ธปท.จัดงาน Bangkok FinTech Fair 2021 ก้าวสู่ทศวรรษใหม่กับโลกการเงินไทยแห่งอนาคต ครั้งที่ 4 วันจันทร์ที่ 18 และวันอังคารที่ 19 ตุลาคม 2564 เวลา 09.15-16.30 น. ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเงินดิจิทัลและการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของ COVID-19 รวมถึงบทบาทธนาคารกลางในโลกการเงินดิจิทัล
น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้จัดงาน Bangkok FinTech Fair เป็นประจำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 เพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงิน หรือฟินเทค ส่งเสริมให้ประชาชน ภาคธุรกิจ นำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ และส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดของผู้ให้บริการทางการเงินในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการเงินที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
โดยในปีนี้จะจัดงาน Bangkok FinTech Fair Bangkok ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด "Shaping Digital Finance in the New Decade : ก้าวสู่ทศวรรษใหม่กับโลกการเงินไทยแห่งอนาคต" ในวันจันทร์ที่ 18 และวันอังคารที่ 19 ตุลาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 09.15-16.30 น. ในรูปแบบออนไลน์ โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานในปีนี้เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเงินดิจิทัลและการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของ COVID-19 รวมทั้งทิศทางการนำเทคโนโลยีไปใช้พัฒนาประสิทธิภาพของการให้บริการทางเงินและของระบบการเงินอนาคต การเร่งให้เกิดการปรับตัวของภาคธุรกิจและภาครัฐเพื่อรับมือกับโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างเป็นรูปธรรม
ในช่วงเวลา 2 วันของการจัดงาน แบ่งการนำเสนอได้เป็น 4 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ 1 FinTech Policies and Way Forward - What to Expect in this New Decade : นโยบาย FinTech สู่การเงินวิถีใหม่ในทศวรรษหน้า
ช่วงที่ 2 Digital Transformation for Businesses with Supportive Financial Infrastructure : เปลี่ยนเกมธุรกิจด้วยโครงสร้างพื้นฐานการเงินดิจิทัล
ช่วงที่ 3 Financial Innovations for Productivity and Inclusivity - Now and Then : วันนี้และก้าวต่อไปของการใช้นวัตกรรมทางการเงิน
และช่วงที่ 4 Charting the Future of Finance together in the Borderless World : เปลี่ยนอนาคตโลกการเงินไร้พรมแดนไปด้วยกัน
โดยผู้ร่วมงานจะได้รับฟังการเสวนาและการบรรยายในหลากหลายรูปแบบจากผู้นำขององค์กรทางการเงินและเทคโนโลยีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งการดำเนินการที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สู่ทิศทางในอนาคต รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และบอกเล่าเส้นทางการปรับตัวด้านดิจิทัล จากตัวเร่งสำคัญทั้งวิกฤตโควิด-19 พัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดในรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป นำไปสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนารูปแบบการให้บริการทางการเงินและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในอนาคต รวมทั้งบทบาทของ Central Bank Digital Currency ในโลกการเงินไทย รูปแบบบริการทางการเงินแบบใหม่ที่ไร้ตัวกลาง (Decentralized Finance) และทิศทางของพัฒนาการในไทยและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอบริการจากผู้ให้บริการทางการเงินและบริษัทฟินเทคที่นำนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ มาแสดง และแลกเปลี่ยนเคล็ดลับในการก้าวสู่โลกดิจิทัล ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในการเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน และผู้ประกอบการในการปรับตัวสู่โลกการเงินในอนาคต