xs
xsm
sm
md
lg

“ดีเอสไอ” มีมติรับ 5 คดีพิเศษ “ยักยอกทรัพย์-อุ้มบุญ-สิ่งแวดล้อม-รุกที่สาธารณะ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - รองนายกฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบออนไลน์ มติรับ 5 คดี เป็นคดีพิเศษ

วันนี้ (25 ม.ค.) เวลา 10.00 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ครั้งที่ 1/2565 โดยใช้รูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นครั้งแรก โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รองประธานกรรมการคดีพิเศษ คณะกรรมการคดีพิเศษ และ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นกรรมการเลขานุการ

การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมที่สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.64 ผลการประชุมมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้ 1.ที่ประชุมรับทราบผลการประเมินการฝึกอบรมตามโครงการฝึกอบรมหลักสูตรสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งมีผลการประเมินอยู่ในเกณฑ์สูงมาก และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการปรับหลักสูตรอบรม โดยเน้นการฝึกภาคสนามมากขึ้น รวมทั้งให้มีการฝึกอบรมร่วมกันหน่วยงานของรัฐร่วมกัน

2.ที่ประชุมมีมติให้ความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 จำนวน 5 เรื่องประกอบด้วย เรื่องที่ 1 กรณี การทุจริตและยักยอกทรัพย์ในชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด , เรื่องที่ 2 กรณี กลุ่มบุคคลกระทำการเป็นขบวนการนายหน้าจัดให้มีการรับตั้งครรภ์แทน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย (อุ้มบุญ) , เรื่องที่ 3 กรณี ขบวนการลักลอบจัดหาหญิงไทยเพื่อรับจ้างตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) ให้กับผู้ว่าจ้างชาวต่างประเทศที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในจังหวัดหนองคาย กรณี เด็กชายแทนไท (นามสมมุติ) , เรื่องที่ 4 กรณี ขอให้ดำเนินการกับโรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรมประกอบกิจการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือนร้อนให้กับชาวบ้าน บริเวณหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง และ เรื่องที่ 5 กรณี การขุดตัก ทำลาย และยึดถือครอบครองทางสาธารณะในบริเวณพื้นที่ บึงปรีดา ต.ท่าแลง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

3.ที่ประชุมเห็นชอบให้ออกประกาศ กคพ. ว่าด้วยกำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 แทนฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบ้น เนื่องจากสถานการณ์ด้านอาชญากรรมเปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นต้องปรับปรุงรายละเอียดการกระทำความผิดให้เหมาะสม






กำลังโหลดความคิดเห็น