แม้ไม่มีข่าวเผยแพร่สู่สาธารณชน แต่คนในแวดวงตลาดหุ้นส่วนหนึ่งเริ่มรับรู้แล้วว่า คดีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ทุจริต ยักยอกทรัพย์ ผ่องถ่ายไซฟ่อนเงิน หลายคดีได้ถูกตัดตอน โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรืออัยการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้อง
เพราะพยานหลักฐานที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวบรวม และร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ ไม่เพียงพอสั่งฟ้องได้ สรุปง่ายๆ คือหลักฐานอ่อน
การที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรืออัยการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีที่ ก.ล.ต. ร้องทุกข์กล่าวโทษกลุ่มคนที่กระทำความผิดร้ายแรงตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
ทั้งที่ควรเป็นเรื่องที่จะปลุกกระแสให้ประชาชนลุกฮือกันตั้งคำถามกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ และอัยการว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการสอบสวนสั่งคดีของหน่วยงานที่เป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม
เพราะการตัดตอนคดีที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษร้องทุกข์ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียง 1 หรือ 2 คดี แต่เกิดขึ้นมาแล้วนับสิบๆ คดี
เป็นไปได้หรือที่ ก.ล.ต.จะหละหลวมในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อกล่าวโทษแก๊งมิจฉาชีพที่ปล้นเงินในตลาดหุ้น ไม่ว่าการปั่นหุ้น หรือการยักยอกทรัพย์ ผ่องถ่ายไซฟ่อนเงิน โกงประชาชนผู้ลงทุน
และเป็นไปได้อย่างไรที่คดีปั่นหุ้น หรือคดียักยอกทรัพย์บริษัทจดทะเบียนที่ ก.ล.ต.ร้องทุกข์กล่าวโทษจะถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษหรืออัยการ เป่าคดีทิ้งโดยสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งทำให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่เป็นโจรใส่สูทลอยนวล
ปล่อยให้ประชาชนผู้ถือหุ้นนับหมื่นคนต้องรับเคราะห์ เพราะบริษัทจดทะเบียนที่เกิดการยักยอกทรัพย์หรือผองถ่ายเงิน มักจบลงด้วยความล่มสลาย เนื่องจากทรัพย์สินนถูกผู้บริหารบริษัทสูบออกไปเกลี้ยง จนบริษัทประสบฐานะทางการเงิน หุ้นถูกสั่งพักการซื้อขาย และสุดท้ายถูกตะเพิดพ้นจากตลาดหุ้น
ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนหอบเงินนับพันนับหมื่นล้านบาทเสวยสุข ไม่ต้องรับกรรมใดๆ แม้จะถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษ แต่อาจวิ่งเต้นล้มคดีได้
ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนบางคนไซฟ่อนเงิน จนบริษัทล่มสลาย แต่สร้างภาพเป็นนักบริหารมืออาชีพ โฆษณาชวนเชื่อว่า ได้ทุ่มเทการทำงานอย่างซื่อสัตย์และเสียสละ โดยการจัดตั้งนักลงทุนเป็นองครักษ์พิทักษ์มาร อวดอ้างว่า เป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นบริษัทที่ผู้บริหารไซฟ่อนเงิน
แต่ทำหน้าที่เป็น “หน้าม้า” คอยปกป้องแก้ต่างให้ผู้บริหารบริษัท และเคลื่อนไหวโจมตี ก.ล.ต.ที่ตรวจสอบความผิด รวมทั้งคอยตอบโต้ผู้ถือหุ้นรายอื่นที่ซักฟอกผู้บริหารบริษัทในการประชุมผู้ถือหุ้น
การล่มสลายของบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง สาธารณชนทั่วไปรู้ว่า เกิดจากผู้บริหารไซฟ่อนเงินออก และ ก.ล.ต.มีหลักฐานจนสามารถกล่าวโทษได้ แต่เมื่อส่งเรื่องไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ มักจะถูกตัดตอน ไม่ในชั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็ชั้นอัยการ จน ก.ล.ต.ท้อ
และแก้ปัญหาการ “เตะหมู” ด้วยการไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษทางอาญา เพราะเป็นช่องทางการแสวงหาประโยชน์ของบางหน่วยงาน แต่ใช้วิธีดำเนินคดีทางแพ่ง โดยการลงโทษปรับ และปรับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ นำรายได้เข้ารัฐแล้วนับพันล้านบาท
คดีที่สามารถเลี่ยงกล่าวโทษทางอาญาได้ ก.ล.ต.จะเลี่ยงดำเนินมาตรการทางแพ่ง เช่นคดีใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น หรืออินไซเดอร์เทรดดิ้ง หรือแม้แต่คดีปั่นหุ้น
แต่คดียักยอกทรัพย์ คดีสร้างหนี้เทียมเพื่อไซฟ่อนเงินออก จำเป็นต้องร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นคดีอาญา ซึ่งบทสรุปมักซ้ำรอย โดยคดีถูกตัดตอน ไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล
ขณะที่ประชาชนผู้ลงทุนนับหมื่นคนต้องหมดเนื้อหมดตัว โดยกระบวนการทางกฎหมายไม่อาจนำตัวผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่โกงมาลงโทษได้ เพราะคดีมักถูกตัดตอน
ไม่เคยมีคำชี้แจงจากกรมสอบสวนคดีพิเศษและอัยการว่า คดีอาชญากรรมร้ายแรงในตลาดหุ้นหลายสิบคดี ไม่ฟ้องด้วยเหตุใด
และไม่มีใครตรวจสอบกรมสอบสวนคดีพิเศษหรืออัยการ ถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังการตัดตอนความผิดคดีหุ้น
โจรในเสื้อสูท มิจฉาชีพในคราบผู้บริหารมืออาชีพที่ก่อคดีปล้นเงินในตลาดหุ้น และก่อโศกนาฏกรรมซ้ำซาก แต่มักลอยนวล เสวยสุขจากเงินที่ปล้นไปนับพันนับหมื่นล้านบาท