xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯ มองศึกยูเครนเฟสแรกกระทบไทยไม่มาก จับตาเฟส 2 เชื่อกดดัน SET สั้น-มีลุ้นอัปไซด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส กล่าวในงานสัมมนา "รัสเซีย-ยูเครน ส่อปะทุ ผู้ลงทุนควรตั้งรับอย่างไร" โดยระบุว่า สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครนมีผลกระทบเชิงเศรษฐกิจต่อประเทศไทยไม่มากนัก เนื่องจากประเทศไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 26 ของรัสเซีย โดยมีสัดส่วนการค้า 0.8% ซึ่งการส่งออกส่วนใหญ่ของประเทศไทย คือ กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วน เครื่องจักร และผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ

ด้านนักท่องเที่ยวจากรัสเซียที่เข้ามายังประเทศไทยคิดเป็น 3.77% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นราว 5.37% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับไทยค่อนข้างจำกัดหากสถานการณ์ไม่ลุกลามขยายวงไปเป็นสงครามโลก ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่าโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก

นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า หากประเมินจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตช่วงวันที่ 21 ก.พ.-26 มี.ค.2557 มีผลกระทบต่อดัชนีตลาดหุ้นรัสเซีย และตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้ว แต่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือในเอเชียไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

ในสถานการณ์รอบนี้ช่วงวันที่ 1-22 ก.พ.65 ดัชนีตลาดหุ้นรัสเซียร่วงลงไปถึง 14.9% ขณะที่ตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วลดลงไปค่อนข้างมากเช่นกัน แต่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ยังได้รับผลกระทบไม่มากนัก และมองว่าผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยไม่ได้น่ากลัวมาก เนื่องจากการค้ากับรัสเซียมีไม่มาก ขณะที่เงินทุนต่างชาติยังคงไหลเข้ามาในภูมิภาคและไทยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้สถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นยังมีผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ให้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งหุ้นกลุ่ม Commodity มีน้ำหนักค่อนข้างมากในตลาดหุ้นไทย

ขณะที่ค่าเงินบาทในปัจจุบันยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการไหลเข้ามาของเงินทุนต่างประเทศ ไม่ว่าจะทั้งในตลาดพันธบัตรรัฐบาล หรือในตลาดหุ้นไทยที่ในเดือน ก.พ.มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาสูงถึง 57,565 ล้านบาท และมองว่ายังคงมีโอกาสที่จะไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงต่อจากนี้ เนื่องจากอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจแบบดั้งเดิม (Old Economy) ซึ่งเป็นธุรกิจหลักในตลาดหุ้นไทย

นายเทิดศักดิ์ มอง Downside ของดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ที่ 1,675 จุด แต่หากยืนไม่อยู่จะมีแนวรับถัดไปที่ 1,650 จุด และ 1,630 จุด แต่หากมอง Upside ให้ไว้ที่ 1,810 จุด และหากสถานการณ์ต่างๆ ดีมากก็มีโอกาสที่ SET Index จะขึ้นไปถึง 1,860 จุด แต่อย่างไรก็ตามระยะสั้นยังคงมีปัจจัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซียกดดันอยู่ แนะนำกลยุทธ์การลงทุนว่าหากดัชนีปรับตัวลดลงเป็นระยะเวลาเหมาะสมในการเข้าซื้อ โดยให้น้ำหนักการลงทุนไปในกลุ่มแบงก์ BBL ค้าปลีกที่มีการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ MAKRO, CPALL, BJC และกลุ่มวัสดุก่อสร้างหลังภาครัฐเตรียมอัดฉีดไปด้านการลงทุนภาครัฐเพิ่มมากขึ้น SCC สุดท้ายคือกลุ่มเปิดเมือง AOT

ด้านนายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า มองว่าสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน อยู่ที่เฟส 1 ซึ่งยังไม่น่ากังวลมากนัก แต่หากเข้าสู่เฟส 2 คือสามารถยึดพื้นที่ในดอนบาสของยูเครนได้ทั้งหมด และมีการคว่ำบาตร 3 แบงก์หลักของรัสเซีย รวมถึงท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 1 ด้วย หาก 3 ปัจจัยดังกล่าวเกิดขึ้นจะเป็นการยกระดับสถานการณ์ต่างๆ ให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น

ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงต่อยุโรปผ่านภาคการค้าและต้นทุนด้านพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อที่ส่วนใหญ่มาจากราคาพลังงาน จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสหภาพยุโรป ซึ่งจะกระทบให้เงินทุนไหลออกจากสหภาพยุโรปอย่างแน่นอน ด้านสหรัฐฯ ที่มีสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าหลัก หากสหภาพยุโรปมีภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว สหรัฐฯ ก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าในปีนี้สหรัฐฯ จะถูกบังคับให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 7 ครั้ง รวมไปถึงการดูดสภาพคล่องออกจากระบบ เพื่อชะลอการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ แต่อย่างไรก็ตามในภาคการจ้างงาน และ GDP สหรัฐฯ และราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นไปทะลุ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแล้วอาจจะเป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จำเป็นต้องชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ สำหรับภาพรวมตลาดหุ้นไทย มองว่าตราบใดที่ยังไม่มีพัฒนาการความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนไปถึงเฟส 2 ยังไม่จำเป็นต้องมีความกังวลมากนัก โดยจะมีแนวรับที่ 1,650-1,675 จุด แต่หากมีการยกระดับความตึงเครียดขึ้นไปถึงเฟส 2 ค่อยกลับมากังวลอีกครั้งหนึ่ง ในขณะเดียวกัน ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจจะกระทบต่อการกลับมาเปิดประเทศ รวมไปถึงสถานการณ์ความไม่สงบของการเมืองภายในประเทศ อาจจะทำให้การไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติรอบนี้หยุดลง โดยแนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล หากสถานการณ์ในประเทศดีขึ้น และสามารถรับคนไข้จากต่างประเทศได้จะหนุนให้กำไรเติบโต BH, BDMS กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว และจะได้รับปัจจัยหนุนจากการเข้ามาซื้อของต่างชาติในช่วงครึ่งปีหลัง ORI


กำลังโหลดความคิดเห็น