จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน นำไปสู่การประกาศยกกองกำลังบุกยูเครน ของวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ทำให้ชาติตะวันตก และสหรัฐฯ ประกาศจะใช้เครื่องมือทางการเงินต่อรัสเซีย ด้วยการตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication
ระบบ SWIFT คืออะไร และสำคัญอย่างไร?
SWIFT หรือสมาคมโทรคมนาคมทางการเงินโลก ย่อมาจาก Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication เป็นเครือข่ายการเงินระดับโลกที่ช่วยในการโอนเงินได้อย่างรวดเร็ว และปลอดภัย
SWIFT ก่อตั้งขึ้นในปี 1973 สำนักงานใหญ่ประเทศเบลเยียม โดยทำหน้าที่เชื่อมโยงธนาคารและสถาบันกว่า 11,000 แห่งในกว่า 200 ประเทศ ทำหน้าเป็นตัวกลางรับส่งข้อมูลการโอนเงินระหว่างประเทศ ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมของธนาคารทั่วโลก โดยจะรับส่งข้อความโต้ตอบแบบเรียลไทม์ เมื่อมีรายการนำส่งและชำระเงิน
ขณะที่ในปี 2021 ที่ผ่านมา มีการส่งข้อมูลทางการเงินระหว่างกันบนระบบ SWIFT มากกว่า 40 ล้านครั้งต่อวัน และสามารถรองรับการแลกเปลี่ยน โอนเงินหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปัจจุบัน เครือข่าย SWIFT มีธนาคารและสถาบันการเงินเป็นเจ้าของร่วมกันมากกว่า 2,000 แห่ง โดยธนาคารแห่งชาติของเบลเยียมร่วมมือกับธนาคารกลางที่สำคัญหลายแห่งทั่วโลก เช่น ตัวแทนจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารแห่งอังกฤษ ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น และธนาคารกลางอื่นๆ ในการควบคุมและดูแลระบบ
การตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT จะส่งผลกระทบอย่างไร?
ภาคธุรกิจและบริษัทต่างๆ ของรัสเซียจะไม่สามารถทำธุรกรรมได้แบบเรียลไทม์จากบริการของ SWIFT โดยเฉพาะภาคธุรกิจด้านการเกษตรและพลังงานที่มีมูลค่าการค้าจำนวนมหาศาล จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
ขณะภาคการธนาคารต่างๆ น่าจะต้องติดต่อกับธนาคารที่เป็นคู่ค้าอีกแห่งโดยตรง ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและล่าช้า และสุดท้ายแล้วจะส่งผลต่อรายได้ของรัฐบาลรัสเซียเอง
อย่างไรก็ตาม การกดดันเรื่องดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2014 ขณะที่รัสเซียผนวกรวมไครเมีย แต่ถูกรัสเซียสวนกลับ การไม่ให้รัสเซียใช้ระบบ SWIFT เท่ากับการประกาศสงครามกับรัสเซีย พันธมิตรชาติตะวันตกจึงไม่ได้เดินหน้าต่อ พร้อมทั้ง รัสเซียเองได้พัฒนาระบบการโอนเงินข้ามประเทศของตัวเองขึ้น คือระบบบัตรชำระเงินแห่งชาติ (National Payment Card System) หรือ Mir ที่จะนำมาใช้รับมือกับมาตรการการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกในครั้งนี้ แต่ระบบ Mir เองยังคงติดปัญหา เพราะมีบางประเทศเพียงไม่กี่แห่งที่ใช้ระบบนี้