าต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น