xs
xsm
sm
md
lg

สั่นสะเทือนการเงินทั่วโลก!! สหรัฐฯ-อียู-อังกฤษตกลงแซงก์ชันธนาคารกลางรัสเซีย, ตัดขาดมอสโกจากระบบ SWIFT

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้ประท้วงรายหนึ่งถือแผ่นป้ายเขียนข้อความให้ตัดขาดรัสเซียจาก SWIFT (ระบบสื่อสารโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างประเทศ) ระหว่างการชุมนุมคัดค้านรัสเซียบุกยูเครน เมื่อวันเสาร์ (26 ก.พ.) ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ทางภาคตะวันตกของเยอรมนี
สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร ตกลงกันในวันเสาร์ (26 ก.พ.) จะใช้มาตรการแซงก์ชันตอบโต้การที่รัสเซียรุกรานยูเครน ชนิดที่มุ่งทำให้ภาคการเงินของแดนหมีขาวกลายเป็นอัมพาต โดยรวมถึงการปิดกั้นไม่ให้มอสโกสามารถเข้าถึงระบบการเงินระดับโลกได้ นอกจากนั้น ยังจะเป็นครั้งแรกที่มุ่งเล่นงานธนาคารกลางของรัสเซียด้วย

มาตรการเหล่านี้ทั้ง 3 ฝ่ายร่วมกันประกาศออกมา โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการแซงก์ชันทางการเงินรอบใหม่ ซึ่งมุ่งที่จะ “ทำให้รัสเซียต้องรับความผิด และสร้างความมั่นใจร่วมกันขึ้นมาว่า สงครามครั้งนี้จะเป็นความล้มเหลวทางยุทธศาสตร์สำหรับ (ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์) ปูติน”

ในการเล่นงานธนาคารกลางของรัสเซียนั้น พุ่งเป้าไปที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนมากกว่า 600,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งเครมลินมีอยู่ เพื่อมุ่งจำกัดความสามารถของรัสเซียในการสนับสนุนสกุลเงินรูเบิลของตน ในเวลาที่รัสเซียต้องเผชิญการแซงก์ชันที่บีบคั้นมากขึ้นเรื่อยๆ ของฝ่ายตะวันตก

มาตรการแซงก์ชันต่างๆ ที่ฝ่ายตะวันตกประกาศออกมา นับตั้งแต่ที่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครน เมื่อรวมๆ กันแล้วน่าจะอยู่ในระดับการแซงก์ชันอย่างสุดโหดที่สุดเท่าที่ประเทศใดๆ เคยเจอกันมาในโลกสมัยใหม่ และน่าจะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้แก่เศรษฐกิจรัสเซีย โดยเฉพาะจากการมุ่งจำกัดบีบรัดความสามารถของแดนหมีขาวในการนำเข้าและส่งออกสินค้า

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บอกว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมาในวันเสาร์ (26) จัดวางกันให้อยู่ในกรอบที่จะทำให้ค่าเงินรูเบิลเข้าสู่ภาวะของ “การหล่นลงมาอย่างไม่มีหูรูด” และกระตุ้นให้เกิดอัตราเงินเฟ้อพุ่งลิ่วๆ ในเศรษฐกิจของรัสเซีย เจ้าหน้าที่เหล่านี้ชี้ด้วยว่า การแซงก์ชันส่วนที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ส่งผลกระทบต่อรัสเซียอยู่แล้ว โดยทำให้ค่าเงินรูเบิลดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อแลกกับดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งทำให้ตลาดหุ้นแดนหมีขาวประสบกับสัปดาห์เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีบันทึกกันไว้

ในมาตรการที่ตกลงกันในวันเสาร์ (26) ยังรวมถึงการตัดแบงก์รัสเซียรายสำคัญๆ ออกจากระบบสื่อสารโทรคมนาคมทางการเงิน “SWIFT” ซึ่งแต่ละวันเป็นตัวเคลื่อนย้ายเงินดอลลาร์มูลค่ารวมหลายล้านล้านดอลลาร์ไปมาในระหว่างธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ มากกว่า 11,000 แห่งทั่วโลก พวกเจ้าหน้าที่เหล่านี้กล่าวว่า รายละเอียดของมาตรการแซงก์ชันเช่นนี้ยังกำลังอยู่ระหว่างการตกลงจัดทำกัน โดยมุ่งจำกัดผลกระทบของมาตรการเหล่านี้ที่จะมีต่อบรรดาระบบเศรษฐกิจอื่นๆ ตลอดจนต่อการซื้อน้ำมันและแก๊สจากรัสเซียของทางยุโรป

บรรดาพันธมิตรจากสองฟากฝั่งแอตแลนติกได้เคยพิจารณาจะใช้ออปชัน SWIFT นี้มาแล้วเมื่อปี 2014 ตอนที่รัสเซียเข้าผนวกแหลมไครเมีย รวมทั้งหนุนหลังกองกำลังแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออก รัสเซียประกาศในตอนนั้นว่าการเตะตนเองออกมาจาก SWIFT จะเท่ากับเป็นการประกาศสงคราม ในที่สุดแล้วทางพันธมิตรอเมริกาเหนือ-ยุโรปก็ตัดสินใจพับไอเดียเรื่องนี้เอาไว้ก่อน และตั้งแต่นั้นก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าตอบโต้ความก้าวร้าวรุกรานของรัสเซียเมื่อปี 2014 แบบอ่อนปวกเปียกเกินไป ขณะเดียวกัน นับแต่นั้นรัสเซียพยายามพัฒนาระบบการโอนเงินระหว่างประเทศของตนเองขึ้นมาเช่นกัน ทว่าประสบความสำเร็จเพียงจำกัด

สหรัฐฯ นั้นเคยประสบความสำเร็จมาก่อนแล้วในการโน้มน้าวกดดันให้ระบบ SWIFT ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ที่เบลเยียม ตัดขาดอิหร่าน สืบเนื่องจากโครงการนิวเคลียร์ของประเทศนั้น แต่การเตะรัสเซียออกจาก SWIFT เป็นเรื่องใหญ่กว่า และอาจส่งผลสร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจอื่นๆ รวมทั้งของสหรัฐฯ เองและของพันธมิตรรายสำคัญอย่างเยอรมนี

การตัดขาดไม่ให้เชื่อมต่อกับ SWIFT ที่ฝ่ายตะวันตกประกาศในวันเสาร์ (26) อยู่ในลักษณะแค่บางส่วนเท่านั้น เพื่อเปิดทางให้ยุโรปและสหรัฐฯ ยังมีช่องทางใช้บทลงโทษมากยิ่งขึ้นไปอีกในภายหลัง

ทางด้าน อัวร์ซุลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป ที่เป็นองค์กรบริหารของอียู ซึ่งเป็นผู้ประกาศมาตรการแซงก์ชันเหล่านี้ที่กรุงบรัสเซลส์ แถลงด้วยว่า จะผลักดันให้สหภาพยุโรป “ทำให้สินทรัพย์ของธนาคารกลางรัสเซียกลายเป็นอัมพาต” ด้วย เพื่อไม่ให้สามารถทำธุรกรรมใดๆ ต่อไปได้อีก ขณะที่เธออธิบายว่า การตัดธนาคารพาณิชย์รายบิ๊กๆ ของรัสเซียออกจาก SWIFT “จะเป็นการสร้างความแน่ใจว่า แบงก์เหล่านี้ถูกตัดขาดจากระบบการเงินระหว่างประเทศ และสร้างความเสียหายให้แก่ความสามารถของพวกเขาในการดำนินงานในทั่วโลก”

“การตัดแบงก์เหล่านี้ออกจากระบบนี้ จะหยุดยั้งไม่ให้พวกเขาสามารถดำเนินธุรกรรมทางการเงินในทั่วโลกแทบทั้งหมด และส่งผลเป็นการปิดกั้นการนำเข้าและส่งออกของรัสเซีย” เธอกล่าวต่อ “ปูตินเริ่มต้นเส้นทางนี้ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำลายยูเครน แต่สิ่งที่เขากำลังทำพร้อมกันไปด้วย อันที่จริงแล้ว คือการทำลายอนาคตของประเทศของเขาเอง”

การทำให้อียูเห็นชอบด้วยกับการแซงก์ชันรัสเซียด้วยการตัดขาดจากระบบ SWIFT เป็นกระบวนการที่ยากลำบากมาก เนื่องจากอียูทำการค้ากับรัสเซียในปริมาณสูงถึง 80,000 ล้านยูโร ราวๆ 10 เท่าตัวของสหรัฐฯ

โดยเฉพาะเยอรมนีนั้นได้ขัดขวางไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรการนี้เรื่อยมา เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อตนเองอย่างหนักหน่วงด้วย แต่ในคราวนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ อันนาลีนา แบร์บ็อค ของเยอรมนี ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งว่า “หลังจากการโจมตีอย่างไร้ยางอายของรัสเซียแล้ว ... เรากำลังทำงานอย่างหนักในเรื่องการจำกัดความเสียหายที่ไม่ได้ตั้งใจของการหย่าร้างตัดขาด (รัสเซีย) จาก SWIFT เพื่อที่มันจะได้ยิงใส่ถูกคน สิ่งที่เราต้องการคือ SWIFT ที่ถูกจำกัดให้ยังคงทำงานได้แต่บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด”

(ที่มา : เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น