ไขข้อข้องใจ กรณี รฟม. ธนาคารกรุงไทย และ BEM เตรียมเปิดให้ทดลองใช้บริการ EMV Contactless บนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงเสาร์นี้ (29 ม.ค.) พบช่วงแรกใช้ได้เฉพาะบัตรเครดิตไปก่อน ส่วนบัตรเดบิตและบัตรอื่นๆ จะขยายภายในปลายปี 2565
จากกรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เตรียมที่จะให้ประชาชนทดลองใช้บริการชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงและสายสีน้ำเงินด้วยระบบ EMV Contactless ในวันเสาร์ที่ 29 ม.ค. 2565
โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงไทยได้พัฒนาระบบชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า ส่วน BEM ดำเนินการปรับปรุงและติดตั้งหัวอ่านบริเวณประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติภายในสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง รวมทั้งสิ้น 53 สถานี รองรับการใช้บัตร EMV Contactless พร้อมทั้งปรับปรุงอุปกรณ์ และระบบเน็ตเวิร์ก และจัดให้มีการฝึกอบรมพนักงานที่เกี่ยวข้อง
อ่านประกอบ : รฟม.ดีเดย์ 29 ม.ค. 65! ทดลองใช้บัตร EMV แตะจ่ายค่าโดยสาร MRT “น้ำเงิน-ม่วง” ทั้ง 53 สถานี
ทีมข่าว MGR Online พยายามหาคำตอบเบื้องต้น เพื่อไขข้อข้องใจถึงการใช้ระบบ EMV Contactless เพื่อใช้งานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงในวันเสาร์ที่จะถึงนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ม.ค. 2565 อาจมีการเปลี่ยนแปลง)
- ข้อดีของการใช้ระบบ EMV Contactless คืออะไร?
1. ไม่ต้องเสียเวลาแลกเหรียญโดยสารหรือสอดธนบัตรเพื่อซื้อเหรียญโดยสาร
2. ไม่ต้องออกบัตรโดยสาร ที่ต้องเสียค่าออกบัตรครั้งแรก 180 บาท (มูลค่าในการเดินทาง 100 บาท ค่ามัดจำบัตร 50 บาท และค่าธรรมเนียมการออกบัตร 30 บาท) ใช้บัตรเครดิต (หรือบัตรเดบิตในอนาคต) แตะขึ้นรถไฟฟ้าได้เลย
3. ประชาชนสามารถเชื่อมต่อการเดินทางสาธารณะหรือบริการอื่นๆ รถเมล์ ขสมก. หรือเรือไฟฟ้า Mine Smart Ferry ได้ด้วยบัตรเพียงใบเดียว
4. ตอบสนองนโยบายรัฐบาลสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society และ Smart City)
- บัตรที่ใช้ได้คือบัตรอะไรบ้าง?
เบื้องต้น ในวันเสาร์ที่ 29 ม.ค. 2565 ทาง BEM จะเปิดให้ผู้โดยสารใช้ บัตรเครดิตวีซ่า (VISA) หรือมาสเตอร์การ์ด (MasterCard) ของทุกธนาคารที่มีสัญลักษณ์ Contactless (รูปใบพัด) แตะเข้าและแตะออกที่ประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ แทนบัตรโดยสารและเหรียญโดยสารได้
ส่วนบัตรเดบิตและบัตรประเภทอื่นๆ เช่น บัตรเติมเงินหรือพรีเพดการ์ด BEM จะขยายบริการภายในปลายปี 2565
- ต้องลงทะเบียนบัตรเครดิตก่อนหรือไม่?
ไม่ต้องลงทะเบียน ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 29 ม.ค. 2565 สามารถใช้บัตรเครดิตชำระค่าโดยสาร โดยแตะเข้าและแตะออกที่ประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติได้เลย
ส่วนการลงทะเบียน มีไว้สำหรับดูข้อมูลการเดินทาง สามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ https://www.mangmoomemv.com โดยใช้อีเมลและหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ต้องการสมัคร แล้วเข้าสู่ระบบโดยอีเมลและรหัสผ่านที่ตั้งไว้ เมื่อใช้บัตรเครดิตใบไหนแตะเข้าระบบไปแล้ว สามารถเพิ่มข้อมูลบัตรเครดิตใบนั้นเพื่อดูข้อมูลการเดินทางย้อนหลังได้
- ถ้าบัตรเครดิตไม่มีสัญลักษณ์ Contactless ต้องทำอย่างไร?
ปัจจุบันบัตรเครดิตทุกธนาคารได้ติดตั้งระบบ Contactless มาตั้งแต่ปี 2558 เช่น VISA Paywave หรือ MasterCard PayPass โดยมีสัญลักษณ์รูปใบพัด แต่สำหรับบัตรเครดิตรุ่นเก่าที่ไม่มีระบบ Contactless และยังไม่หมดอายุ สามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์ของผู้ออกบัตรเครดิตเพื่อขอออกบัตรทดแทนได้ โดยมีค่าใช้จ่ายตามที่ผู้ออกบัตรเครดิตกำหนด
- อัตราค่าโดยสารเป็นอย่างไร?
คิดอัตราค่าโดยสารปกติตามระยะทาง เช่นเดียวกับบัตรบุคคลทั่วไป (Adult Card) โดยอัตราค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท สำหรับสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง และสูงสุด 70 บาท สำหรับสายสีน้ำเงินเชื่อมต่อสายสีม่วงที่สถานีเตาปูน
- ดูข้อมูลการเดินทางได้หรือไม่?
สามารถตรวจสอบข้อมูลการเดินทางได้ทางเว็บไซต์ https://www.mangmoomemv.com เลือกเมนู "ตรวจสอบข้อมูลการเดินทาง" เลือกประเภทบัตร VISA หรือ MasterCard กรอกเลขที่บัตรเครดิต 16 หลัก เดือน/ปีที่หมดอายุบัตร และรหัส CVV 3 หลัก
หรือสามารถลงทะเบียนสมาชิก เข้าสู่ระบบ แล้วเพิ่มข้อมูลบัตรเครดิต เพื่อดูข้อมูลการเดินทางย้อนหลังได้อย่างสะดวก
- สามารถใช้บัตรเครดิตแตะขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสได้หรือไม่?
ณ ปัจจุบันไม่สามารถทำได้
ยกเว้น บัตรเครดิตอิออน แรบบิท แพลทินัม สามารถแตะขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ โดยใช้วงเงินในบัตรแรบบิท ส่วนการแตะขึ้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง รวมทั้งรถเมล์ ขสมก. และระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ที่รับบัตรเครดิต จะใช้วงเงินบัตรเครดิต
- การแตะบัตรขึ้นรถไฟฟ้า จะได้รับคะแนนสะสมหรือไม่?
ณ ปัจจุบันขึ้นอยู่กับผู้ออกบัตรเครดิตกำหนด เช่น ใช้จ่ายทุก 25 บาทได้ 1 คะแนนสะสม จะต้องเดินทางมากกว่า 5 สถานีขึ้นไป จึงจะได้คะแนนสะสม 1 คะแนน
ยกเว้นบัตรเครดิตของผู้ให้บริการบางแห่ง เช่น บัตรเครดิต KTC, บัตรเครดิตกรุงศรี จะยกเว้นคะแนนสะสมในหมวดขนส่งสาธารณะ เช่น รหัสหมวด MCC 4111 หมวดการคมนาคมขนส่งผู้โดยสารระหว่างตัวเมืองและชานเมือง รวมถึงเรือข้ามฟาก
- ข้อควรระวังในการใช้บัตรเครดิตขึ้นรถไฟฟ้าหรือระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ
1. ผู้ถือบัตรเครดิต ควรลงลายมือชื่อหลังบัตรทันทีที่ได้รับบัตรจากผู้ออกบัตร
2. เก็บรักษาบัตรเครดิตไว้กับตัวอย่างมิดชิด ไม่ควรให้บัตรเครดิตแก่บุคคลอื่น
3. เมื่อแตะบัตรเครดิตเสร็จแล้ว ให้เก็บใส่กระเป๋าสตางค์ เก็บไว้มิดชิดเหมือนเดิมเพื่อป้องกันการสูญหาย
4. โปรดดูแลกระเป๋าสตางค์ สัมภาระ และสิ่งของมีค่าขณะเดินทาง โดยเฉพาะช่วงที่ผู้โดยสารหนาแน่น
5. ระวังอย่าเผยแพร่ข้อมูลหน้าบัตรเครดิต โดยเฉพาะเลขที่บัตรเครดิต 16 หลัก เดือน/ปีที่หมดอายุบัตร และรหัส CVV 3 หลัก
6. เมื่อบัตรเครดิตสูญหายหรือถูกขโมย ให้ โทร.แจ้งอายัดแก่ผู้ออกบัตรทันที