น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2564 ได้รับผลกระทบมากขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการควบคุมการระบาดที่มีความเข้มงวดในหลายพื้นที่ โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศบางส่วนเผชิญภาวะหยุดชะงัก ขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยอาจมีแนวโน้มทยอยฟื้นกลับมาได้บางส่วนในไตรมาสสุดท้ายของปี เนื่องจากความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ
ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2564 จำนวน 28,151 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 3 ปี 2564 จำนวน 8,631 ล้านบาท
โดยผลการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 28,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 11,922 ล้านบาท หรือ 73.47% หลักๆ เกิดจากในงวด 9 เดือน ปี 2564 ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ลดลง 28.28% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยงวด 9 เดือนของปีก่อนธนาคารและบริษัทย่อยได้ตั้งสำรองฯ ในระดับที่สูงเป็นจำนวนถึง 42,879 ล้านบาท ภายใต้หลักความระมัดระวัง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจากสถานการณ์โควิด-19 อันเป็นวิกฤตการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในลักษณะนี้มาก่อน รวมถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ต้องติดตามดูแลคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด แม้ภาวะเศรษฐกิจไทยในงวด 9 เดือนของปี 2564 จะได้รับผลกระทบมากขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่และมาตรการควบคุมการระบาดที่มีความเข้มงวดในหลายพื้นที่ ธนาคารและบริษัทย่อยได้ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
พร้อมกันนั้น ยังคงให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการต่างๆ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ลูกค้า ธนาคารและบริษัทย่อยจึงได้พิจารณาตั้งสำรองฯ ในงวด 9 เดือนของปีนี้รวมทั้งสิ้นจำนวน 30,752 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นระดับสำรองฯ ภายใต้หลักความระมัดระวัง
กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้สำหรับงวด 9 เดือน ปี 2564 มีจำนวน 70,259 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 4,003 ล้านบาท หรือ 6.04% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น จำนวน 6,171 ล้านบาท หรือ 7.49% สอดคล้องกับการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ แม้ว่าธนาคารได้ลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดภาระทางการเงินของลูกค้า โดยอัตราการเติบโตของเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ 8.87% ส่วนใหญ่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าที่มีศักยภาพ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือลูกค้า เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ปกติ ซึ่งธนาคารได้ติดตามดูแลคุณภาพของลูกหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าบางส่วนอยู่ภายใต้มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้ธนาคารต้องมีการบริหารจัดการดอกเบี้ยค้างรับที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ลดลง เกิดจากการบริหารต้นทุนทางการเงินให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.21% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 1,326 ล้านบาท หรือ 3.95% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลง แม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น จำนวน 1,864 ล้านบาท หรือ 7.55% หลักๆ จากค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน และค่านายหน้ารับจากการซื้อขายหลักทรัพย์ สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 842 ล้านบาท หรือ 1.69% เกิดจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน และค่าใช้จ่ายจากโครงการที่ธนาคารช่วยบรรเทาภาระของลูกค้าในช่วงที่มีมาตรการควบคุมการระบาด โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 41.85%
ส่วนผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3 ปี 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2564
ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ จำนวน 8,631 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนจำนวน 263 ล้านบาท หรือ 2.96% แต่เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6,678 ล้านบาท โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,024 ล้านบาท หรือ 3.45% หลักๆ จากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.23% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 1,936 ล้านบาท หรือ 17.38% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ลดลงเล็กน้อย จำนวน 104 ล้านบาท หรือ 0.61% จากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 42.47% นอกจากนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) เพิ่มขึ้นจำนวน 489 ล้านบาท หรือ 4.53% จากไตรมาสก่อน
ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม จำนวน 4,029,831 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 จำนวน 371,033 ล้านบาท หรือ 10.14% ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ และการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนสุทธิ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 อยู่ที่ระดับ 3.85% โดยธนาคารมีการติดตามดูแลคุณภาพเงินให้สินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด ขณะที่สิ้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ 3.93% อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 อยู่ที่ระดับ 156.96% โดยสิ้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ 149.19% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 อยู่ที่ 18.82% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.53%