กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.40-33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 32.52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังซื้อขายผันผวนในกรอบ 32.09-32.62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินแตะจุดสูงสุดในรอบ 19 เดือน ขณะที่เงินรูเบิลของรัสเซียร่วงลงแตะสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน ส่งผลให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ทางด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่ต่อรัสเซีย ทั้งนี้ การซื้อขายในตลาดการเงินทั่วโลก เช่น หุ้น และพันธบัตรเหวี่ยงตัวอย่างรุนแรง ขณะที่ราคาน้ำมันดิบและทองคำ แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี และ 16 เดือน ตามลำดับ ก่อนจะดิ่งลงท้ายสัปดาห์ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 3,872 ล้านบาท และ 2,043 ล้านบาท ตามลำดับ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะยังติดตามกระแสข่าวที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความตึงเครียดในยูเครนอย่างใกล้ชิด โดยชาติตะวันตกยกระดับใช้มาตรการทางการเงินกดดันรัสเซีย แม้จะกระทบเศรษฐกิจยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ผู้นำรัสเซียสั่งกองกำลังนิวเคลียร์เตรียมความพร้อมขั้นสูงสุด
ทั้งนี้ หากสถานการณ์บานปลายไปสู่การสู้รบนอกยูเครน เงินดอลลาร์จะได้แรงหนุนในฐานะแหล่งพักเงินที่ปลอดภัย อย่างไรก็ดี กรณีความขัดแย้งถูกจำกัดวงและมีการเข้าสู่โต๊ะเจรจาอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่าตลาดจะกลับมาซื้อขายบนการคาดการณ์ทิศทางเงินเฟ้อและการคุมเข้มนโยบายของธนาคารกลางชั้นนำ โดยประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะแถลงต่อสภาในวันที่ 2-3 มีนาคม ซึ่งคาดว่าจะส่งสัญญาณเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมตามแผนเดิม ขณะที่ความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายบ่งชี้ว่าภัยสงครามจะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์และเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ส่วนการเปิดเผยข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐฯ กรุงศรีคาดว่าอัตราการมีส่วนร่วมของแรงงาน (Labor Force Participation) จะมีความสำคัญต่อมุมมองเงินเฟ้อที่เกิดจากค่าจ้างและการคุมเข้มนโยบายของเฟดในระยะถัดไป
สำหรับปัจจัยในประเทศ ผลกระทบทางตรงจากความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างจำกัด โดยรัสเซียและยูเครนมีสัดส่วนน้อยกว่า 0.5% ของยอดส่งออกทั้งหมดของไทย อย่างไรก็ตาม การพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน และความไม่แน่นอนของสถานการณ์จะสร้างความผันผวนให้สินทรัพย์สกุลเงินบาทอย่างต่อเนื่อง