xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ระบุไตรมาส 3 กำไรสุทธิแบงก์เพิ่มขึ้น หว่งเอ็นพีแอลยังเพิ่มขึ้นหนุนปรับโครงสร้างหนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.เผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3 ปี 2564 กำไรสุทธิ จำนวน 38.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 45.1 เอ็นพีแอลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ย้ำฐานะยังแกร่งเงินสำรองและสภาพคล่องยังสูง มาตรการส่วนสินเชื่อฟื้นฟูอนุมัติแล้ว 124,836 ล้านบาท จำนวน 39,095 ราย เฉลี่ยนวงเงิน 3.2 บ้านบาทต่อราย

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2564 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และสนับสนุนความต้องการสินเชื่อเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากผลกระทบของ COVID-19 ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยหลักจากค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลงเนื่องจากระบบธนาคารพาณิชย์ได้กันสำรองในระดับสูงในปีก่อน รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่าย โดยมีรายละเอียดดังนี้


ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3,024.8 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ร้อยละ 19.9 เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 872.0 พันล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ร้อยละ 155.0 และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio : LCR) อยู่ที่ร้อยละ 186.8

ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 ทั้งนี้ สินเชื่อยังคงขยายตัวต่อเนื่องแม้หักผลของสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐและมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน โดยมีรายละเอียดดังนี้

สินเชื่อธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ในเกือบทุกประเภทธุรกิจ รวมถึงสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐ สะท้อนความต้องการเงินทุนของภาคธุรกิจภายหลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการเปิดประเทศ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs ขยายตัวต่อเนื่องจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเป็นสำคัญ

สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 โดยสินเชื่อรถยนต์หดตัวสอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่หดตัว สินเชื่อบัตรเครดิตหดตัวตามปริมาณการใช้บัตรเครดิตที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาด สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวชะลอลงตามอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยที่ปรับลดลง ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน สอดคล้องกับความต้องการสภาพคล่องของครัวเรือน


คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2564 ยังคงได้รับผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan : NPL หรือ stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 546.3 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 3.14 ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk : SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ร้อยละ 6.69 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 6.34


ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2564 จำนวน 38.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 45.1 โดยหลักจากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลงจากการกันสำรองในระดับสูงในปีก่อน ประกอบกับการควบคุมค่าใช้จ่าย ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการเติบโตของสินเชื่อ

ทั้งนี้ หากเทียบกับไตรมาสก่อนกำไรสุทธิลดลงจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในส่วนของรายได้เงินปันผลที่ลดลงจากฐานเงินปันผลที่สูงในไตรมาสก่อน รวมถึงค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets : ROA) ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.69 จากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 1.09 ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.47


สำหรับความคืบหน้ามาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูได้แล้ว 124,836 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 39,095 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 3.2 ล้านบาทต่อราย กระจายตามภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ร้อยละ 43.5 ธุรกิจพาณิชย์และบริการร้อยละ 67.0 เป็นลูกหนี้ต่างจังหวัดมากถึงร้อยละ67.8

โครงการพักทรัพย์พักหนี้ ยอดอนุมัติเข้าร่วม โครงการวงเงิน 24,374 ล้านบาท จำนวนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 168 ราย ยอดสินเชื่อ 10,224 ล้านบาท จำนวนผู้รับความช่วยเหลือแล้ว 82 ราย ธปท.ยังคงสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์และลูกหนี้เจรจาปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผ่านวิฤตไปด้วยกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น