ตั้งแต่ถูกคัดออกจากการคำนวณดัชนี 50 และดัชนี 100 หุ้น บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ถูกเทขาย ราคาปรับฐานลงต่อเนื่อง แต่สัปดาห์นี้มีแรงซื้อกลับข้ามา ราคาพุ่งทะยานอีกครั้ง และไม่รู้ว่านักลงทุนกลุ่มไหนเข้ามาลาก
DELTA ถูกตลาดหลักทรัพย์จับตาในความเคลื่อนไหวตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาหุ้นพุ่งทะยานโดยไม่มีปัจจัยสนับสนุน จนค่าพี/อี เรโชขึ้นไปแตะระดับ 100 เท่า
มาตรการกำกับการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ ใช้ไม่ได้ผลกับหุ้น DELTA เพราะสยบความร้อนแรงของราคาไม่ได้ จนนำไปสู่การทบทวนหลักเกณฑ์ฟรีโฟลทหรือสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย เพื่อพิจารณาหุ้นที่จะนำเข้าคำนวณดัชนี 50 หรือดัชนี 100
และ DELTA ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะเข้าสู่การคำนวณดัชนี 50 และดัชนี 100 จึงถูกตัดออกจากดัชนีทั้งสอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น และราคาปรับตัวลงตั้งแต่ปลายปี 2564 จากระดับ 400 บาทเศษ ถอยมายืนแถว 300 บาทต้นๆ ก่อนจะถูกลากขึ้นมาในเกือบทะลุ 400 บาทเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
ในช่วงที่ DELTA ถูกบรรจุในการคำนวณดัชนี 50 ยังพอทำความเข้าใจได้ว่า เหตุใดราคาหุ้นจึงพุ่งขึ้นแรง เพราะนักลงทุนรายใหญ่หรือต่างชาติซึ่งซื้อสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนี 50 ไว้ อาจลากหุ้น DELTA โดยหวังทำกำไรจากสัญญาเซ็ต 50 ฟิวเจอร์สที่ซื้อ LONG หรือซื้อดัชนีเซ็ต 50 ขึ้นเอาไว้
เพราะ DELTA มีน้ำหนักในการคำนวณดัชนี 50 ขณะที่ฟรีโฟลทต่ำ จำนวนหุ้นหมุนเวียนในตลาดมีน้อย จึงง่ายในการลากราคา และเคยลากขึ้นไปถึง 838 บาท เมื่อปลายปี 2563
เมื่อ DELTA หลุดจากการคำนวณดัชนี 50 แล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่รายใหญ่หรือต่างชาติจะเข้ามาลากราคาหุ้น
แต่ใครอยู่เบื้องหลังการเปิดเก็งกำไรหุ้นตัวนี้รอบใหม่
DELTA ถูกลากขึ้นไปยืนทรงตัวระดับ 450 บาทอยู่พักใหญ่ แต่ปลายปีที่ผ่านมา เริ่มปักหัวลงเพราะถูกถอดจากดัชนี 50 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 โดยเมื่อวันที่ 28 มกราคม ราคาทรุดลงไปปิดที่ 339 บาท จนนักลงทุนมองว่า DELTA คงปิดฉากลงแล้ว และมีโอกาสร่วงลงไปต่ำกว่า 300 บาทอีกด้วย
แต่เปิดตลาดสัปดาห์นี้ DELTA กลับดีดตัวขึ้น และราคาทะยานอย่างร้อนแรง 2 วันติด จนปิดตลาดเมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา ราคาขยับขึ้นมาปิดที่ 390 บาท ท่ามกลางมูลค่าซื้อขายที่หนาแน่น และกลายเป็นหุ้นที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดประจำวัน โดยไม่มีปัจจัยสนับสนุนที่ชัดเจน
รอบ 12 เดือนที่ผ่านมา DELTA เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 720 บาท และต่ำสุดที่ 286 บาท ปัจจุบันมีค่าพี/อี เรโชกว่า 80 เท่า ซึ่งสูงกว่าค่าพี/อี เรโช หุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นหุ้นบริษัท ฮานาไมโครอิเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ที่มีค่าพี/อี เรโช 25 เท่า
หรือหุ้นบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ที่มีค่าพี/อี เรโช 41 เท่า
KCE เปิดรอบใหม่แล้ว และคงไม่ใช่รายย่อยที่แห่เข้าไปไล่ราคา แต่น่าจะมีขาใหญ่เจ้าประจำเข้ามาจุดพลุเก็งกำไร ลากราคาพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง
ไม่แน่จริง ไม่เก่งจริง ไม่เร็วจริง อย่าริเข้าไปเสี่ยงกับ DELTA