เทคโนโลยีการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล
งานหลักอย่างหนึ่งของผู้จัดการกองทุนคือการจัดสรรการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีภายใต้ความเสี่ยงที่ถูกควบคุม ผู้จัดการกองทุนจึงจำเป็นต้องจับตาการมาของสินทรัพย์ประเภทใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอเพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่นักลงทุน โดยหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีการเติบโตและได้รับความนิยมสูงมากขึ้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และมีการคาดการณ์อนาคตว่าสินทรัพย์นี้อาจไปไกลถึงขั้นมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน โดยสินทรัพย์ที่กล่าวมานี้เรียกว่า ”สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset)”
โดยตั้งแต่อดีต ระบบการเงินของแต่ละประเทศล้วนมีรัฐบาลกลางเป็นผู้ควบคุมปริมาณเงินและกำกับกติกาเองทั้งหมด จนกระทั่งปี 2009 ผู้ใช้นามแฝงว่า ซาโตชิ นากาโมโต (Satoshi Nakamoto) ได้สร้าง Bitcoin ขึ้นมาโดยหวังให้เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้เก็บรักษามูลค่า ส่งผ่านมูลค่า และแลกเปลี่ยนมูลค่าให้กับคนอื่น เป็นระบบนิเวศแบบไม่รวมศูนย์ (Decentralized Ecosystem) ที่สามารถดูแลตัวเองได้โดยปราศจากผู้ควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ โดยผ่านกลไกการทำงานของระบบบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งทุกอย่างในระบบจะถูกโปรแกรมไว้ล่วงหน้า เป็นกฎกติกาที่ทุกคนสามารถตรวจสอบและคาดการณ์ได้ โดยธุรกรรมทั้งหมดในระบบจะเปิดเผยโปร่งใสสู่สาธารณะเพื่อให้ตรวจสอบได้ และพบว่าผ่านมากว่าหนึ่งทศวรรษก็ยังไม่มีใครสามารถโกง (hack) ระบบนี้ได้ จึงเป็นเครื่องยืนยันถึงความน่าเชื่อถือของระบบนี้ในระดับสูงมาก และนำมาสู่การพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้สกุลเงินดิจิทัลทำงานได้มากกว่าการเป็นแค่สกุลเงินสกุลหนึ่งเท่านั้น
อาจกล่าวได้ว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนนี้เองคือหัวใจสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Bitcoin ที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือในระดับสูง จนทำให้สถาบันและองค์กรอิสระจำนวนมากต่างแข่งกันออกเหรียญที่พึ่งพาเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ในด้านต่างๆ เช่น เหรียญที่ใช้แทนสัญญากู้ยืมเงิน สิทธิในที่ดิน งานศิลปะ อสังหาริมทรัพย์ หรือเหรียญที่ใช้แทนทรัพย์สินแบบเดิม เช่น หุ้น และสกุลเงิน USD เป็นต้น จึงทำให้เกิดการขยายนิยามจาก “สกุลเงินดิจิทัล” ไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “สินทรัพย์ดิจิทัล”
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะได้รับการยอมรับว่ามีความปลอดภัยสูง แต่ภายใต้กระบวนการจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลในบล็อกเชนเองก็ยังมีจุดสำคัญที่พึงต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน นั่นคือ หากใครได้ตัวเลข Private Key ซึ่งเป็นรหัสลับอันแสดงสิทธิ์ของบัญชีไป คนนั้นก็จะสามารถส่งคำสั่งโอนย้ายถ่ายเททรัพย์สินทั้งหมดภายใต้บัญชีนั้นไปยังบัญชีอื่นได้ ดังนั้น การเก็บรักษา Private Key ให้ปลอดภัยจึงเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจอย่างยิ่ง และเป็นพื้นฐานที่คนเล่นสินทรัพย์ดิจิทัลควรต้องรู้ในเบื้องต้น
การเก็บสินทรัพย์ประเภทนี้ มีรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า “การเก็บใน Hot Wallet” คือ การเก็บไว้ที่ตลาดต่างๆ โดยตรงเพื่อให้พร้อมเทรดได้ทันที เช่น Bitkub, Binance หรือเก็บไว้ในกระเป๋าแบบซอฟต์แวร์ (Software Wallet) เช่น Metamask หรือ Terra Station ซึ่งอำนวยความสะดวกในการซื้อขายแลกเปลี่ยนบนตลาดแบบไม่รวมศูนย์ (Decentralized Exchange) โดยข้อดีของการเก็บใน Hot Wallet คือเราสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้ทันที เพราะกระเป๋าประเภทนี้จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้พร้อมใช้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนที่ตามมาพร้อมกับความสะดวกก็คือ การที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึงกระเป๋าประเภทนี้ได้โดยตรงนั้น ทำให้มีโอกาสที่ hacker จะเข้ามาขโมย Private Key จากกระเป๋าได้ง่าย เช่น แอบดูดข้อมูลในเครื่องเราออกไปตรงๆ หรือแอบฝังโปรแกรมดักจับการ copy paste ไว้ในเครื่อง
ดังนั้นจึงมีผู้คิดกระเป๋าอีกแบบเรียกว่า “Cold Wallet” คือ กระเป๋าที่เก็บรักษา Private Key โดยไม่มีส่วนใดเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเลย จึงค่อนข้างปลอดภัยจากการถูกขโมยข้อมูลรหัสไปได้ สำหรับรูปแบบของ Cold Wallet ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะกระเป๋าแบบฮาร์ดแวร์ (Hardware Wallet) เช่น Ledger Nano, Trezor หรือ D’Cent โดยกระเป๋าประเภทนี้มักจะออกแบบมาให้หลีกเลี่ยงการเชื่อมต่ออุปกรณ์กับอินเทอร์เน็ต และในกรณีที่ต้องการความปลอดภัยมากๆ ก็อาจออกแบบกระเป๋าที่ไม่มีการเชื่อมต่อผ่านสายเคเบิล, Wi-Fi หรือ Bluetooth กับคอมพิวเตอร์ได้
ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้เห็นธุรกิจกองทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเกิดขึ้นในไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ก็หนีไม่พ้นกฎพื้นฐานที่ต้องเริ่มจากพื้นฐานการเก็บรักษา Private Key ของกองทุนให้ปลอดภัยด้วยเช่นกัน ในกรณีนี้จะมีบริษัทผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Custody) ดูแลกระบวนการจัดเก็บการโอนย้ายทรัพย์สินไปยังบัญชีต่างๆ แบบปลอดภัยสูงสุด โดยตัวอย่างของผู้ดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำ ได้แก่ Coinbase, Anchorage Digital, BitGo หรือ Gemini เป็นต้น โดยผู้ดูแลแต่ละรายต่างก็มีการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันในการเก็บรักษา Private Key เช่น การใช้อุปกรณ์แขนกลในการหยิบรหัสที่เก็บรักษาในห้องนิรภัยอีกชั้น (Hardware Security Modules) โดยไม่มีมนุษย์เข้าถึงได้, การใช้ลายเซ็นอนุมัติจากผู้อนุมัติหลายคน (Multi Signature), วิธีแยกรหัสลับออกเป็นส่วนๆ เพื่อไม่ให้มีใครถือรหัสครบทั้งหมดในคนเดียว เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการดูแลสินทรัพย์บางรายก็อาจมีการให้บริการเกี่ยวกับการเทรด ฝาก หรือถอนครบถ้วนในที่เดียว ทำให้นักลงทุนสถาบันสามารถเข้าถึงตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน และยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้บริษัทจัดการลงทุนออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์กองทุนใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทน ผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนในอนาคตได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด