จากงานสัมมนาประจำปีของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ที่จัดขึ้นผ่านระบบการประชุมออนไลน์ในวันนี้ นักวิเคราะห์ของฟิทช์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นขึ้นในปี 2565 เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ธุรกิจต่างๆ เริ่มเปิดให้บริการใหม่ และสภาวะแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ยังคงเติบโตและยังคงเอื้ออำนวย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวน่าจะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และฟิทช์คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) น่าจะฟื้นตัวกลับมาที่ระดับก่อนโควิด-19 ภายในช่วงต้นปี 2566 ขณะที่อันดับเครดิตของบริษัทไทยรายใหญ่ส่วนมากได้ปรับตัวมีเสถียรภาพมากขึ้นแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบางภาคอุตสหากรรม เช่น ภาคธนาคาร อุตสหกรรมค้าปลีกและโรงแรม ที่ยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันในด้านรายได้ต่อเนื่องจากผลกระทบของโรคระบาด
นายสตีเฟ่น ชวาว์ส ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของฟิทช์ เรทติ้งส์ บรรยายถึงสภาวะเศรษฐกิจของโลก และมองว่าอุปสงค์จากภายนอกที่ปรับตัวดีขึ้นน่าจะช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกของประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดในด้านอุปทานส่งผลให้อัตราการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจเติบโตได้น้อยลง และยังส่งผลให้ราคาสินค้าในประเทศสหรัฐอเมริกาปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ฟิทช์คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะเริ่มลดทอนการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในเดือนหน้า แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนน่าจะเริ่มขึ้นในปี 2566
ส่วนแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการปรับตัวลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการฉีดวัคซีนของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งปีหลังปี 2564 ซึ่งน่าจะช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลับตัวมาดีขึ้นหลังจากถูกกระทบอย่างมากจากโควิด-19 จากการประมาณการคาดว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคจะเติบโตเฉลี่ยในอัตรา 6.3% ในปี 2564 และ 5.3% ในปี 2565 โดยได้รับแรงหนุนจากการทยอยยกเลิกมาตรการและข้อจำกัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจน่าจะอยู่ในระดับเพียง 0.8% ในปี 2564 และ 4.8% ในปี 2565 โดยอัตราการฉีดวัคซีนได้ปรับตัวดีขึ้นแล้วหลังจากที่ค่อนข้างช้าในช่วงแรก การเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของประเทศจีน และการลดทอนการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เป็นตลาดเกิดใหม่และตลาดที่เพิ่งจะพัฒนา
นายพาสันติ์ สิงหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารไทยยังคงมีความไม่ชัดเจน เนื่องจากยังมีการใช้มาตรการผ่อนปรนหลักเกณฑ์อยู่ โดยประมาณ 14% ของสินเชื่อรวมของภาคธนาคารพาณิชย์ยังคงอยู่ภายใต้มาตรการผ่อนปรนและยังมีการผ่อนผันเกณฑ์ในด้านการจัดชั้นสินเชื่อ ฟิทช์คาดว่ากลุ่มลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 23% ของสินเชื่อรวมน่าจะยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันจากสภาวะการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ ฟิทช์ยังเชื่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้น่าจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2565 และอัตรากำไรของธนาคารน่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายต่อเนื่องในปี 2565 แต่ที่ผ่านมา ธนาคารไทยได้มีการสะสมสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นมาในระดับที่สมเหตุสมผลและมีฐานะเงินกองทุนที่จะช่วยรองรับความเสียหายได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ คาดว่าค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญของระบบธนาคารในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นตลาดกำลังพัฒนา น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ แต่ทั้งนี้ความสามารถในการรองรับความเสียหายของธนาคารในแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกันไป
นายโอบบุญ ถิรจิต ผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับเครดิตภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะช่วยให้รายได้ของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยฟิทช์เติบโตต่อเนื่องในปี 2565 บริษัทส่วนใหญ่ในอุตสหกรรม ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมในภาคพลังงานและปิโตรเคมีซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดในปี 2563 ได้ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตกลับมาเป็นมีเสถียรภาพ จากการที่รายได้เริ่มฟื้นตัวกลับขึ้นมาอยู่ในระดับก่อนเกิดการระบาดของโคโรนาไวรัส สำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีกและโรงแรม (ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากยอดผู้ป่วยโควิด-19 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากและการจำกัดการเดินทางในปี 2564) น่าจะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2565 แต่อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวกลับขึ้นมาในระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสนั้นอาจจะต้องใช้เวลาอีก 2 ปี
บริษัทไทยได้มีการเพิ่มการลงทุนและมีการควบรวมกิจการกันมากขึ้น เพื่อที่จะรองรับการเติบโตในระยะปานกลางและเพื่อการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการดำเนินธุรกิจเป็นธุรกิจที่มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้มากขึ้น (digitalization) และการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สิน (leverage) ทรงตัวอยู่ในระดับสูงและจำกัดโอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิต