xs
xsm
sm
md
lg

จับตาเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน ม.ค. พลิกเกมลงทุน "ทองคำ" รอจังหวะราคาเข้าซื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนมกราคมในสัปดาห์นี้ กำหนดราคา "ทองคำ" ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของปี นักลงทุนรุ่นใหม่มองกรณีเงินเฟ้อพุ่งแรงจะกดดัน FED เร่งใช้นโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ย ประกอบกับได้ผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจ ผลักดันราคาทองคำและน้ำมันเป็นขาขึ้น ประเมินราคาทองคำมีโอกาสทดสอบจุดสูงสุดเดิมที่ 2,075 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และมองแนวรับขาลงที่ 1,670 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ขณะที่ "น้ำมันดิบ" อาจแตะระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า นักลงทุนที่ลงทุนใน "ทองคำ" จะต้องจับตาการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ หรือดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สหรัฐอเมริกา เดือนมกราคม ที่จะเปิดเผยในวันพฤหัสบดีนี้ (10 ก.พ.) หากตัวเลข CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 7.1% มีโอกาสสูงที่ "ทองคำ" จะถูกเทขายจากแรงกดดันที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ต้องเร่งใช้มาตรการเคร่งครัดทางการเงินในการประชุมเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งตอนนี้มีโอกาสสูงถึง 30% ที่อาจจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งเดียวถึง 0.50% เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ แต่หากตัวเลขเงินเฟ้อไม่เพิ่มสูงขึ้น หรือลดลงเล็กน้อยอาจจะเป็นผลดีต่อราคาทองคำ เพราะจะเป็นการลดแรงกดดันของ FED ในการเร่งขึ้นดอกเบี้ย และการที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง "ทองคำ" จะเป็นสินทรัพย์ทางเลือกของนักลงทุนในการถือเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ในเชิงกราฟเทคนิค "ทองคำ" กำลังอยู่ในช่วงของการสะสมกำลังในกรอบ Sideway ใหญ่มาตลอดหนึ่งปี โดยหลังจากที่ราคาขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ที่ 2,075 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ราคาทองคำก็ไม่สามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้อีก ขณะเดียวกัน หลังจากลงไปทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,690 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาทองคำก็ไม่ทำจุดต่ำสุดใหม่อีกเช่นกัน และในขณะนี้แนวโน้มราคาทองคำกำลังยกโลว์สูงขึ้น ซึ่งรูปแบบดังกล่าวหากราคาเลือกทางชัดเจนว่าจะเป็นขาขึ้น หรือขาลง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของราคาที่รุนแรง

"เป็นไปได้ว่าภายในหนึ่งถึงสองเดือนไม่เกินจากนี้ ราคาทองคำจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นขาขึ้น หรือขาลง เพราะรูปทรงของราคาที่เป็นสามเหลี่ยมบีบตัวแบบนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ทั้งพุ่งขึ้นและร่วงลงแรง สำหรับผู้ที่มองการลงทุนระยะยาวแนะนำให้รอราคาทองคำเลือกทางที่ชัดเจนก่อน ส่วนนักเทรดให้เน้นเก็งกำไรระยะสั้น"

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดการเปลี่ยนแปลงและผลักดันราคาทองคำ ซึ่งนักลงทุนจะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดตลอดทั้งปีนี้ คือ ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในตะวันออกลาง รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนกับกลุ่มประเทศ NATO โดยสองเหตุการณ์นี้ ถ้าเกิดความรุนแรงขึ้นจะเป็นแรงผลักดันราคาทองคำให้กลายเป็น "ขาขึ้น" ได้

นายณพวีร์ กล่าวเสริมว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจยังมีผลต่อราคา "น้ำมันดิบ" ให้ปรับตัวขึ้นอีกด้วย ล่าสุด ราคาได้ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี และราคาน้ำมัน WTI ปรับตัวขึ้นแล้วกว่า 21% ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่มุมมองทางด้านกราฟเทคนิคราคาน้ำมัน WTI มีโอกาสที่จะแตะระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ตามที่สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจหลายแห่งได้มีการคาดการณ์ไว้ โดยแนวโน้มในระยะสั้นถึงกลาง ยังเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน ประกอบกับกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (OPEC) ยังไม่ยอมลดกำลังการผลิตตามที่ประเทศสหรัฐฯ ร้องขอ จึงยังเป็นปัจจัยที่ผลักดันราคาทองคำอย่างต่อเนื่อง

"ปัจจัยที่จะส่งผลต่อราคา "ทองคำ" มากที่สุด คือความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจ แต่จะส่งผลบวกในระยะสั้นเท่านั้น ยกเว้นแต่จะเกิดการสู้รบขึ้นจริงๆ ถึงจะผลักดันราคาในระยะยาว ส่วนปัจจัยทางด้านลบยังต้องติดตามดูนโยบายการเงินของ FED เป็นหลัก เพราะทองคำมีการเคลื่อนไหวที่ตรงข้ามกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างชัดเจน"

สำหรับกรอบราคา "ทองคำ" ประเมินในกรณีที่ราคาทองคำเป็น "ขาขึ้น" คาดว่าจะสามารถกลับไปทดสอบจุดสูงสุดเดิมที่ 2,075 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ได้ และในระยะยาวอาจจะไปได้ถึงระดับ 2,310 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แต่หากพลิกกลับเป็น "ขาลง" มองแนวรับแรกอยู่ที่ 1,670 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดเดิม แต่ถ้าหลุดจากระดับดังกล่าวอาจจะลงมาได้ถึงระดับ 1,563 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์


กำลังโหลดความคิดเห็น