xs
xsm
sm
md
lg

AI ไล่ล่านักปั่นหุ้น / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แถลงข่าวใหญ่ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในตลาดหุ้น โดยเฉพาะการปั่นหุ้น

แต่หุ้นที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายปั่นหุ้นนับสิบตัว ไม่ได้สยบลงแต่อย่างใด ราคายังถูกลากขึ้นอย่างร้อนแรง สวนการแถลงนโยบายปราบปั่นหุ้นของ ก.ล.ต.

แก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้น ขาใหญ่หรือเจ้ามือหุ้นไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาว ไม่ได้เกรงกลัวการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อติดตามตรวจสอบการกระทำผิดในตลาดหุ้น และเปิดปฏิบัติการปั่นราคาหุ้นต่อไป

การพัฒนาเทคโนโลยีติดตามตรวจสอบการกระทำผิดในตลาดหุ้น เป็นความพยายามของ ก.ล.ต. เพื่อกำกับดูแลให้การลงทุนเป็นไปด้วยความบริสุทธิยุติธรรม ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ ป้องกันประชาชนผู้ลงทุนไม่ให้เกิดความเสียหาย

และผู้กระทำผิดต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายภายในเวลารวดเร็ว

ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะนำมาใช้ตรวจสอบการซื้อขาย พร้อมระบบเทคโนโลยีด้านอื่นที่จะติดตามตรวจสอบฐานะการเงินและการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน และจะส่งสัญญาณเตือนถ้าพบความผิดปกติล่วงหน้า ก่อนที่ความเสียหายร้ายแรงจะเกิดขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีระบบที่จะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของบุคคล ทำให้การตรวจสอบพฤติกรรมที่เชื่อมโยงกันมีความรวดเร็วขึ้น

รวมทั้งจะมีการแก้ พ.ร.บ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ ก.ล.ต. เป็นพนักงานสอบสวนความผิดในตลาดหุ้น

เทคโนโลยีที่ ก.ล.ต. พัฒนาขึ้นน่าจะทำให้การตรวจสอบการปั่นหุ้น การใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น การทุจริต ไซฟ่อนเงินจากบริษัทจดทะเบียนมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น ส่งผลให้การกระทำความผิดในตลาดหุ้นลดลง

แต่ความล้มเหลวในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในตลาดหุ้น ตลอด 46 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดในการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์

และไม่ได้เป็นเพราะกฎหมายมีช่องโหว่ ล้าสมัย ไม่ทันต่อการพัฒนาของแก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้น หรือมีบทลงโทษที่อ่อนเกินไป แต่เกิดจากกฎหมายไม่ถูกนำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง

เพราะกระบวนการยุติธรรมมีปัญหา โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ ในชั้นพนักงานสอบสวน

การดำเนินคดีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ หรือความผิดในตลาดหุ้น ตลาดหลักทรัพย์จะทำหน้าที่ตรวจสอบ เมื่อพบพฤติกรรมที่เข้าข่ายการกระทำความผิด จึงรวบรวมข้อมูลส่งต่อให้ ก.ล.ต.สอบสวนในเชิงลึกต่อไป

ส่วน ก.ล.ต. เมื่อรวบรวมข้อมูลหลักฐานครบถ้วนเพียงพอ จะทำหน้าที่เป็นผู้กล่าวโทษร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน คือกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ หรือกองบังคับการปรามปราบการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.)

กระบวนการร้องทุกข์กล่าวโทษความผิดร้ายแรงในตลาดหุ้น ไม่ว่าการทุจริตในบริษัทจดทะเบียน การปั่นหุ้น หรือการใช้ข้อมูลภายใน เป็นไปอย่างล่าช้ามาก เฉลี่ยแต่ละคดีใช้เวลา 3-5 ปีจึงจะมีการกล่าวโทษ

แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ คดีที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษร้องทุกข์ เมื่อส่งเรื่องให้ดีเอสไอ หรือ ปอศ.แล้วคดีมักเงียบหาย นับสิบคดีถูกตัดตอนโดยการสั่งไม่ฟ้อง อีกนับสิบคดีถูกดอง และสาธารณชนไม่อาจรับรู้ได้ว่าคดีที่ก.ล.ต.กล่าวโทษ พนักงานสอบสวนดำเนินการไปถึงขั้นไหน จะฟ้องเมื่อไหร่ และไม่มีการแถลงจากดีเอสไอ หรือ ปอศ.แต่อย่างใด

พฤติกรรมการปั่นหุ้นเกิดขึ้นนับร้อยคดี แต่แทบไม่มีแก๊งปั่นหุ้นต้องติดคุกชดใช้กรรมที่ก่อไว้

นักปั่นหุ้นจึงไม่เกรงกลัวกฎหมาย ไม่ให้ราคากับ ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์ เพราะถึงจะกล่าวโทษร้องทุกข์นับสิบคดี แต่สามารถวิ่งเต้นล้มคดีได้

คดีปั่นหุ้น การฉ้อโกง การไซ่ฟ่อนเงินจากบริษัทจดทะเบียน สร้างความเสียหายให้ประชาชนในวงกว้าง สุดท้ายคดีมักถูกเป่าเงียบหายในชั้นพนักงานสอบสวน

ขณะที่อาชญากรในตลาดหุ้นลอยนวล

คดีความผิดร้ายแรงที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษไว้นับสิบคดี โดยคดีทุจริตของผู้บริหารบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC คดีทุจริตบริษัท โพลารีส แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR และคดีทุจริตใน บริษัท เอิร์ธ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ซึ่งทำให้ประชาชนผู้ลงทุนกว่าครึ่งแสนคนย่อยยับ

แต่ไม่เคยมีคำแถลงจากดีเอสไอว่า ผลการสอบสวนมีความคืบหน้าไปอย่างไร ทั้งที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษไปหลายปีแล้ว

การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมในตลาดหุ้นเป็นเจตนารมณ์ที่ดีของ ก.ล.ต. แต่จะเป็นเพียงความพยายามที่เหนื่อยเปล่า

ตราบใดที่ยังไม่มีการผ่าตัดใหญ่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ปอศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่หมักดองคดีที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษร้องทุกข์

คดีมหากาพย์มหาโกงใน IFEC, POLAR และ EARTH ผ่านมาหลายปีแล้ว ดีเอสไอแถลงให้ประชาชนรับรู้ความคืบหน้าหน่อยได้ไหม หรือเป่าคดีไปแล้ว








กำลังโหลดความคิดเห็น