KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร คาดเศรษฐกิจไทยปี 2022 โต 3.9% โดยเศรษฐกิจจะยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิด-19 จนถึงปี 2023 อย่างไรก็ตาม มองเศรษฐกิจไทยปีหน้าเริ่มฟื้นตัว หลังเปิดเศรษฐกิจและเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และมีอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจกลับมาได้อย่างช้าๆ และการฟื้นตัวยังคงมีความเสี่ยงอยู่ โดยความเสี่ยงสำคัญในปี 2022 คือการระบาดในประเทศรอบใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ การฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว อัตราเงินเฟ้อ เศรษฐกิจจีน และทิศทางอัตราดอกเบี้ยไทย
สำหรับการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ นับเป็นการปรับเปลี่ยนทิศทางเชิงนโยบายครั้งสำคัญของภาครัฐไปสู่นโยบาย “อยู่ร่วมกับโควิด” (Living with Covid) จากก่อนหน้านี้ที่มาตรการภาครัฐถูกมองว่าสร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจและกระทบวิถีชีวิตโดยปกติของประชาชน แม้ไทยจะเป็นประเทศในลำดับต้นๆ ในภูมิภาคที่เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว แต่ข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่มาก ทั้งมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกเพื่อการท่องเที่ยวของประเทศต้นทาง จำนวนเส้นทางบินที่ลดลงจากธุรกิจการบินที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงโควิด-19 รวมถึงนักท่องเที่ยวจีนที่จะยังคงหายไปตลอดช่วงครึ่งปีแรกเป็นอย่างน้อย จะส่งผลให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นไปได้อย่างจำกัดในระยะแรก ก่อนที่การท่องเที่ยวจะทยอยกลับมาคึกคักมากขึ้นช่วงครึ่งหลังของปี 2022 โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งปีประมาณ 5.8 ล้านคน ต่ำกว่าระดับ 40 ล้านคนในปี 2019
นอกจากนี้ KKP Research ประเมินว่าภายในสิ้นปีนี้ไทยจะมีอัตราการรับวัคซีนครบจำนวนโดสราว 60% ของประชากร และสามารถฉีดวัคซีนครบจำนวนโดสได้เกิน 70-80% ประชากรภายในไตรมาส 1 ของปี 2022 ปัจจุบันจำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบจำนวนโดส (2 เข็ม) ทั่วประเทศยังน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร โดยมีเพียงกรุงเทพมหานครและจังหวัดภูเก็ตเท่านั้นที่สามารถฉีดวัคซีนครบจำนวนโดสเกินกว่า 70% ของประชากร และจากประสบการณ์ในต่างประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดรอบใหม่ได้ ดังนั้น ความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงยังมีอยู่หลังมีการผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ แต่อัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้นเป็นลำดับจะช่วยลดความเสียหายและแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขได้
ด้านการท่องเที่ยวจะยังมีข้อจำกัดด้านการฟื้นตัวในปีหน้าหลังเปิดประเทศ จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) การคงมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวของประเทศหรือดินแดนในฝั่งเอเชียส่วนใหญ่ที่เป็นแหล่งนักท่องเที่ยวหลักของไทยและคิดเป็นถึง 75% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงก่อนโควิด-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเอเชียจะยังคงเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลักและจะยังเข้ามาไทยในสัดส่วนที่น้อยกว่าช่วงสถานการณ์ปกติมาก (2) นักท่องเที่ยวจีนที่จะหายไปตลอดครึ่งปีแรกและอาจยังไม่กลับมากระทั่งปลายปี จากนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดของทางการจีน ในห้วงเวลาที่จีนจะจัดกิจกรรมสำคัญ ซึ่งรวมถึงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ และการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และ (3) การเดินทางโดยเครื่องบินที่จะยังเป็นอุปสรรคสำคัญ ทั้งจากจำนวนและเส้นทางเที่ยวบินที่ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะเส้นทางบินระยะไกล และความกังวลต่อการเดินทางโดยเครื่องบินของนักท่องเที่ยวบางส่วน
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเพิ่มเติมที่ต้องจับตาอีก 3 ประการ ได้แก่ (1) ความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว (2) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และ (3) ทิศทางอัตราดอกเบี้ยไทยที่อาจถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา
โดย KKP Research คาดอัตราเงินเฟ้อจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.6% ตลอดปี 2022 แต่เสี่ยงเร่งตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 2% จากราคาน้ำมันที่อาจยืนอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเป็นผลมาจากกำลังการผลิตที่เร่งขึ้นไม่ทันอุปสงค์โลกที่เริ่มฟื้นตัวในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ในระยะต่อไปราคาน้ำมันอาจมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากแนวโน้มการลดการปล่อยคาร์บอนและพันธสัญญาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ที่ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันชะลอการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต แม้ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้คาดการณ์เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น มีการปรับราคาสินค้า บริการ และค่าจ้าง จนก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว (stagflation risk) และยังกระทบต่อสถานะของกองทุนน้ำมัน นอกจากนี้ เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างน้อยในช่วงครึ่งปีแรก จะส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้น และส่งผ่านผลกระทบเพิ่มเติมต่ออัตราเงินเฟ้อ
ขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกยังเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากภาคการท่องเที่ยวแล้ว การส่งออกสินค้าไทยยังพึ่งพาตลาดจีนสูงถึง 14% ของมูลค่าการส่งออกรวม หรือคิดเป็น 6% ของ GDP และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มแผ่วลงจากการตึงตัวด้านพลังงาน การขาดแคลนตู้ขนส่งและสภาพคล่องทางการเงินในภาคธุรกิจ และวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตร สินค้าแปรรูป และสินค้าขั้นกลางที่ไทยส่งออกไปจีนในสัดส่วนสูง ในระยะต่อไป ความเสี่ยงในด้านที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจีนจะยังมีอยู่ จากการปรับเปลี่ยนนโยบายเชิงโครงสร้างของทางการจีนเพื่อสนับสนุนการพึ่งพาตนเองทั้งในด้านการผลิตและตลาด ตลอดจนการส่งเสริม ‘ความมั่งคั่งร่วมกัน’ (Common Prosperity) ที่อาจกระทบต่อความมั่นใจของภาคธุรกิจจีนและธุรกิจต่างชาติที่ลงทุนในจีน นอกจากนี้ ความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอยู่ และด้วยนโยบายกดโควิดให้เป็นศูนย์ การปิดเมืองและการปิดกั้นการเดินทางอาจจำเป็นต้องนำมาใช้อีกครั้งหากการระบาดระลอกใหม่ไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้
KKP Research ประเมินว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในปีหน้า และมีโอกาสจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ด้วยภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้า คณะกรรมการนโยบายการเงินมีแนวโน้มจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับปัจจุบันจนกว่าภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยจะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนในช่วงปลายปีหน้า อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่ กนง. อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี 2022 ได้ หากคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ตัดสินใจเริ่มขึ้นดอกเบี้ยภายในช่วงครึ่งหลังของปี เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเร็วกว่าที่คาด หรือการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่ประเมินไว้