เศรษฐีมิลเลนเนียลส่วนใหญ่มีแผนซื้อคริปโตเพิ่มในปีหน้า ไม่กังวลแม้ราคาร่วงช่วงที่ผ่านมา สวนทางกับมิลเลียนแนร์รุ่นใหญ่ รวมถึงนักลงทุน Gen X ที่ยังมีข้อสงสัยในสกุลเงินดิจิตอล
จากผลสำรวจความคิดเห็นนักลงทุนที่มีสินทรัพย์ที่ลงทุนได้ 1 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป (ไม่รวมที่พักอาศัยหลัก) ที่จัดทำโดยซีเอ็นบีซี พบว่า 83% ของเศรษฐีรุ่นมิลเลนเนียลหรือ Gen Y คือกลุ่มคนที่เกิดในยุคดิจิตอลช่วงปี 1980-1997 ถือครองคริปโตอยู่แล้วในขณะนี้ โดยกว่าครึ่ง (53%) มีสินทรัพย์อย่างน้อย 50% เป็นคริปโต และเกือบ 1 ใน 3 มีบิตคอยน์ อีเธอร์ และคริปโตสกุลอื่นๆ อย่างน้อย 3 ใน 4 ของมูลค่าสินทรัพย์
การถือครองคริปโตของเศรษฐีมิลเลนเนียลตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับมิลเลียนแนร์รุ่นใหญ่ กล่าวคือมีเศรษฐีรุ่นเบบี้บูมเมอร์หรือกลุ่มคนที่เกิดช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ระหว่างปี 1946-1964) แค่ 4% ที่ถือคริปโต ขณะที่กว่า 3 ใน 4 ของนักลงทุน Gen X หรือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 1965-1979 ไม่มีคริปโตเลย
ผลสำรวจนี้บ่งชี้ว่า คริปโตกำลังสร้างความแตกแยกระหว่างกลุ่มคนวัยต่างๆ ในแง่การลงทุนและการสร้างความร่ำรวย โดยขณะที่เศรษฐีรุ่นใหญ่ยังสงสัยเกี่ยวกับคริปโตและอนาคตของสกุลเงินดิจิตอลเหล่านี้ คริปโตกลับกลายเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างความร่ำรวยและต่อยอดทรัพย์สินสำหรับนักลงทุนหนุ่มสาวจำนวนมากที่เข้าสู่ตลาดนี้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ และกอบโกยผลตอบแทนอย่างรวดเร็ว
จอร์จ วอลเปอร์ ประธานสเปรกเทรม กรุ๊ป ที่จัดทำโพลล์นี้ร่วมกับซีเอ็นบีซี ย้ำว่า นี่คือความแตกต่างสำคัญระหว่างคนต่างรุ่น
แม้ราคาบิตคอยน์และคริปโตสกุลอื่นๆ พากันร่วงในช่วงที่ผ่านมา แต่เศรษฐีมิลเลนเนียลไม่มีแผนชะลอการลงทุนในคริปโต แถมเกือบครึ่ง (48%) เตรียมซื้อเพิ่มในช่วง 12 เดือนข้างหน้า, 39% คาดว่า จะถือคริปโตที่ระดับเดิมต่อไป และมีเพียง 6% ที่เล็งลดการลงทุนในคริปโต
การที่นักลงทุนรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z หรือกลุ่มคนที่เกิดหลังปี 1997 จำนวนมากกลายเป็นเศรษฐีจากเศรษฐกิจคริปโต จึงมีแนวโน้มว่า คริปโตจะยังคงเป็นศูนย์กลางการลงทุนของคนเหล่านี้ไปอีกหลายปี และทำให้เกิดสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกสำหรับบริษัทบริหารความมั่งคั่ง วาณิชธนกิจ และที่ปรึกษา เนื่องจากธุรกิจที่มีอยู่ส่วนใหญ่ของบริษัทเหล่านี้ล้วนแล้วมาจากลูกค้ารุ่นใหญ่ที่ไม่ต้องการคริปโต แต่ขณะเดียวกัน อนาคตของบริษัทเหล่านี้ยังต้องฝากไว้กับลูกค้ารุ่นใหม่ๆ ที่ต้องการคริปโตและคำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นี้
วอลเปอร์ชี้ว่า บริษัทบริหารความมั่งคั่งหลายแห่งลังเลที่จะเพิ่มคริปโตในแพลตฟอร์มการลงทุนโดยตรงเนื่องจากความเสี่ยงด้านกฎหมายและผลประกอบการ แต่ขณะที่มีผลิตภัณฑ์การเงินเกี่ยวกับคริปโตออกมามากขึ้น ซึ่งรวมถึงกองทุน ETF ที่อ้างอิงราคาคริปโต จึงมีบริษัทจำนวนมากขึ้นเริ่มนำเสนอผลิตภัณฑ์คริปโตให้นักลงทุนหนุ่มสาว
เขายังบอกอีกว่า นักลงทุนคริปโตรุ่นมิลเลนเนียลแบ่งคร่าวๆ ได้ 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่รวยจากคริปโต กับกลุ่มที่รวยอยู่แล้ว (จากมรดกหรือธุรกิจสตาร์ทอัพ) และใช้คริปโตต่อยอดความรวย
ผลสำรวจของสเปรกเทรมพบว่า 45% ของเศรษฐีมิลเลนเนียลบอกว่า รวยจากมรดก และในบรรดามิลเลนเนียลที่มีทรัพย์สิน 5 ล้านขึ้นไป มรดกเป็นสัดส่วน 75% ของสินทรัพย์ทั้งหมด
ขณะเดียวกัน มิลเลนเนียลอีกกลุ่มเจียดรายได้เล็กๆ น้อยๆ ไปลงทุนในคริปโตเมื่อปีที่แล้ว และกลายเป็นเศรษฐีเงินล้านจากผลตอบแทนจากคริปโตที่สูงกว่าหุ้นและสินทรัพย์อื่นๆ มาก วอลเตอร์ทิ้งท้ายว่า นักลงทุนเหล่านี้ดูเหมือนไม่แคร์กับภาวะผันผวนและพร้อมเสี่ยงต่อกับคริปโต