xs
xsm
sm
md
lg

“ดีเอสไอ” ยึดซิมเถื่อนกว่าแสนเบอร์ ลอบใช้ชื่อต่างด้าว-คนไทย โยงคอลเซ็นเตอร์ตุ๋นเหยื่อโอนเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “สมศักดิ์” เผย ดีเอสไอบุกค้น 2 แหล่งจำหน่ายซิมมือถือพบกว่าแสนหมายเลข ใช้ชื่อแรงงานข้ามชาติและคนไทยลงทะเบียน คาดแก๊งคอลเซนเตอร์นำไปใช้โอนเงิน-ฟอกเงิน

วันนี้ (24 ม.ค.) เวลา 14.30 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) พร้อมด้วย นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีดีเอสไอ ร่วมแถลงผลการจับกุมเครือข่ายจำหน่ายซิมโทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียนแล้วโดยชาวต่างด้าวที่เป็นแรงงานในประเทศไทย และบางส่วนที่ยังไม่ลงทะเบียนจำนวนมาก

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ภายหลังมีประชาชนจำนวนมากร้องขอความช่วยเหลือจากดีเอสไอ เนื่องจากถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงให้โอนเงิน มูลค่าความเสียหายทั่วประเทศหลายร้อยล้านบาท ความคืบหน้าล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เร่งช่วยเหลือ ตนจึงได้มอบหมายให้ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีดีเอสไอ สั่งการให้สำนักงานสหวิทยาการคดีพิเศษ สืบสวนเรื่องราวต่างๆ ซึ่งพบว่าเริ่มต้นจากเครือข่ายขายซิมโทรศัพท์ที่จะทะเบียนแล้ว จากการสืบสวนและรวมรวมพยานหลักฐานพบว่ามีร้านค้า 2 ร้าน คือ SIM Net unlimiteds (ซิมเน็ต อัลลิมิเต็ด) อยู่กรุงเทพ และ AOcomputer (เอโอ คอมพิวเตอร์) อยู่ที่ อ.ขุนตาล จ.เชียงราย ประกาศขายซิมทุกเครือข่ายทางเว็ปไซต์ ลาซาด้า และ Shopee

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า โดยทั้งสองร้านมีการนำบัตรประชาชนชาวต่างชาติมาลงทะเบียน ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ดีเอสไอ ได้ขอหมายศาลและลงพื้นที่ตรวจค้นทั้ง 2 ร้านพร้อมกัน โดยจุดแรกที่ บ้านพัก เขตคันนายาว กทม. พบซิมที่ลงทะเบียนแล้วและยังไม่ลงทะเบียนรวมกันแสนกว่าหมายเลข เป็นซิมที่ลงทะเบียนโดยบัตรชาวเมียนมาและกัมพูชา 8,500 หมายเลข เจ้าหน้าที่ได้ยึดมาตรวจสอบอีก 10,000 หมายเลข พบว่ามีชื่อคนไทยด้วย”

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนจุดที่ 2 ที่อ.ขุนตาล จ.เชียงราย เป็นร้านขายโทรศัพท์และอุปกรณ์ ร้านดังกล่าวไม่มีการเก็บซิมสำรองจะใช้การสั่งจองล่วงหน้า ผลการตรวจค้นพบภาพถ่ายบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทยจำนวนมากและไฟล์สั่งซื้อซิมโทรศัพท์ จึงได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดเพื่อสืบสวนต่อไป โดยการสั่งซื้อซิมโทรศัพท์ในลักษณะดังกล่าว อาจจะนำไปใช้ก่อเหตุอาชญากรรม เช่น การเปิดเว็ปพนัน การหลอกลวงและฉ้อโกงประชาชน แอปพลิเคชั่นปล่อยเงินกู้ และบางส่วนอาจจะเกี่ยวกับการฟอกเงินในขบวนการค้ายาเสพติด เพราะเมื่อมีซิมที่ลงทะเบียนแล้วจะใช้เปิดบัญชีธนาคารผ่านออนไลน์ได้

“สำหรับบทลงโทษ ผู้ประกาศขายซิม ผู้ลงทะเบียนและผู้ใช้ อาจมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) และ (2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะมีการขยายผลเรื่องคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีต่อไปด้วย ซึ่งขณะนี้จะมีมาตรการ VOIT ดำเนินการโดยดีเอสไอ เพื่อช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากการถูกหลอกลวง”

ด้าน นายไตรยฤทธิ์ เผยว่า ขณะนี้ดีเอสไอกำลังสอบสวนคดีนี้ โดยได้ทำเป็นคดีพิเศษแล้ว เนื่องจากมีผู้เสียหายจำนวนมาก และในวันที่ 26 ม.ค. เราจะเชิญสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาชี้แจงถึงการกำกับควบคุม และอาจจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้รัดกุมมากกว่านี้ และทางค่ายผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ รวมทั้งเวปไซต์ขายของออนไลน์ ต้องชี้แจงถึงการปล่อยซิมออกมาว่ามีขึ้นตอนอย่างไรกับดีลเลอร์ และหลุดออกมาได้อย่างไร โดยจากนี้ไป ดีเอสไอจะสืบสวนติดตามเอาผิดกับกลุ่มมิจฉาชีพอย่างเข้มข้นต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น