xs
xsm
sm
md
lg

กูรูชี้หุ้นค้าปลีก-แบงก์-ประกัน ดี๊ด๊ารับรัฐขยายเพดานหนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โบรกเกอร์เชื่อรัฐบาลปรับเพดานหนี้สาธารณะเป็นบวกต่อเศรษฐกิจ เหตุช่วยให้มีช่องทางการกู้เงินเพิ่ม ไม่กระทบเสถียรภาพการคลัง ขณะที่ช่วยเพิ่มความหวังในอนาคตจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ออกมา โดยเฉพาะช่วง Q4/64 มองหุ้นที่ได้ประโยชน์จะเป็นหุ้นกลุ่มค้าปลีก ห้างฯ แบงก์ ประกัน

ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส (ASPS) เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาล เห็นชอบให้ปรับกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเป็นไม่เกิน 70% จากเดิมกำหนดไม่เกิน 60% เมื่อวานนี้ (20 ก.ย.) โดยภาพรวม ASPS ประเมินว่า การปรับเพดานหนี้สาธารณะจะเป็นบวกต่อเศรษฐกิจมากกว่า เนื่องจากจะช่วยให้รัฐมีช่องทางการกู้เงินเพิ่มอีก (ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ประเมินว่าจะสามารถกู้เงินเพิ่มอีก 2 ล้านล้านบาท) ช่วยให้กรอบวงเงินใหม่ของรัฐเพิ่มเป็น 2.38 ล้านล้าน และสอดคล้องกับที่ ASPS เคยนำเสนอ และคาดว่าจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเร็วๆ นี้ ก่อนที่จะรายงานใหม่ ครม. รับทราบต่อไป

การขยายเพดานหนี้ไม่กระทบการปรับฐานตลาดหุ้นไทย

อย่างไรก็ดี สำหรับการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ดังกล่าว มองว่าไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการปรับฐานของตลาดหุ้นไทย เนื่องจากการขยายเพดานหนี้สาธารณะไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งช่วงก่อนหน้านี้ภาครัฐเคยส่งสัญญาณถึงการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะมาบ้างแล้ว เช่น รัฐมนตรีคลังเคย ระบุว่า “ระดับหนี้สาธารณะที่เหมาะสมไม่มีระดับที่ตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับบริบท และบริบทที่ทุกประเทศได้เผชิญ คือ โควิด-19 ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่ปกติ” ในช่วงเดือน มิ.ย.64 ที่ผ่านมา

โดยระดับหนี้สาธารณะของไทยปัจจุบันค่อนข้างสูงเทียบกับเพดานเดิม ซึ่งหนี้สาธารณะของไทย ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 55.59% ของจีดีพี โดยค่อนข้างใกล้กรอบเพดานเดิมที่ 60% ของจีดีพี เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ส่งผลให้ภาครัฐเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่อง (งบประมาณปี 64 ขาดดุล 6 แสนล้าน และงบประมาณปี 65 ขาดดุล 7 แสนล้านบาท)

รวมถึงการกู้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐมีความจำเป็นกู้เงินเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยการปรับเพดานหนี้สาธารณะจึงเกิดขึ้นเพื่อความคล่องตัวในการบริหารหนี้สาธารณะ เพราะหากไม่มีการปรับเพดานขึ้นอาจส่งผลให้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และลงทุนต่างๆ ของรัฐมีความล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นได้

เสถียรภาพการคลังไม่น่าห่วง หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว

ทางด้านเสถียรภาพทางการคลังของไทยยังไม่น่ากังวล โดยพิจารณาจากโครงสร้างหนี้สาธารณะของไทยจะพบว่าหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว และเป็นหนี้ในสกุลเงินบาท ส่งผลให้ฐานะทางการคลังของไทยมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือการผิดนัดชำระหนี้ระยะสั้นจำกัด

ยิ่งไปกว่านั้น หนี้สาธารณะปัจจุบันจำนวน 8.9 ล้านล้านบาท (55.59% ของจีดีพี) ประกอบด้วย หนี้ของรัฐวิสาหกิจจำนวน 7.81 แสนล้านบาท (8.8%) ซึ่งหากไม่นับรวมแล้วจะส่งผลให้หนี้สาธารณะของไทยจะมีเพียง 8.1 ล้านล้านบาท หรือ 50.7% ของจีดีพี

หุ้นค้าปลีก-ห้างสรรพสินค้า-แบงก์-ประกัน รับอานิสงส์ขยายเพดานหนี้

ซึ่งการขยายกรอบการกู้เงินหนุนความหวังว่า ในอนาคตจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ออกมาเพิ่มเติม โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4/64 และหุ้นที่ได้ประโยชน์จะเป็นหุ้นกลุ่มค้าปลีก (CPALL, BJC, CRC HMRO, DOHOME, COM7, SPVI) กลุ่มห้างสรรพสินค้า (CPN)

ด้านฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธีมการลงทุนระยะสั้นจากการเพิ่มเพดานหนี้เป็น 70% และแผนกู้เงินเพิ่มจะทําให้ผลตอบแทนพันธบัตรขยับขึ้น ซึ่งบวกกับกลุ่มธนาคาร และประกัน เช่น KBANK, SCB, TIPH, THRE, BLA


กำลังโหลดความคิดเห็น