ธนาคารกสิกรไทยพิสูจน์ความสำเร็จแรกในการรุกธุรกิจตลาดภูมิภาคคว้าลูกค้า 1.6 ล้านรายในปี 2564 มองโอกาสในธุรกิจต่างประเทศเติบโตมหาศาล ชูกลยุทธ์ดิจิทัล แบงกิ้งเข้าถึงฐานลูกค้าจำนวนมาก บนความสามารถที่มากกว่าการเป็นธนาคาร ยกทัพบุกตลาดภูมิภาคด้วยแนวคิด “THE METAMORPHOSIS” กลายร่างธนาคารให้เติบโตมากกว่าเดิมแบบ "ไร้ขีดจำกัด ไร้รอยต่อ และไร้ขอบเขต" ตั้งเป้าหมายภายในปี 2566 เพิ่มสัดส่วนรายได้ของธุรกิจในต่างประเทศเป็น 5% ของรายได้สุทธิธนาคารทั้งหมดในปี 66 หรือเติบโตถึง 5 เท่า พร้อมขยายฐานลูกค้าดิจิทัลเป็น 6.5 ล้านราย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1.6 ล้านราย และเพิ่มเป็น 10 ล้านรายภายในปี 2567
นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า แม้จะอยู่ภายใต้ภาวะวิกฤตจากโควิด-19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไปทั่วโลก แต่ธนาคารกสิกรไทยยังสามารถสร้างการเติบโตของธุรกิจธนาคารในระดับภูมิภาคได้อย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2564 เติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 34% ซึ่งธนาคารได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2566 จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของธุรกิจในต่างประเทศเป็น 5% ของรายได้สุทธิธนาคารทั้งหมด หรือมีรายได้เติบโตถึง 5 เท่า พร้อมขยายฐานลูกค้าดิจิทัลเป็น 6.5 ล้านราย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1.6 ล้านราย และเพิ่มเป็น 10 ล้านรายภายในปี 2567
"เรามองการเติบโตครั้งนี้เปรียบเสมือน "METAMORPHOSIS" หรือการเติบโตผ่านการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างรวดเร็วตามเป้าธุรกิจที่ท้าทาย ภายใต้ 3 วิสัยทัศน์หลักแบบไร้ขีดจำกัด (Limitless) ไร้รอยต่อ (Seamless) และไร้ขอบเขต (Borderless) ทำให้ธนาคารกสิกรไทยจะไม่ติดกรอบอยู่แค่การทำธุรกิจในประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยจาก KASIKORN BUSINESS-TECHNOLOGY GROUP (KBTG) ทำให้สามารถจัดสรรทรัพยากรทั้งการลงทุน ผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ ได้อย่างไร้รอยต่อ และ Borderless Growth นอกจากนี้ อีกสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ศักยภาพทุกๆ ด้านของคนกสิกรไทยที่จะต้องเติบโตได้อย่างไร้ขอบเขต"
นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกและกระแสการมุ่งสู่ความยั่งยืน ส่งผลให้ภูมิทัศน์ของโลกหลังโควิด-19 เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนับเป็นโจทย์ที่มีความซับซ้อนและท้าทาย แต่ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจที่ไร้ขีดจำกัด สำหรับธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้เร็ว (Morph) และเปิดรับทักษะสมัยใหม่ ได้แก่ DECOUPLING เป็นโอกาสที่อาเซียนจะสามารถเชื่อมต่อกับสองห่วงโซ่ คือ จีนและสหรัฐฯ จากการเปิดกว้างต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับทั้งสองขั้วอำนาจ รวมถึงประเด็นของ REGIONALIZATION 2.0 จีนผันตัวเองจากแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกไปเป็นประเทศที่เน้นการส่งออกสินค้าไฮเทคและนวัตกรรม ขณะเดียวกัน่ ธุรกิจของจีนจะทยอยย้ายฐานการผลิตสินค้าทีใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะอาเซียน ซึ่งมีศักยภาพสูงในการเป็นห่วงโซ่อุปทานของจีน เพื่อรองรับตลาดผู้บริโภคชนชั้นกลางจำนวนมาก กรณี NEXT-GEN DIGITALIZATION Digital technology ที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนและสร้างโอกาสทางธุรกิจ ทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถของ SMEs อีกทั้งยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อตอบรับการเปลี่ยนผ่านสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
นอกจากนี้ ยังมีประเด็น DECARBONIZATION กระแสการมุ่งสู่สังคมที่ไร้คาร์บอนของนานาประเทศ โดยตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ที่ท้าทาย นับเป็นโอกาสทางธุรกิจในการสร้างห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain) ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียนบนเส้นทางการเติบโตยั่งยืนในอนาคตข้างหน้า และ Seamless Connectivity เติบโตอย่างไร้รอยต่อ เชื่อมต่อธุรกิจด้วยเทคโนโลยีระดับโลก
"การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดดังกล่าวเป็นทั้งโจทย์และโอกาส ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเข้าไปเปลี่ยนแปลง หรือเลือกข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่เราจะต้องทำคือ จะทำอย่างไรที่จะช่วยเหลือลูกค้าให้ก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงในโลกใหม่นี้ ซึ่งเรามั่นใจว่าด้วยเครือข่าย นวัตกรรม และทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่จะพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งจะสามารถทำได้"
นายพิพิธ กล่าวว่า คำถามในเรื่องของแตกบริษัทย่อย หรือการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งนั้น ผมมองว่า ปัจจุบันกสิกรไทยเองก็แตกบริษัทย่อยแทบจะทุกเดือนหรือทุก 3 สัปดาห์อยู่แล้ว โดยเฉพาะในแอเรียของเทคโนโลยี และธุรกิจต่างประเทศ ส่วนการตั้งบริษัทโฮลดิ้งนั้น มองว่า เมื่อเราทำอะไรที่เป็นตัวของตัวเองและเป็นวัฒนธรรมของเรานั่นจะเป็นจุดแข็งที่สุด ส่วนในเรื่องการปรับองค์กรต่างๆ จะขึ้นอยู่กับแนวคิดหรือวัฒนธรรมองค์ จุดหนึ่งที่เรามองคือ หากเราแตกไป สิ่งที่เราจะเสียไปคือ การมีส่วนร่วมกันขององค์กร และแบงก์เองเป็นธุรกิจที่ถูกกำกับดูแลที่ค่อนข้างมาก การรวมหรือแยกมีรายละเอียดปลีกย่อยมาก ดังนั้น หากเราสามารถส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดตามเป้าหมายด้วยยุทธศาสตร์การร่วมแรงร่วมใจกันจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งผมว่ากสิกรไทยเองมีความพิเศษเฉพาะตัวของตัวเองอยู่แล้ว การไปสู่จุดหมายแบบตัวเราเองน่าจะดีที่สุด
"ธุรกิจต่างประเทศเป็นเพียงเสาหลักตัวหนึ่งของธนาคาร ตลาดในประเทศกยังสามารถไปต่อได้ แต่ต้องมีการปรับไปตามสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไป ซึ่งโจทย์หลักๆที่มองไว้กมีอยู่ 3 ส่วนคือ โลกการเงินในอนาคต รวมถึงการยกระดับความสามารถความรู้ให้ทั้งบุคลากรของธนาคารและลูกค้าเพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างยั่งยืน และสุดท้ายเรื่อง ESG เพราะปัจจุบันผลประกอบการของธุรกิจไม่ได้ดูแค่กำไรที่ตัวเงินเท่านั้น แต่จะต้องมีการของการให้สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย ขณะที่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นเป็นสิ่งที่ธนาคารไม่มองไม่ได้ แต่จะต้องทำในขอบข่ายและกำหนดกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ ซึ่งในบางเรื่องเราเริ่มไปแล้ว และยังมีอีกมากที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเตรียมการ"
ด้านนายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG (KASIKORN BUSINESS-TECHNOLOGY GROUP) กล่าวว่า ประเทศจีนมีประชากรมากถึง 1,412 ล้านคน และมีการใช้โทรศัพท์มือถือ (Mobile Penetration) สูงมาก ส่งผลให้ Fintech Landscape ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในปี 2563 ที่ผ่านมา KBTG ได้มีการจัดตั้งบริษัท ไคไต้ เทคโนโลยี จำกัด (KAITAI Technology Company Limited) ที่เซินเจิ้น มีภารกิจหลัก คือ การหาบุคลากรจีนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีมาร่วมทีมเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร พร้อมทั้งต่อยอดโอกาสทางธุรกิจจากฟินเทคในจีนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากไปสู่ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน โดยความสำเร็จในก้าวปีแรกของ KBTG คือ การมีส่วนร่วมใน 14 โครงการสำคัญ ครอบคลุมในทุกประสบการณ์ทางการเงินทั้งด้านการปล่อยกู้ เงินฝาก การชำระเงิน รวมทั้งข้อมูลและการวิเคราะห์กับ 7 พันธมิตรสำคัญในประเทศจีน และมีแผนเพิ่มทีมงานให้ใหญ่ขึ้นถึง 12 เท่า ภายในปี 2569 ส่วนเป้าหมายจำนวนผู้ใช้ K PLUS ทั้งในและต่างประเทศนั้น ได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ระดับ 50 ล้านผู้ใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเฉพาะจำนวนผู้ใช้ในประเทศปัจจุบันใกล้ๆ 20 ล้านผู้ใช้แล้ว
นายภัทรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความสำเร็จของโมเดล Kasikorn China ของ World Business Group (WBG) ที่ดำเนินธุรกิจบนปรัชญา “Better Me” ที่มุ่งให้การสนับสนุนลูกค้าที่มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนและมุ่งมั่นนำพาตัวเองสู่อิสรภาพทางการเงิน สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนที่มุ่งเน้นการพัฒนาแบบยั่งยืน ภายใต้แนวคิด ESG Bank ที่สร้างโอกาสการเข้าถึงทางการเงินให้ลูกค้า ธนาคารจะนำแนวคิดธุรกิจนี้ขยายไปยังเวียดนาม ที่ได้เดินหน้าด้วยดิจิทัล แบงกิ้ง อย่างเต็มรูปแบบ ได้แก่ KBank Loan สินเชื่อดิจิทัลที่ช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายในการขออนุมัติวงเงิน และ K PLUS Vietnam โมบาย แบงกิ้งที่ต่อยอดจากต้นแบบ K PLUS ในประเทศไทย และในอนาคตจะมีการเปิดตัวธุรกิจใหม่บนโมเดล Banking-as-a Service (BaaS) ในการให้บริการมากกว่าธุรกิจการเงินที่จะเริ่มที่เวียดนามเป็นแห่งแรก เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกที่มากกว่าในการเข้าถึงและบริการทางการเงิน ช่วยให้ฟินเทครายย่อยมีโอกาสเติบโตไปพร้อมกันและเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น
สำหรับกัมพูชา ธนาคารพร้อมเปิดตัว Payroll Lending ที่ทำให้ลูกค้าได้รับสินเชื่ออย่างง่ายดายผ่านแอปพลิเคชันของพันธมิตร ส่วนในฝั่ง สปป.ลาว จะยังคงเดินหน้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานบริการ QR KBank จากปัจจุบันที่มี 1.3 แสนรายอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขยายการใช้งานให้ครอบคลุมทุกธุรกรรมการเงินของลูกค้า ในขณะเดียวกัน มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่จะช่วยยกระดับธุรกิจให้ลูกค้าผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศนี้ให้เติบโตไปพร้อมกับธุรกิจของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอีกด้วย
ทั้งนี้ เป้าหมายถัดไปของธนาคารกสิกรไทย คือ การเชื่อมต่อกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่สุดและมีประชากรจำนวนมากที่สุดในภูมิภาค โดยปัจจุบันธนาคารได้เร่งสร้างพันธมิตรธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อขยายโอกาสในการทำธุรกิจและส่งมอบบริการทางการเงินให้ลูกค้าในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีแผนในการจัดตั้งบริษัท K VISION FINANCIAL (KVF) เพื่อขยายการลงทุนด้านดิจิทัลในธุรกิจต่างๆ ด้วยเป้าหมายในการขยายฐานลูกค้าและเพิ่มจำนวนพันธมิตรทางธุรกิจ สู่การเป็น Ecosystem ทางการเงินในระดับภูมิภาค พร้อมชูแผนการสร้างบริการทางการเงินเพื่อรองรับตลาด Digital Asset ที่จะเติบโตในตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะในประเทศจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งจากเป้าหมายและพันธกิจที่ใหญ่ขึ้น ทำให้ WBG ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 1,037 คนในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นถึง 52% จากปี 2563 เพื่อขยายศักยภาพของทีมให้ไปสู่ความสำเร็จได้