หมดข้ออ้างเรื่องพัสดุแล้ว พบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเหยื่อ ถึงบุคลากรทางการแพทย์ อ้างมีบัตรเครดิตลึกลับรูดซื้อสินค้า แอบเปิดใช้บัตรเครดิต หรืออ้างเจอสมุดบัญชีพัวพันฟอกเงิน ฟอร์มเดิมหลอกให้โอนเงินอ้างตรวจสอบบัญชี หลังเลขาธิการแพทยสภาร้องดีเอสไอ เผยแพทย์โดนไปแล้วราวสิบราย
วันนี้ (18 ม.ค.) จากกรณีที่ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อนายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีกลุ่มแพทย์ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หลอกลวงให้โอนเงินกรณีพัวพันกับคดีฟอกเงิน โดยพบว่ามีแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอโทรศัพท์มาหากลุ่มแพทย์อ้างว่าเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน ต้องโอนเงินเพื่อตรวจสอบบัญชี เบื้องต้นพบแพทย์ผู้เสียหายประมาณ 10 ราย ความเสียหายไม่เกิน 10 ล้านบาท ซึ่งดีเอสไอได้รับเรื่องไว้ และยืนยันว่าดีเอสไอไม่มีนโยบายให้ผู้เสียหายโอนเงินมาตรวจสอบบัญชีเด็ดขาด และหากมีโทรศัพท์แอบอ้างอย่าหลงเชื่อโอนเงินทันที ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรงหรือโทร.สอบถามเบื้องต้นก่อน เพราะความเสียหายเกิดขึ้นเร็วมาก ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
อ่านประกอบ : “แพทยสภา” จี้สอบคอลเซ็นเตอร์อ้างดีเอสไอขอตรวจบัญชี หลอกแพทย์โอนเงิน สูญ 10 ล้านบาท
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีบุคลากรทางการแพทย์ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทร.มา อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวหาว่าปลายสายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดกฎหมาย เช่น มีบัตรเครดิตที่ไม่เคยมีมาก่อน ไปรูดใช้ซื้อทองคำ, อ้างว่าถูกนำชื่อไปเปิดใช้บัตรเครดิตธนาคารแห่งหนึ่ง แล้วมียอดค้างชำระ หรืออ้างว่าจับกุมผู้ต้องหารายหนึ่ง ค้นเจอสมุดบัญชีกว่า 30 บัญชี และมีหนึ่งเล่มเป็นของปลายสาย กล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันในคดีฟอกเงิน โดยล่วงรู้ไปถึงข้อมูลส่วนบุคคล และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน ทำให้ปลายสายตกใจ ก่อนจะทำทีโอนสายไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือดีเอสไอ และหว่านล้อมให้โอนเงิน อ้างว่าเพื่อตรวจสอบบัญชี แต่เมื่อโอนเงินเข้าบัญชีที่กลุ่มมิจฉาชีพจัดเตรียมไว้ให้ก็จะผ่องถ่ายเงินอย่างรวดเร็ว และปิดช่องทางการติดต่อทุกชนิดในที่สุด
อย่างไรก็ตาม กลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาเตือนภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในลักษณะมีพัสดุตกค้างที่ต่างประเทศ ก็เปลี่ยนรูปแบบการกระทำความผิด และเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ประชาชนจับได้ เช่น การใช้หมายเลขโทรศัพท์แบบ VOIP (โทร.ผ่านอินเทอร์เน็ต) หรือการใช้โปรแกรมปลอมหมายเลขโทรศัพท์โทร.เข้า ซึ่งคนที่ติดตั้งแอปพลิเคชันสกรีนหมายเลขจะไม่สามารถเข้าถึงได้ การอ้างถึงบุคคลที่สามที่เป็นตำรวจหรือดีเอสไอเพื่อให้ปลายสายรู้สึกกลัว และพร้อมโอนเงินตามคำหว่านล้อม โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าว จากการจับกุมของตำรวจที่ผ่านมาพบว่าใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นสถานที่กระทำความผิด และใช้บัญชีม้าซึ่งซื้อมาจากประชาชนที่ร้อนเงิน รับจ้างเปิดบัญชีเพื่อนำไปขายต่อ แล้วเมื่อเหยื่อโอนเงินไปแล้วก็จะโอนเงินไปยังบัญชีที่สอง บัญชีที่สาม และบัญชีต่อกันไปผ่านระบบออนไลน์ เพื่อไม่ให้ตำรวจแกะรอยได้ ก่อนจะโอนไปยังผู้ร่วมขบวนการ
ปัจจุบัน ตัวเลขความเสียหายปี 2564 มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความถูกหลอกในลักษณะนี้ต่อกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์แล้วกว่า 1,600 คน มูลค่าความเสียหายสูงกว่า 1,000 ล้านบาท สำหรับการรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เบื้องต้นให้บันทึกเสียงสนทนาไว้ อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว อย่าใจอ่อนกับคำขู่ และปฏิเสธอย่างสุภาพ ยืนยันว่าจะรอหมายเรียกที่บ้านเท่านั้น และจะไปพบพนักงานสอบสวนด้วยตัวเอง ไม่โอนเงินให้ทุกกรณี โดยต้องยึดหลักเสมอว่า หากบริสุทธิ์ใจไม่ได้ทำผิดกฎหมายอย่าไปกลัว หากกลุ่มมิจฉาชีพล่วงรู้ถึงข้อมูลส่วนตัว หรือหากเผลอบอกข้อมูลส่วนตัวออกไป ให้เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่อยู่อาศัยเพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานกรณีที่ถูกนำข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบในอนาคต ส่วนคนที่หลงโอนเงินไปให้มิจฉาชีพ ให้รีบแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่อยู่อาศัย เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป