xs
xsm
sm
md
lg

เม็ดเงินจากนักลงทุนสถาบันจะส่งผลบวกหรือลบต่อตลาดคริปโตกันแน่ / ณพวีร์ พุกกะมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดข่าวที่น่าสนใจในวงการคริปโตนั่นคือการที่ ก.ล.ต. สหรัฐฯออกมาอนุมัติกองทุน Bitcoin Futures ETF และเริ่มมีการซื้อขายในตลาดจริงแล้ว แต่ไฮไลท์สำคัญที่กำลังรอคอยคือ ก.ล.ต. สหรัฐฯ จะอนุมัติกองทุน Bitcoin ETF ซึ่งจะเข้าไปลงทุนจริงในตลาด Spot ของบิทคอยน์จริงหรือไม่

หาก Bitcoin ETF เกิดขึ้นจริงหลังจากที่ต้องรอมานานกว่า 8 ปีที่พี่น้องฝาแฝด Winkesvos เป็นผู้ยื่นขอคนแรกจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิด Mass Adoption ขึ้นกับวงการคริปโตโดยเม็ดเงินจากนักลงทุนสถาบันที่สนใจลงทุนในบิทคอยน์แต่มีความกังวลในเรื่องของกฎหมายจะสามารถเข้ามาลงทุนได้ตลอดจนนักลงทุนรายย่อยจะสามารถเข้าถึงได้

แม้แต่ บลจ.ในประเทศไทยที่ต้องการออกกองทุนรวมที่ลงทุนในบิทคอยน์ทางอ้อมก็สามารถไปตั้งกองทุนแบบ Fund of Fund ผ่าน Bitcoin ETF ในต่างประเทศได้เช่นกัน ส่วนจะได้รับอนุมัติจาก ก.ล.ต. ไทยหรือไม่ก็อีกเรื่อง

อย่างไรก็ตามการที่เม็ดเงินจากนักลงทุนสถาบันที่จะเข้ามาในคริปโตมากขึ้นอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องดีเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมีข้อเสียที่ปนเข้ามาด้วยเช่นกัน

ข้อแรก หลักการสำคัญของคริปโตคือการทำงานแบบไร้ศูนย์กลางและไม่มีรัฐบาลเข้ามากำกับดูแล แต่ถ้าหากเม็ดเงินจากการเงินดั้งเดิมเข้ามามากขึ้นอาจจะทำให้หลักการสำคัญดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ โดยเฉพาะในเหรียญ Altcoin ซึ่งปรากฎชื่อของผู้พัฒนาอย่างชัดเจนอาจจะถูกแทรกแซงได้

ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจ Exchange บางรายอาจจะต้องปรับตัวเพื่อรับเม็ดเงินจากตลาดดั้งเดิมด้วยการยอมที่จะรับการกำกับดูแลมากขึ้นจากเดิมที่สามารถเสนอสินค้าและบริการที่ไม่ต้องรับการอนุมัติจากรัฐบาลใด ๆ จะต้องพบกับข้อจำกัดที่มากขึ้น จนนักลงทุนที่ไม่ต้องการจะถูกกำกับดูแลอาจจะออกจากตลาดนี้ไปบางส่วน

ข้อสอง เม็ดเงินจำนวนมหาศาลอาจจะเข้ามามีผลต่อการควบคุมตลาดหรือราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ลองนึกภาพว่ามูลค่าตลาดคริปโตทั้งหมดในปัจจุบันอยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับมูลค่าตลาดของหุ้น APPLE เพียงบริษัทเดียว เปรียบเสมือนกับน้ำจากทะเลสาบจะไหลเข้ามาในสระว่ายน้ำ แม้ตลาดจะโตขึ้นแต่ก็อาจจะเกิดผลต่อเสถียรภาพของราคาได้เพราะการมีเม็ดเงินจำนวนมากในขณะที่ซัพพลายมีจำนวนน้อย การจะควบคุมราคาสามารถทำได้ไม่ยาก

ข้อสาม ตลาด Futures ของคริปโตอาจจะเข้ามามีผลต่อราคาในตลาด Spot ได้ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำและน้ำมันที่ตลาดซื้อขายล่วงหน้ากลายเป็นผู้กำหนดราคาในตลาด Spot ไปในที่สุด โดยเราได้เห็นไปแล้วว่าช่วงที่ราคาน้ำมันลงไปเหลือเพียงแค่ศูนย์ดอลลาร์ก็มาจากกลไกของตลาด Futures

ข้อมูลจากตลาด CME ซึ่งเป็นตลาดซื้อขาย Bitcoin Futures ของนักลงทุนสถาบันได้เห็นถึงจำนวนการเปิดสถานะซื้อขายที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ตรงนี้อาจจะเป็นข้อกังวลในระยะยาวได้เช่นกัน

เหรียญมีสองด้านเสมอ เม็ดเงินจากนักลงทุนสถาบันจะทำให้ตลาดคริปโตที่เคยจำกัดเฉพาะคนบางกลุ่มก็อาจจะเข้าถึงคนหมู่มากได้แต่ก็อาจทำให้จุดแข็งของคริปโตที่ทำงานแบบไร้ศูนย์กลางต้องเสียไปหรือไม่ ตลาดคริปโตในอนาคตอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนสถาบันที่อาจจะขึ้นลงตามตลาดหุ้น ไม่ได้เป็นสินทรัพย์ทางเลือกอีกต่อไป

บทความโดย : ณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS)




กำลังโหลดความคิดเห็น