xs
xsm
sm
md
lg

OR ไตรมาสสุดท้ายฟื้นตัว ธุรกิจ Non-Oil สู่ปกติแม้น้ำมันถูกตรึง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประเมินทิศทางธุรกิจ “ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก” หลังไตรมาส3กำไรร่วงจากการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ในประเทศ คาดเป็นจุดต่ำสุด และจะฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้าย ท่ามกลางแรงกดดันจากการตรึงราคาน้ำมันของรัฐบาล แต่ธุรกิจ Non-Oil จะฟื้นตัว ช่วยสนับสนุนผลประกอบการ

เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า ผลการดำนินงาน 9 เดือน ของปี 64 มีกำไรสุทธิ จำนวน 9,121 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 3,253 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 55.4% ทั้งจากรายได้ขาย และ EBITDA ที่เพิ่มขึ้น 34,652 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.0% และ 3,394 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.1% ตามลำดับ

โดยให้เหตุผลว่า จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในปีนี้ ทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจน้ำมันดีขึ้นจากกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันจะปรับลดลง 8% และกลุ่มธุรกิจ Non-oil ปรับตัวลดลงเล็กน้อยก็ตาม

อย่างไรก็ตามผลประกอบการไตรมาสที่ 3/64 บริษัทมีรายได้ขายและบริการ 116,792 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.40% และมีกำไรสุทธิ 1,892 ล้านบาท ลดลง 45.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 63 เนื่องจากรายได้จากการขายและบริการปรับลดลงเล็กน้อยจาสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจน้ำมันและกลุ่มธุรกิจ Non-Oil โดยปริมาณการขายของกลุ่มธุรกิจน้ำมันลดลง แม้ว่าราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์น้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่กลุ่มธุรกิจ Non-Oil รายได้ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนตามอุปสงค์ที่ลดลง เป็นปัจจัยกดดันให้ปริมาณขายรวมลดลง แต่ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย การออกกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายผ่านช่องทางอื่นๆ อาทิ การนำกลับบ้าน หรือ Take Away บริการจัดส่ง หรือ Delivery Service รวมถึง Drive-Thru ทำให้ยอดขายของกลุ่มธุรกิจ Non-Oil ลดลงไม่มากนัก ส่วนกลุ่มธุรกิจต่างประเทศยังทรงตัว

ภาพรวม แม้กำไรในไตรมาส3/64ของบริษัทจะลดลง แต่ในด้านการดำเนินงานบริษัทยังขยายไลน์ธุรกิจใหม่ๆ ต่อเนื่อง เช่นการจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อทดลองดำเนินธุรกิจการบริการยานยนต์ออนไลน์ หรือ Online Automotive Service เพื่อเป็น platform ขายสินค้าอะไหล่ยานยนต์ออนไลน์และเชื่อมต่อลูกค้า online กับร้านอู่ซ่อมรถ เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อตอบสนองผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังเปิดตัวสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น รูปแบบพิเศษ หรือ Concept Station ด้วยอัตลักษณ์ท้องของถิ่นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมถึงการร่วมมือกับ Flash Express ในการเปิดตัวจุดบริการส่งพัสดุในร้านคาเฟ่ อเมซอน หรือ Flash Express Drop Off ที่ร้านคาเฟ่ อเมซอน 71 สาขา

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในไตรมาส 4 นั้น OR ยังคงมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อต่อยอดและสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Mobility & Lifestyle มุ่งตอบสนองผู้บริโภค อำนวยความสะดวกให้ทุกการเดินทางเพื่อตอบโจทย์คนเดินทางในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างทางเลือกสำหรับการดำเนินชีวิตที่ครบวงจรเพื่อตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ โดยยังคงแสวงหาพันธมิตรธุรกิจใหม่ๆ รวมถึง Start-up ที่มีศักยภาพในการเติบโตและสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม หรือ F&B การท่องเที่ยว หรือ Travel สุขภาพ หรือ Health and Wellness รวมไปถึง Digital Lifestyle ต่าง ๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของ OR

ทั้งนี้ คณะกรรมการOR เมื่อเดือนพ.ค.64 มีมติอนุมัติให้บริษัท PTTOR International Holdings (Singapore) Pte. Ltd. (SGHoldCO) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ OR ถือหุ้น 100% จัดตั้งกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) ร่วมกับกลุ่มบริษัท 500 Startups โดยจดทะเบียนในรัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในรูปแบบ Limited Partnership ภายใต้ชื่อ ORZON VENTURES, L.P. (ORZON VENTURES) มูลค่าการลงทุนเริ่มแรก 25 ล้านเหรียญสหรัฐและสามารถเพิ่มเป็นไม่เกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐได้ในภายหลัง ซึ่ง SGHoldCO จะมีสัดส่วนการลงทุน 99% และ 1% จะถือโดยบริษัทและบุคคลกลุ่มบุคคลของบริษัท 500 Startups

สำหรับ ORZON VENTURES จะมีวัตถุประสงค์เป็น Venture Capital เพื่อเข้าลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพทั้งในประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อแสวงหาโอกาสในการสร้างธุรกิจ New S-Curve ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ในการสร้างความแข็งแกร่งและต่อยอดธุรกิจของ OR

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลกระทบต่อประชาชน รวมไปถึงผู้ประกอบการที่เป็นคู่ค้าของ OR ด้วย OR จึงได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือคู่ค้า แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมัน หรือ LPG รวมถึงลดการจัดเก็บค่า Royalty fee และ Marketing fee สำหรับผู้ประกอบการ franchisee ร้านคาเฟ่อเมซอน รวมไปถึงการลดอัตราค่าเช่าให้กับผู้ประกอบการร้านเช่า เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs รักษาการจ้างงาน และสามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

และจากผลงานในไตรมาสล่าสุดของ OR ทำให้มีการประเมินว่ากำไรสุทธิของ OR ในไตรมาส3/64 อยู่ที่ 1,900 ล้านบาท ลดลง 45% จากปีก่อน และลดลง 41% จากไตรมาสก่อนต่ำกว่า Bloomberg consensus 17% โดยส่วนต่างคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 200 ล้านบาท เนื่องจากค่าการตลาดน้ำมันต่ำกว่าคาดที่ 1.09 บาท/ลิตร ขณะที่กำไรสุทธิในงวด 9 เดือน ปี 2564 คิดเป็น 78% ของประมาณการกำไรปีนี้

สิ่งที่น่าสนใจ กำไรที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งเทียบปีก่อน และไตรมาสก่อนเป็นเพราะถูกกดดันจากสถานการณ์ โควิด-19 ที่ระบาดหนักในประเทศไทยในไตรมาส3ที่ผ่านมา ซึ่งฉุดให้ค่าการตลาดน้ำมันลดลงเหลือ 1.09 บาท/ลิตร หรือลดลง 10% จากปีก่อน และลดลง 11% จากไตรมาสก่อน กดดันให้ปริมาณยอดขายน้ำมันลดลงเหลือ 5,217 ล้านลิตร หรือลดลง 14% จากปีก่อน และลดลง 6% จากไตรมาสก่อน

ส่งผลดึงให้ปริมาณยอดขายกาแฟลดลงเหลือ 68 ล้านถ้วย หรือลดลง 6% จากปีก่อนและลดลง 3% จากไตรมาสก่อน แต่ margin ในธุรกิจน้ำมันยังอยู่ในระดับที่ดีอยู่ (ดีกว่า 1.00 บาท/ลิตร) ในขณะเดียวกันปริมาณยอดขายน้ำมันลดลง 6% จากไตรมาสก่อน เหลือ 5,217 ล้านลิตร เพราะถูกกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดหนัก นอกจากนี้ บริษัทยังให้เงินสนับสนุนสถานี DODO ทั้งหมดของบริษัท โดยให้เงินอุดหนุน 15,000 บาท/เดือน/สถานี ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน จากผลกระทบของโควิด-19 คิดเป็นมูลค่ารวม 108 ล้านบาท

ไม่เพียงเท่านี้กำไรจากธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากรายได้ลดลง 7% เทียบไตรมาสก่อน เหลือ 3.8 พันล้านบาทหลังจากรายได้จากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มลดลง หรือลดลง 6% จากไตรมาสก่อน เหลือ 2.5 พันล้านบาท ขณะที่รายได้จากร้านสะดวกซื้อและค่าเช่าพื้นที่ลดลง หรือลดลง 11% จากไตรมาสก่อน เหลือ 1.3 พันล้านบาท เพราะถูกกดดันจากสถานการณ์ โควิด-19 ในประเทศไทย ในขณะที่ปริมาณยอดขายกาแฟของ OR ลดลง 3% จากไตรมาสก่อน เหลือ 68 ล้านถ้วย ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันยังลดลงจากไตรมาสก่อน กล่าวคือลด จาก 56% เหลือ 53% หลังจากที่บริษัทให้เงินอุดหนุนกับสาขาร้าน franchise ทั้งหมดของ Café Amazon รวม 30 ล้านบาท/เดือน ในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม จากผลกระทบที่เกิดขึ้น

สำหรับกำไรจากธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นเทียบไตรมาสก่อน จาก4.7% เป็น 5.3% เนื่องจากปริมาณยอดขายกาแฟเพิ่มขึ้นเป็น 3.8 ล้านถ้วยหรือเพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสก่อน นั่นเพราะจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลงในประเทศกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม รายได้จากธุรกิจในต่างประเทศลดลง 1% เทียบไตรมาสก่อนเหลือ 6.6 พันล้านบาท เนื่องจากปริมาณยอดขายน้ำมันลดลง 14% จากไตรมาสก่อน เหลือ 278 ล้านลิตร เพราะมีการคุมเข้มการเดินทางและมีการใช้มาตรการ lockdowns อย่างกว้างขวางมากขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ รวมถึงไม่มีปริมาณการขายน้ำมันดีเซลพิเศษจากการประมูลเหมือนกับในไตรมาส 2/64

ทำให้ยังคงคำแนะนำถือ OR และคงราคาเป้าหมายปี 2565 เอาไว้ที่ 29.00 บาท อิงจาก P/E ที่ 25.0x ถึงแม้จะเชื่อว่าราคาหุ้นจะถูกกดดันจากกำไรที่ลดลงในไตรมาส 3 และนโยบายของรัฐบาลที่จะคุมราคาน้ำมันดีเซลเอาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร แต่คาดว่าผลประกอบการในไตรมาสสุดท้ายจะฟื้นตัวขึ้น จากปริมาณยอดขายน้ำมันและกาแฟของ OR ที่ดีขึ้น เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการ lockdown และข้อจำกัดต่างๆ ลงตั้งแต่เดือนกันยายน

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) คันทรี่ กรุ๊ป ประเมินว่า OR รายงานกำไรสุทธิไตรมาส3/64 ถือว่านับว่าต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาส ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับคาดการณ์ของเรา ขณะที่กำไรสุทธิ 9 เดือนที่ผ่านมาคิดเป็น 73% ของประมาณการทั้งปี โดยกำไรที่ลดลง จากปีก่อนและเทียบไตรมาสก่อนเพราะ มีสาเหตุมาจากอัตรากำไรน้ำมัน/ลิตรและยอดขายที่ลดลงทั้งในธุรกิจน้ำมันและ non-oil

อย่างไรก็ตาม คาดว่ากำไรสุทธิในไตรมาส4/64 จะทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยคาดว่าอัตรากำไรน้ำมัน/ลิตรจะลดลงจากไตรมาสก่อน จากการกำหนดเพดานราคาดีเซลโดยรัฐบาล ขณะที่คาดว่าการฟื้นตัวของยอดขายน้ำมันและ non-oil จะช่วยชดเชยอัตรากำไรที่ลดลงได้ส่วนหนึ่ง

แต่ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) หรือ บล.เมย์แบงก์ฯ ประเมินว่าแนะนำ “ขาย” ที่ TP 22.50 บาท ประเมินด้วยวิธี SOTP ผสาน EV/EBITDA ที่ 11.9 เท่าสำหรับปี 65 ซึ่งราคาหุ้นปัจจุบันถือว่าแพงไป (EV/EBITDA 14 เท่า) อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะถูกลดน้ำหนักการลงทุนเนื่องจากมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับธุรกิจ Non-Oil คาดว่าจะน่าผิดหวังและการเติบโตในระยะยาวจะชะลอตัว

ทั้งนี้ OR เป็นบริษัทค้าปลีกน้ำมันเป็นหลัก (70% ของรายได้) ซึ่งถูกกดดันด้วยอัตรากำไรที่ต่ำและแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอ โดยบล.เมย์แบงก์ฯ เห็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่ออัตรากำไรของน้ำมันของ OR เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่สูงอย่างต่อเนื่องซึ่งมีความเสี่ยงที่รัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลกำไร

ทำให้ตรึงธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน และธุรกิจระหว่างประเทศไว้ที่ EV/EBITDA ที่ 9 เท่า, 20 เท่าและ 12 เท่า (เฉลี่ย 11.9 เท่า) สมมติว่าตัวคูณน้ำมันไม่เปลี่ยนแปลง ราคาปัจจุบัน OR จะอยู่ที่ 1)Non-Oilจะมี EV/EBITDA ที่ 28เท่า สำหรับปี 65 หรือ EBITDA และธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันสำหรับปี 65จะอยู่ที่ 7.6 พันล้านบาท ซึ่งสูงกว่าประมาณการ 35% ขณะที่ multiple อยู่ที่ 20 เท่า

โดยทั้ง 2 สถานการณ์ดูเหมือนไม่น่าเป็นไปได้อย่างมากในมุมมองของบล.เมย์แบงก์ฯ เพราะหุ้นตัวแทนธุรกิจnon-oil ที่ดีที่สุดคือ CPALL (CVS) ซึ่งซื้อขายอยู่ที่ EV/EBITDA 15 เท่าสำหรับปี 65 ขณะที่ผู้ค้าปลีกรายอื่นๆ ซื้อขายระหว่าง 15-20 เท่า โดย OR ตั้งเป้ า EBITDA จาก Non-Oil ที่ 30-35% ภายในปี2568จากปัจจุบัน 25%

อย่างไรก็ตาม คาดว่า ราคาหุ้นปัจจุบันตอบรับแนวโน้มที่คาดจะฟื้นตัวในปี 65 หลังจากสถานการณ์ Covid-19 เริ่มคลี่คลายและมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ แล้ว และแนวโน้มการเติบโตระยะยาวก็ชักไม่แน่นอนแล้ว เพราะนับตั้งแต่ปี 2560-63 จำนวนปั๊มน้ำมันและ Café Amazon เติบโตขึ้นที่ CAGR 8% และ 18% แต่จะชะลอตัวลงเหลือ 4.5% และ 9.4% ในอีก 5 ปี ข้างหน้า

ดังนั้นใน อนาคต บล.เมย์แบงก์ฯ คาดว่า OR จะเติบโตผ่านการขยายผลิตภัณฑ์/บริการเสริมใน Café Amazon และ F&B ผ่านการควบรวมกิจการ แม้ว่าจะเป็นไปในเชิงบวก แต่อาจเร็วเกินไปที่จะให้น้ำหนักเนื่องจากยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น และ OR ยังคงพยายามหาส่วนผสมที่ลงตัว ทั้งนี้ไตรมาส 2/64 ร้านอาหารและเครื่องดื่มลดลงสุทธิ 20 ร้านเหลือ 294 แห่งเทียบไตรมาสก่อน เนื่องจากผลกำไรต่ำ โดยกาแฟที่จำหน่ายได้คิดเป็นประมาณ 95% ของรายได้ F&B ทั้งหมด และจะยังคงเป็นกุญแจสำคัญในอนาคต

นอกจากนี้อีกประเด็นที่น่าสนใจสำหรับ OR คือ ผู้บริหารระบุว่า GP ระยะยาว/ลิตรอยู่ 1 บาท เทียบกับ 1.26 บาท/ลิตรในครึ่งปี แรก 64 ทำให้เราประมาณการ GP/ลิตร ปี 64 ที่ 1.15 บาท และลดลงเหลือ 1.05 บาท หรือลดลง 9% จากปีก่อน ในปี 65 ซึ่งจะชดเชยปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น 10% จึงเห็นดาวน์ไซด์ในส่วนต่างราคาน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลให้รัฐบาลต้องส่งภาระบางส่วนไปยัง OR ซึ่งเป็นการจำกัดส่วนต่างกำไร ในเดือนตุลาคม เพราะรัฐบาลตรึงราคาขายปลีกดีเซลไว้ที่ 30 บาท

โดยได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมัน สมมติว่าเงินอุดหนุนดีเซล 2 บาท/ลิตร กองทุนจะขาดดุลภายใน 3 เดือน (ขาดทุน 3.6 พันล้านบาท/เดือนรวมทั้งเงินอุดหนุนไบโอดีเซลและแอลพีจี) ทุก ๆ 0.1 บาท/ลิตร ที่ลดลงใน GP จะลด EBITDA ของน้ำมันลง 17% ซึ่งถือว่าสูงมาก




กำลังโหลดความคิดเห็น