xs
xsm
sm
md
lg

"โอมิครอน" กดดันท้ายปีรั้งดัชนีหุ้นไทย หวั่นรัฐใช้มาตรการคุม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาทิศทางตลาดหุ้นไทยช่วงโค้งสุดท้ายปี 2564 ที่ต้องเผชิญแรงกดดันสำคัญจาก เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ภาพรวมคาดทำตลาดหุ้นชะลอตัวจนกว่าจะรับมือได้ รวมถึงแนวโน้มภาครัฐกลับมาใช้มาตรการเข้มงวดคุม ฉุดกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม สายการบินไม่โตตามเป้า สวนทางหุ้นส่งออกรับอานิสงส์ค่าเงินบาทอ่อนตัว

จากเดิมที่หลายฝ่ายเชื่อว่า ไตรมาสสุดท้ายปี 2564 จะเป็นไตรมาสทองคำสำหรับตลาดหุ้นไทย หลังจากที่ผ่านมาได้รับกระทบอย่างหนักหน่วงจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศตั้งแต่ช่วงต้นปี จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศล็อกดาวน์ นำไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

แต่พอ เริ่มประกาศคลายล็อกดาวน์ และกำลังจะเริ่มเปิดประเทศเพื่อผลักดันตัวเลขเศรษฐกิจให้ฟื้นคืน ตลาดหุ้นไทยกลับต้องสะดุดอีกครั้งจากการกลายพันธ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ครั้งนี้มีนามว่าสายพันธุ์ “โอมิครอน” เนื่องจากเชื้อกลายพันธุ์ใหม่นี้ถูกประกาศเตือนว่าจะเป็นการแพร่ระบาดที่รุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าวัคซีนโควิด-19 ในรูปแบบต่างๆจะป้องกัน “โอมิครอน” ได้มากน้อยเพียงใด 

ดังนั้น ข่าวการแพร่ระบาดของ “โอมิครอน” ที่เกิดขึ้น สร้างความหวั่นวิตกให้นักลงทุนทั่วโลก จนทำให้ตลาดหุ้นในทุกประเทศทรุดหนัก รวมถึงตลาดหุ้นไทยปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และยังต่อเนื่องมาจนถึงเวลานี้ เพราะหลายฝ่ายกังวลว่าหากเชื้อกลายพันธุ์ “โอมิครอน” เข้ามาระบาดในประเทศ อาจทำให้หลายธุรกิจต้องชะงักงันและส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศจากที่เคยจะเริ่มลืมตาอ้าปาก กลับต้องลงเหวอีกครั้ง

ล่าสุด “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเห็นต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่า ส.อ.ท. กำลังติดตามสถานการณ์ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากมีการแพร่ระบาดรุนแรงจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยอีกครั้งได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญจึงต้องการให้ภาครัฐได้ประชาสัมพันธ์ถึงข้อมูลข่าวสารของไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวให้ชัดเจนอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ทุกภาคส่วนเตรียมพร้อมในการรับมือ รวมไปถึงภาครัฐที่จำเป็นต้องวางมาตรการดูแล และป้องกันเพื่อลดผลกระทบ

ที่ผ่านมา เมื่อประเทศไทยมีการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินับตั้งแต่ 1 พ.ย.64 นับเป็นมาตรการที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยได้กลับมาทยอยฟื้นตัวอีกครั้ง ทว่าเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ ขณะนี้เริ่มมีแรงเทขายมากกว่าการเข้ามาลงทุน เพราะกังวลต่อการแพร่กระจายของ “โอมิครอน” ทำให้มุมมองที่เคยมีต่อไตรมาสสุดท้ายปี 2564 ของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนนั้นเปลี่ยนไปในทิศทางที่ลดน้ำหนักการาลงทุน และเตรียมรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

บลจ.ปรับพอร์ตรับมือเกมส์เปลี่ยน

“ธิดาศิริ ศรีสมิต” รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนบ บลจ.กสิกรไทย แสดงความเห็นต่อการลงทุนในช่วงนี้ว่า ระยะสั้นยังต้องติดตามข้อมูลความรุนแรงและการระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” รวมทั้งประสิทธิภาพของวัคซีนและการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงที่อยู่ในระหว่างการวิจัยพัฒนาที่มีต่อสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว คาดจะมีข้อมูลมากขึ้น 2 สัปดาห์ข้างหน้า ดังนั้น การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นโลก โดยกลยุทธ์มองเป็นจังหวะที่จะเข้าลงทุนหุ้นกลุ่มสื่อสารกลุ่มธนาคารและไฟแนนซ์ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มท่องเที่ยว และเฮลธ์แคร์  ซึ่งในระยะ 12 เดือนข้างหน้า บลจ.กสิกรไทยยังมีมุมมองบวกต่อหุ้นไทยที่ 1,850 จุด

ด้าน “สมชัย อมรธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย แสดงความเห็นว่า บลจ.กรุงไทยได้ปรับพอร์ตลงทุน โดยถือเงินสดเพิ่มขึ้นในวันแรกหลังจาก “โอมิครอน” ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยและหุ้นทั่วโลก ขณะที่ระยะต่อไปไม่ต้องรีบร้อนเข้าลงทุนจนกว่าจะมีข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ช่วงตลาดปรับฐานลงมาและมีความผันผวน มองว่ายังมีจังหวะให้เข้าลงทุนซื้อหุ้นบางตัว หรือเปลี่ยนกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากโควิด-19 รอบใหม่อย่างกลุ่มเฮลธ์แคร์ หุ้นกลุ่มปันผลสูง และกลุ่มหุ้น Laggard ที่ราคายังปรับเพิ่มขึ้นได้ไม่มาก (กลุ่มเทคโนโลยี) หาก “โอมิครอน” ไม่มีความรุนแรง และสามารถมีวัคซีนป้องกันได้ช่วงต้นปี 65 หุ้นได้ประโยชน์จะกลับมาเป็นกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงกลุ่มเปิดเมืองทั้งหุ้นไทยและต่างประเทศ

“คาดดัชนีหุ้นไทยปีนี้ยังยืนที่แนวต้าน 1,640 จุด และแนวรับ 1,560-1,570 ส่วนปีหน้าที่ 1,740 จุด ผลตอบแทนหุ้นไทยใกล้เคียงกับหุ้นต่างประเทศที่ระดับ 8-9%”

จากความคิดเห็นของผู้จัดการกองทุนสะท้อนว่า ด้วยราคาหุ้นและความเสี่ยงจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ในปัจจุบัน กลยุทธ์การลงทุนหุ้นจึงถูกแนะนำให้เน้นถือเงินสดระดับ 10-20% และเฝ้ารอโอกาสเข้าลงทุนตลาดหุ้น เมื่อดัชนีปรับฐานลงมาในระดับที่เหมาะสม จากการเข้าสะสมหุ้นดีเพื่อสร้างผลกำไร ในกลุ่มหุ้นปลอดภัย เฮลธ์แคร์และหุ้นปันผล

โบรกฯ เชื่อหุ้นไทยรอความชัดเจน

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบีเอสที ประเมินสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ว่า จะเป็นปัจจัยกดดันดัชนีหุ้นไทยจนกว่าเริ่มเห็นทิศทางการแพร่ระบาดเริ่มควบคุมได้ ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือน โดยมีโอกาสสูงที่จะมาระบาดในไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนกลับมาลดลง รวมถึงมีแนวโน้มที่ภาครัฐจะกลับมาใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ล่าสุด บริษัท BioNTech ที่ได้พัฒนาวัคซีนร่วมกับไฟเซอร์ คาดจะปรับสูตรวัคซีนต้านสายพันธุ์ดังกล่าวสำเร็จภายใน 100 วัน

ทั้งนี้ คาดว่า หุ้นที่เจอแรงขายมากสุดจากผลกระทบ “โอมิครอน” ได้แก่ หุ้นกลุ่มโรงแรม MINT และ SHR เนื่องจากฐานรายได้หลักอยู่ในยุโรปซึ่งเริ่มพบการแพร่ระบาดมากขึ้น ตามมาด้วย AAV, AOT จากความกังวลที่การระบาดอาจทำให้จำนวนผู้โดยสารจะฟื้นตัวได้ช้าลง และ TOP  จากความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปลดลง

ขณะที่ กลุ่มถัดมาคาดว่าจะได้รับผลกระทบไม่รุนแรงเหมือนเหตุการณ์ก่อนหน้า ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมีปัจจัยบวกจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการผ่อนเกณฑ์ LTV และกำลังซื้อที่ดีขึ้น อีกลกุ่มคือกลุ่มไฟฟ้า คาดผลกระทบจำกัดมาตรการล็อกดาวน์ที่ไม่เข้มงวดเท่าครั้งก่อนจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกกระทบน้อยลงและปริมาณการใช้ไฟฟ้าถูกกระทบจำกัด 

สำหรับหุ้นที่คาดว่าจะมีแรงซื้อเข้ามามากสุด อย่างกลุ่มโรงพยาบาล BCH, CHG เนื่องจากได้ประโยชน์จากการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 SMD จะทำให้มีความต้องการเครื่องมือแพทย์สูงขึ้น รวมถึงหุ้นถุงมือยาง STGT ได้ประโยชน์จากความต้องการใช้ในระดับสูง

ส่วนหุ้น TU, ASIAN, KCE, HANA, NER, SUN จะได้อานิสงส์จากจากเงินบาทอ่อน ตามมาด้วยความต้องการสินค้า IT จะยังอยู่ในระดับสูงมียอดขายสินค้า และการลงทุนระบบ IT จะปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีผลต่อ COM7, SIS, SYNEX

“ธีรดา ชาญยิ่งยงค์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังแกว่งแคบเป็นไปตามที่คาดไว้ เนื่องจากอยู่ในช่วงของการรอดูความคืบหน้าของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะต้องติดตามเพราะยังไม่มีความชัดเจน ทำให้ตลาดไม่ไปไหนไกล โดยตลาดยังได้รับแรงกดดันจากหุ้นขนาดใหญ่ที่ปรับตัวลงหลังเงินบาทอ่อนค่ามาก ล่าสุดมาแถว 33.85 บาท/ดอลลาร์ ทำให้ต้องระวัง Fund Flow ไหลออก

“ศรชัย สุเนต์ตา” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO) เปิดเผยว่า ไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอน เป็นสิ่งยืนยันความจริงที่ว่าโควิด-19 จะยังอยู่กับพวกเราไปอีกนาน และมีความเป็นไปได้ที่จะมีไวรัสกลายพันธุ์อื่นๆ เกิดขึ้นในอนาคตต่อไป ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัว และเตรียมความพร้อมเพื่อปรับพอร์ตการลงทุนให้รองรับกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ

โดยคาดว่า ตลาดการลงทุนในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้ายังมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงเรื่องไวรัสกลายพันธุ์ โดยเฉพาะในระหว่างที่กำลังรอผลการศึกษาของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนหลายแห่งว่า วัคชีนที่ใช้กันในปัจจุบันจะยังมีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนได้หรือไม่ และความรุนแรงของผู้ป่วยจะมากหรือน้อยกว่าไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีการแพร่ระบาดก่อนหน้านี้ 

นอกจากนี้ คาดว่าประเด็นในเชิงลบจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสไปยังประเทศต่างๆ ในช่วง 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ แม้ นักลงทุนจะยังคงมีความกังวลต่อประเด็นการพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นตื่นตระหนก (panic) จนเกินไป เนื่องจากข้อมูลความรู้ในประเด็นนี้ยังมีไม่มากเท่าไรนัก โดยตลาดจะมีการคาดการณ์ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบจนกว่าตลาดจะได้รับการยืนยันจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า 

ดังนั้น ตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปัจจุบันมี valuation ค่อนข้างแพง และอยู่ในช่วงใกล้ปลายปีที่กิจกรรมการซื้อขาย (trading activity) จะลดลงอยู่แล้ว ประกอบกับเข้าใกล้เทศกาลวันหยุด จึงมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ (side way) และจะได้รับแรงกดดัน เรื่อง downside มากกว่า upside โอกาสที่ตลาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงจึงเป็นไปได้อย่างจำกัด

จากปัจจัยข้างต้น SCB CIO ประเมินสมมติฐานเพื่อใช้ในการวางแผนกลยุทธ์การลงทุนเพื่อเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์นี้เป็น 2 กรณี ดังนี้คือ กรณีเลวร้าย (Worse case) เกิดขึ้นในกรณีที่หากผลการศึกษาพบว่าวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อโควิดซ้ำในคนที่ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 โดสแล้วในวงกว้างได้

นั่นหมายความว่า การฉีดวัคซีนทั่วโลกจะต้องเริ่มต้นกันใหม่หรือไม่ แม้ว่าจะไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด เพราะวัคซีนที่ประชากรโลกได้รับไปแล้วลดอัตราการเสียชีวิต หรือหลีกเลี่ยงจากอาการป่วยหนักได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการกลับมาติดเชื้ออีกครั้ง ส่งผลให้ประเทศต่างๆ จะกลับมาดำเนินมาตการป้องกันการแพร่กระจายไวรัสกันอีกรอบ เช่น Social distancing แบบเข้มข้น การปิดประเทศเป็นบางส่วน (partial lock down) โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง หรือกำลังความสามารถในการรับมือด้านสาธารณสุขไม่เพียงพอ โดยการพัฒนาและการระดมการฉีดวัคซีนใหม่จะรวดเร็วมากขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา และฉีดวัคซีนใหม่ให้อยู่ในระดับที่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบอีกรอบ โดยเฉพาะในภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร การท่องเที่ยว การเดินทาง เป็นต้น ห่วงโซ่การผลิต (Supply chain) จะกลับมาถูกกระทบอีกครั้ง เพราะการปรับโครงสร้าง supply chain ของประเทศต่างๆ ต้องใช้เวลา

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อน่าจะปรับตัวลดลงได้จากอุปสงค์ในภาคการบริโภคที่หดตัว และราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลง แม้ว่า supply disruption จะทำให้ราคาสินค้าบางประเภทปรับเพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ชะลอลง จะทำให้ราคาสินค้าลดลงมากกว่า

ส่วน ทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะปรับท่าทีจากการถอนการอัดฉีดสภาพคล่องตามที่ตลาดรับรู้ไปแล้ว กลับมาเป็นความกังวลผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโอมิครอนต่อเศรษฐกิจ และชะลอการถอนการอัดฉีดสภาพคล่อง ในขณะที่มีแนวโน้มที่ดอกเบี้ยจะชะลอระยะเวลาการปรับขึ้นออกไป

สำหรับนโยบายการคลังเผชิญข้อจำกัดทางด้านหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น จากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจได้มากเหมือนเดิม

ดังนั้น ภาพรวมใน กรณี worse case นี้ ตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงต่อ โดยประเมินว่าจะลดลงได้ถึง 20% เพราะ panic sell อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงจะน้อยกว่าช่วงที่เกิดการระบาดครั้งแรกเมื่อปี 2563 ประมาณครึ่งหนึ่ง เพราะครั้งนี้ไม่ได้เกิดการปิดเมืองเต็มรูปแบบทั่วโลก (fully global lock down) และทุกประเทศเรียนรู้การรับมือได้ดีขึ้นจากประสบการณ์ที่ผ่านมา

และอีกหนึ่งกรณีคือ กรณีปกติ (Normal most likely case) เกิดขึ้นในกรณีที่วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกัน แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพที่ลดลง และอาจมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการฉีดเข็มที่ 3 booster dose ส่งผลให้การระบาดของโอมิครอนจะกระจายไปหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ เพราะประชากรโลกมีการฉีดวัคซีน 2 เข็มเป็นจำนวนมากแล้ว (ยกเว้นประเทศในแถบทวีปแอฟริกา) ซึ่งตลาดหุ้นจะถูกแบ่งผลกระทบออกเป็น 2 กลุ่มคือ

กลุ่มประเทศที่ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนต่อประชากรเป็นจำนวนมากแล้ว และเป็นประเทศผู้ครอบครองการผลิตวัคซีน ที่หากจำเป็นต้องมีการฉีด booster dose และวัคซีนรุ่นใหม่จะทำได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอ เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ดังนั้น ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นได้บ้าง แม้ว่า upside จะอยู่ในวงจำกัด เพราะเข้าใกล้ปลายปีที่ trading activity จะชะลอตัวลงตามการเข้าใกล้ช่วงเทศกาลวันหยุด และประเทศจีนที่ดำเนินนโยบาย zero covid prevention อย่างเข้มข้น

ถัดมาคือ กลุ่มประเทศที่ไม่มี technology เรื่องวัคซีนเป็นของตนเอง และต้องรอการนำเข้าเพิ่มเติม โดยเฉพาะวัคซีนสูตรใหม่ จะกระจายและฉีดเข็มกระตุ้น booster dose ได้ช้ากว่าประเทศในกลุ่มแรก ทำให้เศรษฐกิจจะถูกผลกระทบมากกว่าจาก partially lock down และการปิดกั้นการเดินทางระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อจะไม่ปรับตัวลดลง และอาจได้รับผลกระทบจากปัญหา supply chain ที่ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

โดยรวม ผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดรอบนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อ และนโยบายการถอนสภาพคล่องจะส่งกระทบต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging market) มากกว่า โดยเฉพาะกลุ่ม emerging southeast Asia ที่มีการกลับมาเปิดประเทศ (reopening) เพื่อรับนักท่องเที่ยวกันไปแล้วก่อนภูมิภาคอื่นในช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีความเสี่ยงสูง การแพร่ระบาดจากโอมิครอน และการท่องเที่ยวจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ดังนั้น ตลาดหุ้นในประเทศกลุ่มนี้จะได้รับแรงกดดันต่อไปจนถึงปีหน้า

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอน และความเสี่ยงในการลงทุนจากตลาดที่มีความผันผวนสูง ทาง SCB CIO จึงแนะนำการลงทุนที่เป็นโอกาส และการลงทุนที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น กลุ่ม healthcare โดยเฉพาะหุ้นหรือกองทุน healthcare ที่มีการลงทุนในบริษัทผู้ผลิตวัคซีนและยา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษาโควิด-19 ที่ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน

ถัดมาคือหุ้นหรือกองทุนในกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากธีม work from home ซึ่งส่วนใหญ่ คือ บริษัทในกลุ่ม technology ขนาดใหญ่และหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนและความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

ส่วนหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในช่วงนี้ คือ หุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวกับธีมการเปิดประเทศ (reopening) อย่างท่องเที่ยว โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ถัดมาคือ หุ้นหรือกองทุนที่ลงทุนในประเทศที่เศรษฐกิจมีการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก เช่น ตลาดหุ้นไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น