นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ปัจจัยสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นปัจจัยที่นักลงทุนทุกคนต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะยังมีความไม่แน่นอนว่าความรุนแรงที่มีโอกาสเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร เพราะปัจจุบันยังไม่สามารถคาดเดาได้
ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพรวมทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะเห็นได้ชัดว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่บริษัทจดทะเบียนต่างๆ จะต้องนำมาพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าจะต้องมีการเตรียมตัวและปรับตัวรับสถานการณ์อย่างไร และในส่วนนักลงทุนเองจะต้องมีการติดตามข่าวสารและวิเคราะห์ปัจจัยเพื่อนำมาใช้ประกอบการลงทุน
นายภากร กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolical Conflict) ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น และจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้โอกาสการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในประเทศต่างๆ มีมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่
รวมถึงการเร่งลดสภาพคล่องในระบบ ซึ่งมีผลกระทบต่อตลาดทุนทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย เพราะปัจจุบันได้เชื่อมโยงไปกับตลาดหุ้นทั่วโลก แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะอยู่ในระดับที่ไม่สูง และยังไม่มีแนวโน้มในการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม ยกเว้นเพียงแต่ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูงยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนในประเทศ
"สภาพคล่องที่กำลังจะหดหายไปมีผลกระทบต่อตลาดทุนทั่วโลกอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดหุ้นเองก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะตลาดหุ้นไทยลิงก์ไปกับตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เข้ามามีผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นปีนี้" นายภากร กล่าว
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีต่อเนื่อง เป็นปัจจัยที่กดดันต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจน เนื่องจากประเทศต่างๆ ยังไม่กลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มที่ แม้ว่าประเทศไทยจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไปค่อนข้างมากแล้วก็ตาม ทั้งนี้ ภาคบริการมีสัดส่วนมากถึง 50% ของ GDP หากยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจนจะเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ด้วยเช่นกัน และมีผลต่อกระทบบริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการในตลาดหุ้นไทยด้วย