กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
วันนี้ 29 มกราคม 2565 เป็นวันแรกที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ธนาคารกรุงไทย และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดให้ทดลองชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT ด้วยบัตรเครดิต
โดยบัตรเครดิตที่สามารถแตะจ่ายรถไฟฟ้า MRT ได้ เรียกว่า บัตร EMV Contactless โดยมีสัญลักษณ์รูปใบพัด 4 ขีดแนวนอน ปัจจุบันผู้ออกบัตรเครดิตในประเทศไทยส่วนใหญ่ติดตั้งระบบนี้มานานกว่า 6-7 ปีแล้ว
เบื้องต้นใช้ บัตรเครดิต แตะเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้า MRT แทนบัตรและเหรียญโดยสารได้เฉพาะ VISA PayWave และ MasterCard PayPass ทั้งสายสีน้ำเงิน (หลักสอง-บางซื่อ-ท่าพระ) และสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) รวม 53 สถานี
ส่วนบัตรเดบิตและบัตรเติมเงิน (Prepaid Card) ที่ออกในประเทศไทย อยู่ระหว่างการพัฒนา รวมทั้งบัตรเครดิตรายอื่น เช่น JCB (J/Speedy) และ UnionPay (Quickpass) ก็ยังไม่สามารถใช้งานได้ในขณะนี้เช่นกัน
วิธีการใช้งาน เมื่อมาถึงสถานี นำบัตรเครดิตของท่านแตะที่สัญลักษณ์ Contactless และคำว่า “TAP HERE” ด้านล่างจอ แยกกับจุดที่แตะเหรียญหรือบัตรโดยสารต่างหาก หน้าจอจะขึ้นข้อความ “ยินดีต้อนรับ” และประตูเปิดขึ้นมา
ระหว่างนั้น ระบบจะตัดวงเงินบัตรเครดิตเป็นจำนวน 1.00 บาทเพื่อทดสอบว่าใช้งานได้หรือไม่ โดยจะแสดงชื่อร้านค้าว่า “MRT-BEM Bangkok THA” เหมือนกับเวลานำบัตรเครดิตไปผูกกับอี-วอลเล็ตหรือแอปพลิเคชันต่างๆ
เมื่อถึงสถานีปลายทาง ให้แตะบัตรที่ที่สัญลักษณ์ Contactless และคำว่า “TAP HERE” ด้านล่างจอเหมือนเข้าสถานี หน้าจอจะขึ้นข้อความ “ขอบคุณที่ใช้บริการ” และประตูเปิดขึ้นมาเช่นกัน
แต่การตัดวงเงินในบัตรเครดิตเพื่อชำระค่าโดยสาร ระบบจะไม่ได้ตัดวงเงินทันที แต่จะตัดภายในวันที่เดินทาง หรือวันถัดไป ยกเว้นกรณีรายการไม่ปกติ เช่น มีข้อมูลขาเข้าหรือขาออกรายการเดียว จะเรียกเก็บเงินภายใน 4 วัน
ต่างจากการแตะจ่ายค่ารถเมล์ ระบบจะตัดวงเงินในบัตรเครดิตทันที เมื่อแตะบัตรผ่านเครื่อง EDC แบบพกพา หลังจากนั้นก็จะบันทึกรายการและเรียกเก็บเงินหลังวันสรุปยอดบัญชี เช่นเดียวกับการรูดบัตรซื้อสินค้าและบริการ
เท่าที่เคยคุยกับเพื่อนที่เคยใช้บัตรเครดิตแตะขึ้นรถไฟฟ้า ก็บอกว่า ระบบจะไม่ได้ตัดวงเงินในบัตรเครดิตทันที แต่จะเรียกเก็บในวันถัดไป อย่างที่อังกฤษจะเรียกเก็บเวลา 04.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น
สำหรับค่าโดยสารเมื่อใช้บัตรเครดิต จะคิดตามอัตราค่าโดยสารประเภทบุคคลทั่วไป สายสีน้ำเงินเริ่มต้นที่ 17-42 บาท สายสีม่วง เริ่มต้นที่ 14-42 บาท หรือหากเดินทางข้ามระบบระหว่างสายสีน้ำเงินกับสายสีม่วง จะคิดค่าโดยสารสูงสุดที่ 70 บาท
แม้การใช้บัตรเครดิตขึ้นรถไฟฟ้า ไม่ต้องลงทะเบียน สามารถควักบัตรขึ้นมา แตะเข้า-ออกสถานีได้เลย แต่ถ้าจะให้ดี แนะนำให้ลงทะเบียนสำหรับดูข้อมูลการเดินทาง ที่เว็บไซต์ www.mangmoomemv.com โดยใช้อีเมลและเบอร์มือถือ
คนที่ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว สามารถเพิ่มหมายเลขบัตรที่ผ่านการแตะเข้าสถานีเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับเดือน/ปีที่หมดอายุ และรหัส 3 หลัก เพื่อดูข้อมูลการเดินทาง โดยสามารถดูรายการย้อนหลังได้สูงสุด 60 วัน
แต่ถ้าคนที่ไม่ได้ลงทะเบียน เมื่อแตะบัตรไปแล้ว สามารถเข้าไปที่เมนู “ตรวจสอบข้อมูลการเดินทาง” แล้วกรอกข้อมูลบัตร ระบบจะแสดงผลข้อมูลการเดินทาง โดยสามารถดูรายการย้อนหลังได้เพียง 7 วัน
อย่างไรก็ตาม บัตรเครดิตที่ยังไม่ได้ใช้เดินทาง ไม่สามารถเพิ่มหมายเลขบัตรนเว็บไซต์ MANGMOOM EMV ได้ เพราะระบบจะตรวจสอบและรับลงทะเบียนเฉพาะบัตรที่นำมาใช้เดินทางในระบบรถไฟฟ้า MRT แล้วเท่านั้น
หากเคยนำบัตรเครดิตใบนั้นแตะเข้าระบบรถไฟฟ้า MRT เรียบร้อยแล้ว สามารถเพิ่มหมายเลขบัตรเครดิตได้สูงสุดไม่จำกัดจำนวน แต่สามารถดูรายการย้อนหลังได้สูงสุด 60 วัน
ข้อดีของการนำระบบ EMV Contactless มาใช้ก็คือ ไม่ต้องเสียเวลาแลกเหรียญหรือสอดธนบัตรเพื่อซื้อเหรียญโดยสาร ไม่ต้องซื้อบัตรโดยสาร ปัจจุบันเสียค่าออกบัตรครั้งแรก 180 บาท แต่ได้มูลค่าบัตรเพียง 100 บาท
เหมาะสำหรับคนที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นครั้งคราว ไม่ค่อยได้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT บ่อยเหมือนคนที่เดินทางประจำ รวมทั้งชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย พกบัตรวีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ดก็สามารถใช้ได้
นอกจากนี้ ประชาชนสามารถเชื่อมต่อการเดินทางสาธารณะหรือบริการอื่นๆ เช่น รถเมล์ ขสมก. หรือเรือไฟฟ้า Mine Smart Ferry หรือในอนาคต รถไฟฟ้าสายสีแดงจะใช้ระบบ EMV Contactless ก็ใช้ได้ด้วยบัตรเพียงใบเดียว
รวมทั้งแม้จะต้องจ่ายค่าโดยสารในอัตราปกติ ไม่มีส่วนลด แต่บางธนาคารยังให้คะแนนสะสม หรือเงินคืนตามปกติ ยกเว้นบางธนาคารที่ยกเว้นคะแนนสะสมในหมวดขนส่งสาธารณะ เช่น รหัสหมวด MCC 4111
ส่วนข้อจำกัดก็คือ เด็กและผู้สูงอายุที่ปกติเมื่อใช้บัตรโดยสารบางประเภทจะมีส่วนลด จะไม่สามารถใช้ส่วนลดค่าโดยสารได้ ต้องจ่ายในราคาเต็ม และกรณีที่มีโปรโมชันเที่ยวโดยสาร บัตรเครดิตที่ใช่จะไม่สามารถเติมเที่ยวโดยสารได้
รวมทั้งไม่สามารถบันทึกส่วนลดได้ เมื่อนำรถยนต์มาจอดที่อาคารจอดแล้วจร ยังคงต้องใช้บัตรโดยสาร MRT Card หรือ MRT PLUS บันทึกส่วนลดค่าบริการที่จอดรถเหมือนเดิม
ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนบัตรพลาสติกรวม 99.37 ล้านใบ แบ่งออกเป็นบัตรเดบิต 63.26 ล้านใบ บัตรเครดิต 25.01 ล้านใบ และบัตรเอทีเอ็ม 11.09 ล้านใบ ซึ่งทุกธนาคารต่างใช้ระบบชิปการ์ดแทนแถบแม่เหล็กกันหมดแล้ว
ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่วันนี้บัตรเครดิตสามารถแตะจ่ายขึ้นรถไฟฟ้าได้แล้ว นอกจากรถเมล์ ขสมก. กว่า 3,000 คัน รถเมล์ไทยสมายล์บัส และเรือไฟฟ้า Mine Smart Ferry เป็นอีกทางเลือกในการจ่ายค่าเดินทางแทนเงินสด
แม้ความหวังที่จะให้บัตรใบเดียวสามารถใช้ได้กับขนส่งมวลชนทุกระบบอาจจะดูริบหรี่ไปบ้าง ตามแต่ผู้ให้บริการที่ต่างคนต่างทำ ต่างมีบัตรโดยสารเป็นของตัวเอง ผู้โดยสารยังคงต้องพกบัตรหลายใบเหมือนเดิม