xs
xsm
sm
md
lg

SCB CIO แนะปรับกลยุทธ์การลงทุนมุ่งรับมือโควิดโอไมครอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



SCB CIO แนะปรับกลยุทธ์การลงทุนเพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วงตลาดผันผวน หาจังหวะเข้าลงทุนหุ้นกลุ่ม Healthcare ที่ลงทุนในบริษัทผลิตวัคซีนและยา กลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากธีม Work from home เช่น กลุ่ม Technology รวมทั้ง กลุ่มภูมิภาคที่มีความเสี่ยงเรื่องโควิดน้อยกว่าประเทศอื่น เช่น ประเทศที่มีการคิดค้น Technology เกี่ยวกับวัคซีนเป็นของตนเอง และตลาดหุ้นจีน ที่ทางการมีนโยบาย Zero tolerance covid ประกอบกับ Valuation ปรับตัวลงมากในปีนี้จากการปรับฐาน ขณะที่ในระยะยาวตลาดยังมีแนวโน้มในการเติบโตที่ดี ส่วนกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประเทศ ท่องเที่ยว โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ หุ้นอินเดีย ซึ่งเสี่ยงต่อการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และกลุ่มน้ำมัน เนื่องจากอุปสงค์ และอุปทานมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างมาก

นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO) เปิดเผยว่า ไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอน เป็นสิ่งยืนยันความจริงที่ว่า โควิด-19 จะยังอยู่กับพวกเราไปอีกนาน และมีความเป็นไปได้ที่จะมีไวรัสกลายพันธุ์อื่นๆ เกิดขึ้นในอนาคตต่อไป ดั่งเช่นสายพันธุ์ที่พบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ อัลฟา และเดลตา ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และมีการเตรียมความพร้อมเพื่อปรับพอร์ตการลงทุนให้รองรับกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ

ทั้งนี้ คาดว่าตลาดการลงทุนในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้ายังมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงเรื่องไวรัสกลายพันธุ์ โดยเฉพาะในระหว่างที่กำลังรอผลการศึกษาของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนหลายแห่งว่า วัคชีนที่ใช้กันในปัจจุบันจะยังมีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอนได้หรือไม่ และความรุนแรงของผู้ป่วยจะมากหรือน้อยกว่าไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีการแพร่ระบาดก่อนหน้านี้ ขณะที่ประเด็นในเชิงลบจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสไปยังประเทศต่างๆ ในช่วง 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ ถึงแม้ว่าหลายประเทศจะมีการออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดได้อย่างรวดเร็วก็ตาม แต่ความกังวลยังคงมีอยู่ จากการที่ไวรัสกลายพันธุ์นี้มีแนวโน้มที่จะติดต่อกันได้ง่ายกว่าไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ

ปัจจุบันนักลงทุนจะยังคงมีความกังวลต่อประเด็นการพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนที่เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นตื่นตระหนก (panic) จนเกินไป เนื่องจากข้อมูลความรู้ในประเด็นนี้ยังมีไม่มากเท่าไรนัก โดยตลาดจะมีการคาดการณ์ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบจนกว่าตลาดจะได้รับการยืนยันจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า ดังนั้น ตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปัจจุบันมี valuation ค่อนข้างแพง และอยู่ในช่วงใกล้ปลายปีที่กิจกรรมการซื้อขาย (trading activity) จะลดลงอยู่แล้ว ประกอบกับเข้าใกล้เทศกาลวันหยุด จึงมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ (side way) และจะได้รับแรงกดดัน เรื่อง downside มากกว่า upside โอกาสที่ตลาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงจึงเป็นไปได้อย่างจำกัด

SCB CIO ประเมินสมมติฐานเพื่อใช้ในการวางแผนกลยุทธ์การลงทุน เพื่อเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์นี้เป็น 2 กรณี ดังนี้

1) กรณีเลวร้าย (Worse case) เกิดขึ้นในกรณีที่หากผลการศึกษา พบว่า วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อโควิดซ้ำในคนที่ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 โดสแล้วในวงกว้างได้ นั่นหมายความว่า การฉีดวัคซีนทั่วโลกจะต้องเริ่มต้นกันใหม่หรือไม่ แม้ว่าจะไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด เพราะวัคซีนที่ประชากรโลกได้รับไปแล้วสามารถลดอัตราการเสียชีวิต หรือหลีกเลี่ยงจากอาการป่วยหนักได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการกลับมาติดเชื้ออีกครั้ง ส่งผลให้ประเทศต่างๆ จะกลับมาดำเนินมาตการป้องกันการแพร่กระจายไวรัสกันอีกรอบ เช่น Social distancing แบบเข้มข้น การปิดประเทศเป็นบางส่วน (partial lock down) โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง หรือกำลังความสามารถในการรับมือด้านสาธารณสุขไม่เพียงพอ โดยการพัฒนาและการระดมการฉีดวัคซีนใหม่จะรวดเร็วมากขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นการพัฒนาต่อยอดของวัคซีนในรุ่นปัจจุบัน และระบบสาธารณสุขมีความชำนาญในการแจกจ่ายวัคซีนในวงกว้างแล้ว ซึ่ง SCB CIO ประมินว่า น่าจะใช้ระยะเวลารวมทั้งสิ้น 145 วัน โดยใช้ระยะเวลา 45 วัน ในการพัฒนาวัคซีน และใช้ระยะเวลา 100 วัน ในการกระจาย และฉีดวัคซีนใหม่ให้อยู่ในระดับที่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้

กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบอีกรอบ โดยเฉพาะในภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร การท่องเที่ยว การเดินทาง เป็นต้น ห่วงโซ่การผลิต (Supply chain) จะกลับมาถูกกระทบอีกครั้ง เพราะการปรับโครงสร้าง supply chain ของประเทศต่างๆ ต้องใช้เวลา ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อน่าจะปรับตัวลดลงได้จากอุปสงค์ในภาคการบริโภคที่หดตัว และราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลง แม้ว่า supply disruption จะทำให้ราคาสินค้าบางประเภทปรับเพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ชะลอลง จะทำให้ราคาสินค้าลดลงมากกว่า ในด้านธนาคารกลางของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับท่าทีจากการถอนการอัดฉีดสภาพคล่อง ตามที่ตลาดรับรู้ไปแล้ว กลับมาเป็นความกังวลผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโอไมครอนต่อเศรษฐกิจ และชะลอการถอนการอัดฉีดสภาพคล่อง ในขณะที่มีแนวโน้มที่ดอกเบี้ยจะชะลอระยะเวลาการปรับขึ้นออกไป สำหรับนโยบายการคลังเผชิญข้อจำกัดทางด้านหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น จากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาโควิด ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจได้มากเหมือนเดิม

ในกรณี worse case นี้ ตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงต่อ โดยเราประเมินว่าจะสามารถลดลงได้ถึง -20% เพราะ panic sell อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงจะน้อยกว่าช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ครั้งแรกเมื่อปี 2020 ประมาณครึ่งหนึ่ง เพราะครั้งนี้ไม่ได้เกิดการปิดเมืองเต็มรูปแบบทั่วโลก (fully global lock down) และทุกประเทศเรียนรู้การรับมือได้ดีมากขึ้นจากประสบการณ์ที่ผ่านมา

2) กรณีปกติ (Normal most likely case) เกิดขึ้นในกรณีที่วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกัน แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพที่ลดลง และอาจมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการฉีดเข็มที่สาม booster dose ส่งผลให้การระบาดของโอไมครอนจะกระจายไปหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ เพราะประชากรโลกมีการฉีดวัคซีน 2 เข็มเป็นจำนวนมากแล้ว (ยกเว้นประเทศในแถบทวีปแอฟริกา) ซึ่งตลาดหุ้นจะถูกแบ่งผลกระทบออกเป็น 2 กลุ่มคือ

- กลุ่มประเทศที่ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนต่อประชากรเป็นจำนวนมากแล้ว และเป็นประเทศผู้ครอบครองการผลิตวัคซีน ที่หากจำเป็นต้องมีการฉีด booster dose และวัคซีนรุ่นใหม่จะทำได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอ เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ดังนั้น ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นได้บ้าง แม้ว่า upside จะอยู่ในวงจำกัด เพราะเข้าใกล้ปลายปีที่ trading activity จะชะลอตัวลงตามการเข้าใกล้ช่วงเทศกาลวันหยุด และประเทศจีนที่ดำเนินนโยบาย zero covid prevention อย่างเข้มข้น เช่น ไม่ให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศ และยังไม่เปิดประเทศให้คนต่างชาติเข้าไปด้วยเช่นกัน

- กลุ่มประเทศที่ไม่มี technology เรื่องวัคซีนเป็นของตนเอง และต้องรอการนำเข้าเพิ่มเติม โดยเฉพาะวัคซีนสูตรใหม่ จะกระจายและฉีดเข็มกระตุ้น booster dose ได้ช้ากว่า ประเทศในกลุ่มแรก ทำให้เศรษฐกิจจะถูกผลกระทบมากกว่าจาก partially lock down และการปิดกั้นการเดินทางระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เงินเฟ้อจะไม่ปรับตัวลดลง และอาจได้รับผลกระทบจากปัญหา supply chain ที่ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มมากขึ้นอีก และธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงดำเนินนโยบายปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE tapering) ตามกำหนดเดิม

ดังนั้น ผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดรอบนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อ และนโยบายการถอนสภาพคล่องจะส่งกระทบกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging market) มากกว่า โดยเฉพาะกลุ่ม emerging southeast Asia ที่มีการกลับมาเปิดประเทศ (reopening) เพื่อรับนักท่องเที่ยวกันไปแล้วก่อนภูมิภาคอื่นในช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีความเสี่ยงสูงการแพร่ระบาดจาก โอไมครอน และการท่องเที่ยวจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ดังนั้น ตลาดหุ้นในประเทศกลุ่มนี้จะได้รับแรงกดดันอยู่ต่อไปจนถึงปีหน้า

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอน และความเสี่ยงในการลงทุนจากตลาดที่มีความผันผวนสูง ทาง SCB CIO จึงแนะนำการลงทุนที่เป็นโอกาส และการลงทุนที่ควรหลีกเลี่ยงดังต่อไปนี้ การหาจังหวะเข้าลงทุนเมื่อตลาดมีการปรับฐานจากความกังวลเรื่องโควิดในช่วงนี้ ได้แก่

- กลุ่ม healthcare โดยเฉพาะหุ้น หรือกองทุน healthcare ที่มีการลงทุนในบริษัทผู้ผลิตวัคซีน และยา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษาโควิด ที่ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน

- หุ้นหรือกองทุนในกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากธีม work from home เช่น หุ้นกลุ่ม technology ที่มีลักษณะเป็นหุ้นคุณภาพที่มีโอกาสเติบโตสูง (quality growth) ซึ่งการเติบโตของกำไรอยู่ในระดับสูง และที่มาของรายได้มีการกระจายตัวในหลากหลายธุรกิจหลัก ตลอดจนมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง ซึ่งส่วนใหญ่ คือ บริษัทในกลุ่ม technology ขนาดใหญ่

- หุ้นหรือกองทุนในกลุ่มภูมิภาคที่จะมีความเสี่ยงเรื่องโควิดต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศหรือภูมิภาคอื่น เช่น กลุ่มประเทศที่มีการคิดค้น technology เกี่ยวกับวัคซีนเป็นของตนเอง ดังนั้น เมื่อมีการระบาด หรือมีการกลายพันธุ์ในอนาคตจะสามารถพัฒนาวัคซีน และนำมาใช้กับประเทศของตนเองได้ก่อน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เช่น สหรัฐฯ และยุโรป นอกจากนี้ ตลาดทั้ง 2 แห่ง ยังเป็นตลาดที่มีหุ้นในกลุ่ม technology และกลุ่ม healthcare เป็นสัดส่วนที่สูงอีกด้วย

- หุ้นหรือกองทุนในตลาดจีน โดยประเทศจีนมีความเสี่ยงเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 น้อยกว่าประเทศอื่น เนื่องจากใช้นโยบาย zero-tolerance covid ในขณะที่ valuation ได้ปรับลดลงมามากแล้วจากการปรับฐานในปีนี้ นอกจากนี้ ตลาดยังมีแนวโน้มเติบโตอยู่ในระดับที่ดีในระยะยาว

- การลงทุนในกลุ่มที่เป็นเทรนด์การเติบโตระยะยาว 10-20 ปีข้างหน้า ที่เรียกว่า super thematic เช่น หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ หุ้นกลุ่มพลังงานทางเลือก EV car, Energy storage และ ESG เป็นต้น เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกล้วนมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดปัญหาโลกร้อน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทำให้มีเม็ดเงินลงทุนและความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งในปัจจุบันและต่อเนื่องไปในอนาคตข้างหน้าอีกหลายสิบปี

- หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม technology infrastructure เช่น Digital platform, Fintech, Metaverse, 5G - 6G, Semiconductor เป็นต้น

สำหรับหุ้นในกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในช่วงนี้ ได้แก่

- หุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวกับธีมการเปิดประเทศ (reopening) เช่น ท่องเที่ยว โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

- หุ้นหรือกองทุนที่ลงทุนในประเทศที่เศรษฐกิจมีการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก เช่น ตลาดหุ้นไทย

- หุ้นหรือกองทุนที่ลงทุนในตลาดอินเดีย โดยอินเดียมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว หากเริ่มมีการติดเชื้อจากสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น เพราะประชากรมีจำนวนมาก ในขณะที่ valuation ของหุ้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพง
-
หุ้นหรือกองทุนที่ลงทุนในน้ำมัน เนื่องจาก อุปสงค์และอุปทานมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการเกิด partial lock down จากการระบาดอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น