ซีบีอาร์อีฯ ชี้ปี 65 ยังเป็นปีแห่งความท้าทาย จากปัจจัยเสี่ยง ศก. และโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ระบุความต้องการลูกค้าซับซ้อนมากขึ้น แถมใส่ใจรายละเอียดเลือกสินค้า ส่งผลผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องใส่ใจพัฒนา-นำเสนอสินค้าตรงความต้องการยากขึ้น แจงนโยบาย-มาตรการรัฐต่อสถานการณ์โควิด-19 ส่วนสำคัญต่อการท่องเที่ยวช่วงครึ่งปีแรก คาดยอดขายคอนโดยังชะลอตัว แม้รัฐออกมาตรการกระตุ้น เหตุกำลังซื้อลูกค้าหดตัว เผยคอนโดใกล้มหาวิทยาลัย คอนโดใช้เครือโรงแรมบริหารยังขยายตัวดี
น.ส.รุ่งรัตน์ วีระภาคย์การุณ กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยที่ต้องจับตามองในปี 65 ทั้งในตลาดที่พักอาศัย ตลาดพื้นที่สำนักงาน ตลาดพื้นที่ค้าปลีก ตลาดพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ รวมถึงตลาดโรงแรม คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย โดย ซีบีอาร์อีคาดว่าในปี 65 จะเป็นปีแห่งความท้าทาย ทำให้ตลาดอสังหาฯ ต้องปรับตัวและเคลื่อนไหวในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับสิ่งที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ เพราะลูกค้าจะมีการคัดเลือกสินค้าอย่างละเอียด รวมถึงมีความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้นด้วย ในขณะที่นักลงทุนและผู้พัฒนาโครงการจะต้องเผชิญความท้าทายในการนำเสนอสินค้าที่เหมาะสมเข้ามาสู่ตลาดที่มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องรับรู้ถึงแนวโน้มใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อปรับกลยุทธ์และการดำเนินการให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง
นายรัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 65 อยู่ที่ 3.4% เพิ่มขึ้นจาก 0.9% จากปี 64 โดยจะขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าและผลการดำเนินงานของภาคการส่งออกเป็นหลัก นโยบายและมาตรการของรัฐบาลต่อสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 65 จะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะเข้าสู่ปีที่ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มแพร่กระจายแล้ว และเนื่องจากปัจจุบันยังเป็นช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอน จึงมีความเสี่ยงที่สำคัญหลายประการที่น่าจับตามองในปีนี้
ความเสี่ยงของการเกิดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่และการตอบสนองของวัคซีนต่อเชื้อไวรัสจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจและความเชื่อมั่นของตลาด การรับมือในระดับรัฐบาลและปฏิกิริยาของผู้คนต่อสถานการณ์จะเป็นเรื่องที่สำคัญ การตัดสินใจของรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายด้านการเงิน มาตรการกระตุ้น ข้อบังคับ รวมถึงการตัดสินใจที่สำคัญอื่นๆ จะเป็นตัวกำหนดความเคลื่อนไหวของตลาด จากการที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ รวมถึงการหยุดชะงักของธุรกิจอื่นๆ ในช่วง 2 ปีที่มีโควิด-19 ประกอบกับความไม่แน่นอนที่รออยู่ข้างหน้า ทำให้รายได้สุทธิของประชากรในประเทศเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างที่ไม่เคยมาก่อน รวมทั้งการฟื้นตัวของตลาดแต่ละภาคธุรกิจจะเกิดขึ้นไม่เท่ากันและจะปรับตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
ในปี 64 เป็นปีที่ซบเซาสำหรับตลาดคอนโดมิเนียมใน กทม. ไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่เป็นเวลาต่อเนื่องเกือบ 3 ไตรมาส ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ขณะที่ความต้องการที่พักอาศัยแนวราบยังคงแข็งแกร่ง โดยเป็นผลมาจากความนิยมของผู้ซื้อเพื่ออยู่เองที่เปลี่ยนไปสู่ที่พักอาศัยที่มีความหนาแน่นต่ำ มีพื้นที่ใหญ่ขึ้น และยืดหยุ่นมากขึ้น ในปีนี้ผู้พัฒนาโครงการจะพิจารณาเรื่องการเปิดโครงการใหม่อย่างรอบคอบ ซึ่งต้องมุ่งเน้นไปที่การตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้ซื้อในประเทศ เนื่องจากผู้ซื้อเพื่อเก็งกำไรนั้นหายไปจากตลาด
ทั้งนี้ ซีบีอาร์อีฯ คาดว่าอัตราการขายในตลาดคอนโดมิเนียมจะยังคงชะลอตัวเนื่องจากผู้ซื้อที่เป็นผู้พักอาศัยเองมักจะใช้เวลาในการตัดสินใจและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากกว่าสำหรับตลาดที่มีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง เช่น โครงการใกล้มหาวิทยาลัย หรือโครงการที่มีเครือโรงแรมบริหาร (Branded Residence) จะยังคงมีผลการดำเนินการที่ดีต่อไป แม้ว่าจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและนโยบายอื่นๆ ที่มาช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ แต่ความสามารถในการซื้อยังคงเป็นปัจจัยสำคัญและผู้ซื้อยังคงมองหาข้อเสนอที่ดีที่สุดเนื่องจากผู้ซื้อมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นถึงสถานการณ์ที่ผู้พัฒนาโครงการเผชิญอยู่
น.ส.อาทิตยา เกษมลาวรรณ หัวหน้าแผนกซื้อขายโครงการที่พักอาศัย ซีบีอาร์อี กล่าวว่า ความต้องการจากผู้ซื้อที่ซื้อเพื่อพักอาศัยเองจะมีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้กุลยทธ์เชิงรุกมากขึ้นเพื่อขายยูนิตที่ยังคงเหลือ ขณะเดียวกัน ยังต้องสร้างจุดขายที่แตกต่างให้ตัวโครงการอีกด้วยโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ซื้อที่ซื้อเพื่อพักอาศัยเองที่เปลี่ยนแปลงไป เทรนด์ที่พักอาศัยจะเน้นไปที่พื้นที่ขนาดใหญ่และฟังก์ชันที่เกี่ยวข้องกับความต้องการที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดโควิด-19 เช่น ห้องอเนกประสงค์สำหรับครอบครัว พื้นที่สีเขียวหรือเปิดโล่ง การมีสุขภาพที่ดีและเทคโนโลยี”
“สำหรับตลาดรีเซลล์หรือตลาดที่พักอาศัยมือสอง สถานการณ์โควิด-19 กลับมีผลดีบางประการในแง่ของการทำให้มีการปล่อยยูนิตที่หายากออกมาเสนอขาย ซึ่งยูนิตเหล่านี้จะหาซื้อไม่ได้ในช่วงเวลาที่สภาพตลาดเป็นปกติ ขณะเดียวกัน ความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น การมอบความสะดวกสบายให้แก่ลูกหลาน และการเติมเต็มในการใช้ชีวิตซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ซื้อชาวไทยที่ไม่มีภาระทางการเงินตัดสินใจขยายพอร์ตการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของตนให้กว้างขึ้น” น.ส.ปพิณริยา พึ่งเขื่อนขันธ์ หัวหน้าแผนกซื้อขายที่พักอาศัยรายย่อย กล่าว