xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” เผย ดีเซลลิตรละ 25 บาท ทำได้ มีกำไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รสนา โตสิตระกูล
“รสนา” จี้รัฐปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมัน ด้วยการยกเลิกต้นทุนเทียม ยกราคาน้ำมันดิบจากดูไบ ลิตรละ 17.45 บาท บวกค่ากลั่นและค่าการตลาด จนได้เป็นน้ำมันดีเซลสำเร็จรูปขายปลีกในส่วนของเอกชน มีราคาอยู่ที่ 19.85 บาท/ลิตร ถ้ารัฐบาลจริงใจที่จะทำเพื่อประชาชน และระบบเศรษฐกิจโดยรวม น้ำมันดีเซล 25 บาท ทำได้แน่นอน โดยยังมีกำไรไม่ต้องกู้เงินมาชดเชยราคาน้ำมันดีเซล

วันนี้ (22 ต.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และผู้เสนสอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ว่า ดีเซลลิตรละ 25 บาท ทำได้ มีกำไร ถ้ารัฐบาลและเอกชนยอมรีดไขมันส่วนเกิน

น้ำมันตามโครงสร้างราคาน้ำมัน มีความซับซ้อน และมีไขมันส่วนเกินพอกพูนมากที่รัฐบาลต้องตัดสินใจรีดออกไปบ้าง เพื่อให้เศรษฐกิจโดยรวมไปต่อได้

ไขมันแรก คือ ราคาเนื้อน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่นมีต้นทุนเทียมบวกอยู่ระหว่าง 70 ส.ต.- 1 บาท/ลิตร ที่ควรรีดออก ต้นทุนเทียมที่ว่า คือ น้ำมันสำเร็จรูปกลั่นที่ระยอง ศรีราชา และกรุงเทพฯ ถูกสมมติว่า “นำเข้าจากสิงคโปร์” (ไม่ใช่การอ้างอิงราคาตามที่เข้าใจผิดกัน) จึงบวกค่าขนส่ง ค่าประกันภัย และค่าน้ำมันหก รวมแล้วบวกต้นทุนเทียม 70 ส.ต.- 1 บาทต่อลิตร ไขมันส่วนเกินนี้ควรสิ้นสุด เพราะไม่ใช่ต้นทุนที่มีอยู่จริง และผู้ประกอบการมีกำไรมากพอสมควรอยู่แล้ว

ตามที่สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทยรายงานเมื่อ 11 สิงหาคม 2564 “PTT อวดกำไร Q2/64 โต 104% หนุน 6 เดือนกำไรทะลุ 5.7 หมื่น ลบ. PTT เผย Q2/64 มีกำไร 24,578.66 ลบ.โต 104% จากช่วงเดียวกันปีก่อน รับปิโตรฯ-การกลั่นสดใสหลังราคาน้ำมันพุ่ง หนุน 6 เดือน กำไรโต 444.50% ทะลุ 5.7 หมื่น ลบ.”

เมื่อบริษัทพลังงานมีกำไรมากแล้ว แม้ในช่วงวิกฤตโควิด ขณะที่กิจการอื่นๆ ต้องล้มหายตายจากไป เพราะพิษโควิด รัฐบาลจึงควรมีนโยบายให้รีดไขมันส่วนเกินที่มาจากต้นทุนเทียมที่บวกอยู่ในเนื้อน้ำมันออกไป ซึ่งโรงกลั่นเคยได้รับต้นทุนเทียมนี้เป็นแรงจูงใจสมัยตั้งโรงกลั่นใหม่ๆ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน เพื่อช่วยประคับประคองโรงกลั่นที่เหมือนเด็กเพิ่งตั้งไข่ แต่ปัจจุบันโรงกลั่นต่างๆเติบโตเป็นผู้ใหญ่แข็งแรง มีกำไรเป็นกอบเป็นกำแล้ว แม้ในยามที่กิจการอื่นล้มละลายจากพิษโควิด จึงถึงเวลาที่ต้องรีดไขมันส่วนเกินนี้ออกไป ใช่หรือไม่


ถ้าคิดราคาเนื้อน้ำมันสำเร็จรูปโดยคิดต้นทุนจริงจากการกลั่นภายในประเทศ แทนใช้ราคาสมมติว่าน้ำมันสำเร็จรูปกลั่นที่ระยอง ศรีราชา และกรุงเทพฯ เป็นการนำเข้าจากสิงคโปร์ จะคิดได้ดังนี้

1) น้ำมันดิบจากดูไบขณะนี้ราคา 83.17 เหรียญ/บาร์เรล (1 บาร์เรล=159 ลิตร) ค่าเงิน 33.37 บาท/เหรียญสหรัฐ
วิธีคำนวณราคาน้ำมันดิบ 83.17x33.37 หารด้วย 159 = 17.45 บาท/ลิตร

2) น้ำมันดิบลิตรละ 17.45 บาท กลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป มีค่าการกลั่นอ้างอิงตามสิงคโปร์ อยู่ที่ 2-2.5 เหรียญ/บาร์เรล ค่าการกลั่น 2.5x33.37 หารด้วย 159 =.52 บาท/ลิตร บวกค่าการกลั่นพร้อมกำไรเป็น 1 บาท/ลิตร จะได้น้ำมันดีเซลสำเร็จรูป ราคาลิตรละ 18.45 บาท

3) ค่าการตลาดของดีเซลที่ รมว.พลังงาน กำหนดให้ 1.40 บาท/ลิตร รวมแล้วน้ำมันดีเซลสำเร็จรูปขายปลีกในส่วนของเอกชน มีราคาอยู่ที่ 18.45+1.40 = 19.85 บาท/ลิตร

4) ราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 25 บาท จึงยังมีส่วนต่างอยู่ ถึง 5.15 บาท/ลิตร ( 25-19.85 = 5.15 ) โดยรัฐบาลไม่ต้องชดเชยด้วยซ้ำ

5) เลิกเอากองทุนน้ำมันจากคนใช้เบนซินมาชดเชยดีเซล เพราะทำให้ราคาบิดเบือน และไม่เป็นธรรมต่อคนใช้น้ำมันเบนซิน

6) ถ้าจะผสมน้ำมันชีวภาพ บี100 ที่มีราคา 44.44 บาท/ลิตร ในน้ำมันดีเซล ให้รัฐบาลบริหารการชดเชยจากเงินส่วนต่างที่อยู่ในมือของรัฐบาล 5.15 บาท/ลิตร ถ้าชดเชยมาก รัฐบาลก็ได้ภาษีลดลง ให้รัฐบาลบริหารจัดการชดเชยน้ำมันชีวภาพ และภาษีในวงเงิน 5.15บาท/ลิตร

7) น้ำมันที่คนไทยใช้ วันละประมาณ 100 ล้านลิตร (เป็นน้ำมันดีเซล 70% เบนซิน 30% ) ใช้น้ำมันปีละประมาณ 36,500-40,000 ล้านลิตร รัฐบาลต้องการภาษีเท่าไหร่ ก็ให้คำนวณจากส่วนแบ่งชดเชยน้ำมันชีวภาพบี100 และจำนวนภาษี/ลิตรในวงเงิน 5.15 บาท/ลิตร


ถ้ารัฐบาลกำหนดนโยบายการบริหารราคาน้ำมันเพื่อประโยชน์ 3 ฝ่าย คือ ประชาชน ผู้ประกอบการ และภาษีของรัฐบาลอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ราคาดีเซลลิตรละ 25 บาท สามารถทำได้แน่นอน โดยไม่ต้องใช้คำว่าตรึงราคาที่หมายถึงการเอาเงินกู้มาชดเชย

รัฐบาลไม่ควรเป็นรัฐบาล “พร้อมบวก” ที่บวกภาระทุกอย่างให้คนใช้น้ำมันและการขนส่ง แต่ควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมันและพลังงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค

น้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนทางตรงของเศรษฐกิจภาคการผลิต (real sector) จึงควรทำให้มีราคาที่ไม่มีไขมันส่วนเกิน เพื่อทำให้ธุรกิจอื่นๆในภาคการผลิตสามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้าน และสร้างมูลค่าเพิ่มได้

ปัจจุบันค่าโลจิสติกส์/จีดีพีของไทย คือ 20% ในขณะที่สิงคโปร์ อยู่ที่ 8% มาเลเซียอยู่ที่ 13% แสดงว่า ต้นทุนสินค้า 100 บาท ไทยมีต้นทุนค่าน้ำมันค่าขนส่งถึง 20 บาท ในขณะที่ สิงคโปร์ มีต้นทุน 8 บาท มาเลเซีย 13 บาท ประเทศไทยย่อมแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ยาก ถ้าจะแข่งอาจจะต้องกดต้นทุนลง ซึ่งจะทำได้คือกดค่าแรง หรือลดคุณภาพสินค้าลง เพราะไม่สามารลดต้นทุนพลังงานได้

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ควรเปลี่ยนแผนการกู้เงินหลายแสนล้านบาทในโครงการประชานิยมต่างๆ มาเป็นการกำหนดแผนลดเป้าการเก็บภาษีน้ำมันลงสัก 1 แสนล้านบาท ในช่วงวิกฤตที่ประชาชนและธุรกิจกำลังลำบาก เพราะเงินที่แจกไปแล้วมากมาย ถึงจะแจกเท่าไรก็ไม่มีวันพอและทั่วถึง แต่ถ้าลดการเก็บภาษีน้ำมันลงสักแสนล้านบาทแทนการแจกเงิน ราคาน้ำมันที่ลดลง ประชาชนจะได้รับอานิสงส์ถ้วนหน้าจากราคาสินค้าอุปโภค บริโภคที่ลดลง

ดังนั้น น้ำมันดีเซล 25 บาท ทำได้แน่นอนโดยยังมีกำไรไม่ต้องกู้เงินมาชดเชยราคาน้ำมันดีเซล ถ้ารัฐบาลจริงใจที่จะทำเพื่อประชาชน และระบบเศรษฐกิจโดยรวม การกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันที่รีดไขมันส่วนเกินของผู้ประกอบการพลังงานและการบริหารที่ขาดความยืดหยุ่นของรัฐบาลออกไปบ้าง โดยไม่เพิ่มภาระซ้ำซากให้กับประชาชนด้วยการกู้มาใส่กองทุนน้ำมัน รัฐบาลก็จะสามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้


กำลังโหลดความคิดเห็น