หลังจากขู่มาหลายสัปดาห์ ในที่สุดเมื่อวันอังคาร (22 ก.พ.) ตะวันตกก็งัดมาตรการแซงก์ชันชุดแรกมาเล่นงานรัสเซีย ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เป็นแค่การอุ่นเครื่องที่จะส่งผลจำกัดต่อทั้งเศรษฐกิจแดนหมีขาวและตะวันตก แต่เป็นขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของยุโรป
โอลิวิเญร์ ดอร์แกนส์ นักกฎหมายที่เชี่ยวชาญด้านการลงโทษทางเศรษฐกิจของบริษัทกฎหมายแอสเฮิร์สต์ ชี้ว่า มาตรการแซงก์ชันใหม่ที่พุ่งเป้าภาคการเงินของรัสเซียสอดคล้องกับมาตรการแบบค่อยเป็นค่อยไปและงดแตะภาคพลังงาน เว้นแต่มาตรการเฉพาะของเยอรมนีที่สั่งระงับการรับรองสายท่อส่งก๊าซ “นอร์ดสตรีม 2”
อังกฤษนั้นสั่งแซงก์ชันธนาคารรัสเซีย 5 แห่ง ซึ่งรวมถึงรอสสิยา และ พรอมส์ไวเอซแบงก์ (พีเอสบี) ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) คาดว่า จะเปิดเผยรายชื่อสถาบันที่จะถูกอายัดทรัพย์สินเร็วๆ นี้ และวอชิงตันลงโทษ พีเอสบี และวีนิชเชอโคนอมแบงก์ (วีอีบี) รวมทั้งบริษัทลูกของทั้งสองแห่งเนื่องจากมีบทบาทสนับสนุนกองทัพรัสเซีย
กระนั้น ดอร์แกนส์ตั้งข้อสังเกตว่า รัสเซียถอนเงินทุนจำนวนมากกลับประเทศแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่การอายัดทรัพย์สินชนชั้นนำและบุคคลต่างๆ ของรัสเซียจะมีผลกระทบจำกัดต่อเศรษฐกิจรัสเซียเช่นเดียวกัน
แต่เป้าหมายข้างหน้าของมหาอำนาจตะวันตกคือ ขัดขวางไม่ให้รัสเซียเข้าถึงตลาดทุนเพื่อระดมทุนหรือรีไฟแนนซ์หนี้ได้ ซึ่งจะกดดันค่าเงินรูเบิลและบ่อนทำลายอำนาจซื้อของคนรัสเซียในการซื้อสินค้านำเข้า
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่อาวุโสของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ระบุว่า แม้มีการติดต่อแบบจำกัดกับสถาบันการเงินรัสเซีย แต่แบงก์ตะวันตกหลายแห่ง อาทิ ยูนิเครดิตของอิตาลี และโซซิเอเต เจเนราลของฝรั่งเศส เปิดดำเนินกิจการในรัสเซียอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม วอชิงตันยังละเว้นมาตรการแซงก์ชันหลายอย่างที่อาจสร้างความเสียหาย เช่น การตัดรัสเซียออกจากระบบการทำธุรกรรมระหว่างประเทศของภาคธนาคาร “สวิฟต์” ซึ่งจะทำให้รัสเซียไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินส่วนใหญ่กับนานาชาติได้
หรือการควบคุมการส่งออกที่จะทำให้บริษัทรัสเซียหมดโอกาสเข้าถึงอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ไฮเทคที่สำคัญ
ผลกระทบต่อวัตถุดิบ
นอกเหนือจากการระงับการพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินงานสายท่อส่งก๊าซนอรดสตรีม 2 ซึ่งเวลานี้สร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่เปิดให้บริการ ตะวันตกยังไม่ได้ลงมือแซงก์ชันภาคพลังงานของรัสเซียเลย
ดอร์แกนส์แจงว่า มาตรการแซงก์ชันยังไม่ได้โจมตีจุดที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง แต่เป็นขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของยุโรป
แอนดรูว์ โลห์เซน ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียของศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา ในวอชิงตัน เห็นด้วยว่า ขั้นตอนต่างๆ ที่ออกมาดูเหมือนยังห่างไกลจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนขู่ และไม่ได้บีบให้รัสเซียต้องเปลี่ยนแผน ซึ่งจะทำให้วลาดิมีร์ ปูติน ได้ใจ
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ แจงว่า อาจมีมาตรการลงโทษอื่นๆ ตามมา
ทั้งนี้ การแซงก์ชันภาคพลังงานของรัสเซียอาจเป็นความเสี่ยงที่คำนวณสำหรับอียูที่นำเข้าก๊าซ 40% จากรัสเซีย ขณะที่ผู้ส่งออกก๊าซอย่างอเมริกาและกาตาร์มีศักยภาพจำกัดในการเพิ่มการจัดส่งให้ยุโรป ซึ่งทำให้มอสโกเป็นต่อ เนื่องจากแม้ยุโรปอาจอยู่ได้โดยไม่นำเข้าจากรัสเซียในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ถ้านานกว่านั้นอาจทำให้เศรษฐกิจยุโรปชะงักงันอย่างรุนแรง
ความขัดแย้งนี้จุดชนวนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งทะยานขึ้นแล้ว เนื่องจากรัสเซียมีบทบาทสำคัญในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยจัดหาน้ำมันราว 10% ของปริมาณในตลาดโลก ทั้งนี้ จากข้อมูลของฟิตช์ เรทติ้งส์เมื่อเร็วๆ นี้
วันอังคารราคาน้ำมันดิบพุ่งเกือบแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนนับจากปี 2014 ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติทะยานโลดลิ่วเช่นกัน
นอกจากนั้น รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกพาลาเดียม นิกเกิล และอลูมิเนียมรายใหญ่ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้กำลังไต่ขึ้นทำสถิติ
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่แพงขึ้นจะส่งผลต่ออำนาจซื้อของผู้บริโภค ขณะที่บรรดาผู้วางนโยบายกำลังกังวลอย่างมากกับภาวะเงินเฟ้อ
เศรษฐกิจยุโรปน่าเป็นห่วง
การที่รัสเซียยอมรับสองเขตที่แยกตัวจากยูเครนเป็นรัฐเอกราช จะเพิ่มความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจยุโรป
นีล เชียริ่ง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของแคปิตอล อิโคโนมิกส์ ชี้ว่า แม้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความขัดแย้งทางทหารอย่างมาก แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศอื่นๆ นอกจากรัสเซียและยูเครนมีแนวโน้มจำกัดเท่านั้น เขาทิ้งท้ายว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในยูเครนเปราะบางอย่างรุนแรง และมีแนวโน้มว่า จะต้องการความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมจากภายนอกในไม่กี่เดือนนี้
(ที่มา: เอเอฟพี)