"ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น" อวดรายได้ 1,512.4 ล้านบาท และกำไรปกติ 228.5 ล้านบาท ด้าน CEO มั่นใจผลการดำเนินงาน 4 กลุ่มธุรกิจแข็งแกร่ง ส่งซิกไตรมาส 4/2564 ผลการดำเนินงานโดดเด่น จ่อบุ๊ครายได้จากการขายทรัพย์สินเข้ากองทรัสต์ รับข่าวดีเปิดประเทศ ธุรกิจโลจิสติกส์สดใส พื้นที่เช่าโรงงาน/คลังสินค้าโตต่อเนื่อง กลุ่มนิคมดีมานด์พุ่ง นักลงทุนต่างชาติจ่อลงทุนเพียบ บอร์ดไฟเขียวจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.0267 บาทต่อหุ้น เล็งจ่าย 9 ธันวาคมนี้
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group รายงานผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3/2564 บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไร และกำไรสุทธิทั้งสิ้น 1,445.9 ล้านบาท และ 160.3 ล้านบาท ลดลง 10.3% และ 62.6% โดยเป็นรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ และกำไรสุทธิปกติทั้งสิ้น 1,512.4 ล้านบาท และ 228.5 ล้านบาท ลดลง 6.0% และ 47.7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2563 สำหรับผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 4,724.7 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 555.2 ล้านบาท ลดลง 2.7% และ 48.1% โดยหากพิจารณาผลประกอบการปกติ
บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 4,859.2 ล้านบาท และกำไรปกติ 694.8 ล้านบาท ลดลง 0.7% และ 37.6% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงมั่นใจในความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงิน และผลประกอบการประจำปีของบริษัทฯ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลงวด 9 เดือน ในอัตราหุ้นละ 0.0267 บาท โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 และกำหนดการจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ตามลำดับ สอดคล้องกับการจัดอันดับเครดิตองค์กรโดยทริสเรทติ้งที่ระดับ “A-” ที่ได้รับการปรับแนวโน้มมาเป็น “คงที่” สะท้อนถึงความมั่นคงของรายได้และกระแสเงินสดภายใต้กลยุทธ์ทางธุรกิจที่ชัดเจน การมีสภาพคล่องที่เพียงพอ ตลอดจนความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการบริหารการเงินท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของ 4 กลุ่มธุรกิจว่า ธุรกิจโลจิสติกส์มีผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่อง สำหรับไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ รับรู้รายได้จากธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น 301.5 ล้านบาท และ 863.0 ล้านบาท ตามลำดับ เพิ่มขึ้น 5.1% และ 0.9% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดจนสถานการณ์ความตึงเครียดของห่วงโซ่การผลิตโลก ทำให้ความต้องการโรงงาน/ คลังสินค้าสำเร็จรูป และศูนย์กระจายสินค้าคุณภาพสูงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถเซ็นสัญญาเช่าระยะสั้นผลตอบแทนสูงไปแล้วกว่า 120,000 ตารางเมตร เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเมื่อพิจารณาเฉพาะไตรมาส 3 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการเซ็นสัญญาพื้นที่โครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/ คลังสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มเติมอีกกว่า 33,928 ตารางเมตร รวมถึงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ส่งมอบโรงงาน Built-to-Suit พื้นที่รวม 8,151 ตารางเมตร ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 แก่บริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งชั้นแนวหน้าระดับโลก “ซิกโนด ซิสเท็มส์” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับแผนการขายทรัพย์สิน และ/หรือ สิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ WHART ยังคงเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ สำหรับปี 2564 นี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายจำหน่ายทรัพย์สิน 3 โครงการ คิดเป็นพื้นที่เช่าทั้งสิ้น 184,329 ตารางเมตร และมีมูลค่ารวมไม่เกิน 5,550 ล้านบาท โดยทรัพย์สินของบริษัทฯ ทุกโครงการตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์การขนส่งสินค้าของประเทศไทย ผู้เช่าเป็นผู้ประกอบการชั้นนำในกลุ่มธุรกิจ E-Commerce และ FMCG ได้แก่ “Alibaba Group-Shopee Xpress-ทีดีตะวันแดง” ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่ากองทรัสต์ WHART จะสามารถเสนอขายหน่วยทรัสต์เพิ่มทุนได้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ของปี 2564 นี้
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางธุรกิจและแสวงหา Synergy ผ่านการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ โดยช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการลงทุนในบริษัท Startups เพื่อต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ การขยายฐานธุรกิจและการสร้าง Business Model ที่แตกต่างจากธุรกิจเดิม อาทิ การเข้าซื้อหุ้น 29.40% ในบริษัท สตอเรจ เอเชีย จำกัด ผู้ให้บริการให้เช่าพื้นที่จัดเก็บทรัพย์สินส่วนบุคคลระดับพรีเมียม ภายใต้แบรนด์ “i-Store Self Storage” โดยตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป บริษัทฯ คาดว่าน่าจะเริ่มเห็นโครงการ หรือผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการประยุกต์ใช้ Innovative Technology ที่จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่บริษัทฯ ในอนาคต
ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมสำหรับไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2564 รวม 135.0 ล้านบาท และ 826.8 ล้านบาท ชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีสาเหตุหลักจากรายได้ค่าผ่านทาง (right of ways) ที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 อย่างไรก็ตาม ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 285 ไร่ (ไทย 248 ไร่/ เวียดนาม 37 ไร่) และยอดเซ็น MOU รวม 85 ไร่ (เวียดนาม) ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านการลงทุนและยอด FDI ของประเทศไทยที่ดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี ตลอดจนจำนวน Enquiry ของนักลงทุนต่างชาติที่มีเข้ามามากกว่าปีที่แล้วทั้งปี นอกจากนี้ นโยบายเปิดประเทศ มาตรการปลดล็อคการเดินทาง รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายจากการเร่งกระจายวัคซีนของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ประกอบกับในขณะนี้ ประเทศจีนมีปัญหาการขาดแคลนพลังงาน รวมถึงแนวโน้มต้นทุนพลังงานไฟฟ้าของประเทศจีนที่แพงขึ้นเนื่องจากนโยบายการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดที่ผลักดันให้กลุ่มนักลงทุนจีนและประเทศอื่นๆ มีความต้องการย้ายฐานการผลิตตามยุทธศาสตร์ China Plus One และแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและเวียดนามเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทฯ มีความมั่นใจว่ายอดขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยปีนี้จะเป็นไปตามหรือมากกว่าเป้าหมายที่บริษัทฯ วางไว้เท่ากับ 750 ไร่
ณ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย 11 แห่ง โดยอยู่ระหว่างการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่เพิ่มเติมอีก 3 โครงการ โดยคาดว่านิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 (WHA ESIE 3) และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 (WHA RY 36) จะดำเนินการสร้างเสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลายปี 2564 สำหรับการก่อสร้างส่วนต่อขยายของนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (WHA ESIE 4) จะเริ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ภายหลังจากผ่านการอนุมัติการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง (WHA IER) ซึ่งปัจจุบันได้รับการอนุมัติให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษก็จะเริ่มการก่อสร้างในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เช่นกัน
ประเทศเวียดนาม ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ มียอดขายที่ดิน 37 ไร่ และยอด MOU 85 ไร่ ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากประเทศเวียดนามมีการล็อกดาวน์ประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้การส่งมอบพื้นที่เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมีความล่าช้ากว่ากำหนด อย่างไรก็ตาม ในฐานะประเทศที่มีศักยภาพด้านการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่โดดเด่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศเวียดนามยังเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน บริษัทฯ จึงเร่งดำเนินการก่อสร้างและจัดหาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนามเพิ่มเติม ปัจจุบันเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 - เหงะอาน เสร็จสิ้นการก่อสร้างเฟส 1 ขนาดพื้นที่ 1,000 ไร่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีผู้เช่า 54% ของพื้นที่ บริษัทฯ จึงเร่งดำเนินการก่อสร้างเฟส 2 บนพื้นที่ขนาด 2,100 ไร่ นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังมีแผนการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ได้แก่ WHA Smart Technology Industrial Zone - Thanh Hoa และ WHA Northern Industrial Zone ในจังหวัดถั่งหัว ครอบคลุมพื้นที่กว่า 7,500 ไร่ โดยจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และปี 2567 ตามลำดับ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงธุรกิจสาธารณูปโภคว่า ผลประกอบการของธุรกิจน้ำในไตรมาสที่ผ่านมามีความโดดเด่น โดยบริษัทฯ มีปริมาณยอดขายและบริหารน้ำทั้งหมดในประเทศไทยและต่างประเทศสำหรับไตรมาส 3 และ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เท่ากับ 35 ลูกบาศก์เมตร และ 103 ลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 25% และ 20% ทำให้บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคเท่ากับ 588.6 ล้านบาท และ 1,770.7 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณยอดขายน้ำในประเทศมีการเติบโตดีขึ้นสำหรับทุกประเภทผลิตภัณฑ์ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจากทั้งกลุ่มลูกค้าเดิมที่ปัจจุบันไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และกลุ่มลูกค้ารายใหม่ๆ ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมีที่เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2563 เป็นต้นมา และกลุ่มโรงไฟฟ้า Gulf SRC ที่มีปริมาณการใช้น้ำในเฟส 1 ประมาณ 12,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมถึงบริษัทฯ ยังมีแผนการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์สำหรับ Gulf SRC เฟส 2 เพิ่มเติมในไตรมาส 4 ปี 2564 นี้อีกด้วย สำหรับยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Products) มีการเติบโตอย่างมากในไตรมาส 3 และ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มีจำนวนเท่ากับ 1.2 ลูกบาศก์เมตร และ 3.3 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 29% และ 94% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน
ทั้งนี้ปริมาณจำหน่ายน้ำในประเทศเวียดนามในไตรมาส 3 และ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มีจำนวนเท่ากับ 5.9 ลูกบาศก์เมตร และ 16.4 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 15% และ 21% ตามลำดับ สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในบริเวณจังหวัดฮานอย และจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดบั๊กนิญ (Bac Ninh) และจังหวัดฮึงเอียน (Hung Yen) ซึ่งบริษัท เก๋อ หล่อ วอเตอร์ ซัพพลาย (Cua Lo Water Supply) บริษัทผลิตและจำหน่ายน้ำประปาที่บริษัทฯ ร่วมลงทุนได้มีการขยายกำลังผลิตเพิ่มเป็น 8.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างส่วนขยายที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2565 เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำของลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ที่เพิ่มขึ้น
ปัจจุบันบริษัทฯ ยังเดินหน้าพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value added product) เช่น น้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) น้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) และการนำน้ำเสียมาใช้ใหม่ (Wastewater Reclamation) เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและดำเนินการก่อสร้างอีกหลายโครงการ อาทิ โรงบำบัดน้ำแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 (WHA RY36) กำลังการผลิต 2.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โครงการผลิตน้ำที่ปราศจากแร่ธาตุสำหรับจำหน่ายแก่ลูกค้านอกนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และโครงการแหล่งน้ำดิบทางเลือก กำลังการผลิต 6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เป็นต้น
ในส่วนของ ธุรกิจไฟฟ้า บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากการดำเนินงานจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าไม่นับรวมกำไร/ ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน และรายได้จากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ สำหรับไตรมาส 3 และ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เท่ากับ 292.0 ล้านบาท และ 900.9 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 13.5% และ 16.2% ตามลำดับ จากการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของรายได้ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และผลการดำเนินงานอันแข็งแกร่งของกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ทั้ง 8 โรง อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจ IPP ได้รับผลกระทบจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรทางบัญชีจากโรงไฟฟ้า Gheco-One ที่ลดลงเนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ตามแผนในไตรมาส 1 จำนวน 37 วัน และการปิดซ่อมบำรุงนอกแผนงานในไตรมาส 2 และ 3 จำนวนรวม 48 วัน ทั้งนี้โรงไฟฟ้าได้กลับมาดำเนินการตามปกติแล้วภายหลังการปิดซ่อมบำรุงดังกล่าว
สำหรับไตรมาส 3 ปี 2564 บริษัทฯ เซ็นสัญญาโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติมจำนวน 22 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยสัญญาการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาให้แก่ผู้ผลิตยางรถยนต์สัญชาติจีน “Prinx Chengshan” ขนาด 19 เมกะวัตต์ ซึ่งสัญญาดังกล่าวนับเป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาดเมกะวัตต์สูงสุดที่บริษัทฯ เคยดำเนินการมา และส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 3 บริษัทฯ มีจำนวนสัญญาเซ็นต์สะสมรวม 85 เมกะวัตต์ ตลอดจนมีสัญญาที่อยู่ระหว่างการเจรจาขั้นสุดท้ายอีกจำนวนหนึ่ง บริษัทฯ จึงมั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ 90 เมกะวัตต์ในปีนี้ นอกจากนี้ ในไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับลูกค้าเพิ่มเติมอีกราว 4 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 3 บริษัทฯ มีกำลังการผลิตโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินเชิงพาณิชย์แล้วทั้งหมด 50 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 600 เมกะวัตต์
ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม บริษัทฯ เดินหน้าสนับสนุนกลุ่มลูกค้าและนักลงทุนที่ต้องการนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาพัฒนาธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจากการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็ว ความหน่วงต่ำ และมีความสามารถในการรองรับอุปกรณ์ได้มหาศาล ด้วยแผนการลงทุนร่วมกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำสำหรับการวางแผนติดตั้งเครือข่ายและกระจายสัญญาณ 5G ควบคู่ไปกับการติดตั้งโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (FTTx) ภายในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทฯ เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G ในอนาคต
ท่ามกลางความท้าทายจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนผ่านและปรับเปลี่ยนองค์กรอย่างมียุทธศาสตร์ภายใต้แนวคิด Digital Innovation และ Transformation โดยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนากรอบความคิดของพนักงาน และสร้างวัฒนธรรมขององค์กร ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลผ่านการจัดเก็บ วิเคราะห์ และนำไปต่อยอดเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความยืดหยุ่นสามารถตอบโจทย์ความต้องการสำหรับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ล่าสุดบริษัทฯ คว้ารางวัล “Rising Star Sustainability Award” ในกลุ่มรางวัล Sustainability Excellence จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในงาน SET Awards 2021 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา และยังได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน” หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ความสำเร็จดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน รวมถึงสามารถบริหารจัดการภาวะวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการเร่งช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบให้แก่ภาคสังคมทั้งในระดับชุมชมจนถึงระดับประเทศ ผ่านการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 2 แห่งที่มีความพร้อมด้านระบบการแพทย์เพื่อทำการรักษาและติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ นอกจากนั้นบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) WHAUP ในเครือ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้รับรางวัล Outstanding Innovative Company Awards จากงาน SET Awards 2021 ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ด้วยนวัตกรรมจากโครงการ Demineralized Reclaimed Water :
และยังได้ถูกคัดเลือกและประกาศรายชื่อจากตลท.ให้เป็นหนึ่งใน “หุ้นยั่งยืน” หรือ บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ใน Thailand Sustainability Investment (THSI) ประจำปี 2564 ติดกันต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สะท้อนถึงศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับการมีบรรษัทภิบาล พร้อมสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สังคม และสิ่งแวดล้อม ในรอบปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจากภาวะโลกร้อน โดยมีการตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่ลูกค้าทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสตามหลักกำกับดูแลกิจการที่ดี และปฏิบัติงานด้านบรรษัทภิบาลให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานสากล ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมและโครงการใหม่ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม