xs
xsm
sm
md
lg

“บัฟเฟตต์” ทิ้งหุ้นวีซ่า-มาสเตอร์การ์ด ลงทุน $1,000 ล้านในแบงก์ที่เป็นมิตร BTC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บัฟเฟตต์กลายเป็นผู้สนับสนุนระบบนิเวศสกุลเงินดิจิทัลทางอ้อม โดยล่าสุดได้เข้าลงทุน 1
เบิร์กไชร์ แฮธทาเวย์ บริษัทการลงทุนของวอร์เรน บัฟเฟตต์ เจ้าของฉายา “เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา” ทิ้งหุ้นบางส่วนในวีซ่า-มาสเตอร์การ์ด และเข้าลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ในนูแบงก์ ธนาคารฟินเทคใหญ่สุดของบราซิล และขวัญใจนักลงทุนบิตคอยน์แดนแซมบ้า

ในเอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เบิร์กไชร์ เผยว่า ได้ซื้อหุ้นมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ในนูแบงก์ในช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว และขายหุ้นมูลค่า 1,800 ล้านดอลลาร์ และ 1,300 ล้านดอลลาร์ของวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดตามลำดับ ส่งสัญญาณว่า บริษัทการลงทุนชื่อดังแห่งนี้เริ่มตีจากบริษัทบัตรเครดิตและหันไปหาธุรกิจฟินเทคมากขึ้น

บัฟเฟตต์ ที่ถูกขนานนามว่า “เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา” (Oracle of Omaha) ขึ้นชื่อเรื่องการลงทุนอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเซ็กเตอร์ที่ฮอตที่สุดในตลาดอย่างฟินเทค นักลงทุนระดับตำนานผู้นี้ยังวิจารณ์บิตคอยน์ (BTC) ว่า เป็นสินทรัพย์ที่ “ไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาเลย” และ “ยาเบื่อหนูยกกำลังสอง”

แต่การลงทุนครั้งใหม่ของเบิร์กไชร์ ในนูแบงก์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแบงก์ที่มีมูลค่าสูงสุดในละตินอเมริกา แสดงให้เห็นว่า บัฟเฟตต์มีท่าทีอ่อนลงกับฟินเทค ตามรายละเอียดนั้น เบิร์กไชร์ลงทุนในสตาร์ทอัปแห่งนี้ 500 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว และได้ผลตอบแทนกลับมา 150 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนธันวาคม หลังจากนูแบงก์เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก

การลงทุนเพิ่มในนูแบงก์ยังสะท้อนว่า บัฟเฟตต์ยอมรับบริการทางการเงินระบบดิจิทัลที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมฟินเทค และยังยินดีเกี่ยวพันกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซี

ทั้งนี้ Easynvest แพลตฟอร์มเทรดคริปโตฯ ที่นูแบงก์ซื้อกิจการมาในเดือนกันยายน 2020 นำเสนอกองทุน ETF ที่อ้างอิงราคาของบิตคอยน์มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2021 โดยกองทุนนี้ที่มีชื่อว่า QBTC11 จดทะเบียนใน B3 ซึ่งเป็นตลาดหุ้นเก่าแก่อันดับ 2 ของบราซิล

เอมิลี พอร์ตนีย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) แบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน คอร์ป หนึ่งในบริษัทที่อยู่ในพอร์ตของบัฟเฟตต์ ตั้งข้อสังเกตว่า สินทรัพย์ดิจิทัลกลายเป็น “แหล่งรายได้ที่มีนัยสำคัญ” สำหรับบริษัทการลงทุน ขณะที่บิตคอยน์กลายเป็นเครื่องมือการลงทุนกระแสหลักมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ลีห์ วาลด์ ประธานบริหารวัลคีรี อินเวสต์เมนต์ ผู้จัดการสินทรัพย์คริปโตฯ ทำนายว่า เงินทุนซึ่งรวมถึงจากนักลงทุนประเภทสถาบันจะไหลเข้าเครื่องมือการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับคริปโตฯ มากขึ้น และกลายเป็น “ปรากฏการณ์ที่เริ่มผลิดอกออกผล”

ส่วนบัฟเฟตต์นั้นแม้ไม่ได้ลงทุนในบิตคอยน์โดยตรง แต่ได้เกี่ยวพันทางอ้อมจากบริษัทในพอร์ตที่กระโจนเข้าสู่ตลาดคริปโตฯ อย่างคึกคัก

ตัวอย่างเช่นเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หรือแค่เดือนเดียวก่อนที่บิตคอยน์จะทะยานสร้างสถิติสูงสุดตลอดกาลที่ 69,000 ดอลลาร์ ยู.เอส. แบนคอร์ป ธนาคารใหญ่สุดของอเมริกา ริเริ่มให้บริการรับฝากสินทรัพย์คริปโตฯ สำหรับผู้จัดการการลงทุนประเภทสถาบัน เนื่องจากพบว่าลูกค้าที่เป็นผู้ให้บริการกองทุนมีความต้องการบริการดังกล่าวเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เดือนตุลาคมปีที่แล้วเช่นเดียวกัน แบงก์ ออฟ อเมริกาเปิดแผนการริเริ่มการวิจัยด้านคริปโตฯ โดยระบุว่า นักลงทุนประเภทสถาบันให้ความสนใจมากขึ้น

ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น บีเอ็นวาย เมลลอนประกาศว่า จะถือครอง โอน และออกบิตคอยน์และคริปโตฯ อื่นๆ สำหรับลูกค้าที่เป็นผู้จัดการสินทรัพย์

เกร็ก เวสแมน ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (CEO) บริการคริปโตฯ วอลเล็ต Mercuryo ชี้ว่า การลงทุนในนูแบงก์อาจตีความได้ว่า เป็นวิธีที่บัฟเฟตต์สนับสนุนโลกฟินเทค/คริปโตฯ โดยไม่ต้องถอนคำพูดที่เคยวิจารณ์สิ่งเหล่านี้ และทิ้งท้ายว่า ตอนนี้นายใหญ่เบิร์กไชร์กลายเป็นผู้สนับสนุนระบบนิเวศสกุลเงินดิจิทัลทางอ้อมเป็นที่เรียบร้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น