xs
xsm
sm
md
lg

BGC ลดธุรกิจพลังงาน มุ่ง ‘แพกเกจจิ้ง’ เต็มตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส" เดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจพลังงานลดสัดส่วนการถือหุ้น มุ่งขยายธุรกิจหลักด้านบรรจุภัณฑ์อย่างเต็มที่ หลังปรับโมเดลสู่ Total Packaging Solutions นำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลาย เตรียมขยายการลงทุนปีนี้แล้วกว่า 5,000 ล้านบาท พร้อมนำเงินคืนหนี้เพิ่มสภาพคล่อง

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ในไทยและภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เดินหน้าปรับโครงสร้างการลงทุนในธุรกิจพลังงานเป็นรูปแบบ Passive Investment มีสัดส่วนการลงทุนน้อยกว่าร้อยละ 20 เพื่อกระจายความเสี่ยง และคงไว้ซึ่งเสถียรภาพและความมั่นคงของรายได้ รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายที่มุ่งเน้นการลงทุนและเติบโตในธุรกิจบรรจุภัณฑ์เป็นหลัก ภายใต้เป้าหมายระยะยาวที่ต้องการมียอดขายเพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัว จาก 1.1 หมื่นล้านบาท เป็น 2.5 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2568

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทฯ เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา มีมติให้นำเสนอผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2564 วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14.00-16.00 น. ผ่านระบบออนไลน์ (Electronic Meeting) ดังนี้

อนุมัติการจำหน่ายหุ้น 100% ที่ถืออยู่ในบริษัท โซล่า พาวเวอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (SPM) ให้แก่ บริษัท บีจี เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด (BGE) เพื่อแลกกับหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ BGE จำนวน 7.5 ล้านหุ้น หรือ 27.27% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ BGE

อนุมัติการจำหน่ายหุ้นจำนวน 2.02 ล้านหุ้น หรือ 7.35% ที่ถืออยู่ใน BGE ให้แก่บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) (BG) ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ ได้รับเงินจำนวนกว่า 600 ล้านบาท และคงเหลือสัดส่วนถือหุ้นในธุรกิจด้านพลังงานผ่าน BGE ที่ 19.93% อนุมัติให้ SPM ทำสัญญากู้ยืมเงินจาก BGE วงเงินไม่เกิน 270 ล้านบาท เพื่อให้ SPM มีเงินทุนในการชำระเงินกู้ยืมเดิมและดอกเบี้ยค้างชำระ

“หลังจากที่เราได้ปรับโมเดลธุรกิจยกระดับจากผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้ว สู่ Total Packaging Solutions ด้วยการนำเสนอบริการบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (One stop service) ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์แก้ว พร้อมฉลาก ฝา และกล่องกระดาษ บริษัทฯ จึงมุ่งขยายการลงทุนในธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์เป็นหลัก นำมาซึ่งการปรับโครงสร้างธุรกิจด้านพลังงานในครั้งนี้” นายศิลปรัตน์ กล่าว

นายศิลปรัตน์ กล่าวต่อว่า บริษัทฯ เตรียมนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหุ้น BGE และได้รับคืนเงินกู้ยืมจาก SPM มาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการหลัก และชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นบางส่วนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ นับจากเดือนมกราคมที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ขยายการลงทุนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์และลงทุนเตาหลอมแก้วแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท ได้แก่ การเข้าถือหุ้น 100% ในบริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (BGP) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายฟิล์มพลาสติก ฝาพลาสติก ขวด PET หลอดพรีฟอร์ม และเข้าถือหุ้น 100% ในบริษัท บางกอกบรรจุภัณฑ์ จำกัด (BVP) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์กระดาษ ใช้งบลงทุนรวมประมาณ 1,650 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย

ส่วนการลงทุนก่อสร้างเตาหลอมแก้วแห่งใหม่ในจังหวัดราชบุรี ใช้งบลงทุน 1,600 ล้านบาท และลงทุนขยายกำลังผลิตโรงงานจังหวัดปราจีนบุรี ใช้งบลงทุนรวม 910 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 ซึ่งทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกกว่า 13% เป็น 3,935 ตันต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 3,495 ตันต่อวัน

นอกจากนี้ ได้ขยายกำลังการผลิตถุงบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) ในบริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (BGP) เพื่อตอบสนองความต้องการถุงบรรจุภัณฑ์ในประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงและขยายฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงต่อยอดเข้าสู่ธุรกิจกลางน้ำ เพื่อผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน โดยใช้งบลงทุนกว่า 180 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการไตรมาส 1/2565 และผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในไตรมาส 1/2566

“จากการที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้รับประทานอาหารภายในร้านอาหารได้บางส่วน ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน
ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับผลดีจากการจำหน่ายขวดบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มและน้ำดื่มเพิ่มขึ้น และถ้าสถานการณ์ยังดีอย่างต่อเนื่อง เราคาดว่ารัฐบาลจะทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้าย ซึ่งจะทำให้เกิดการจัดกิจกรรมต่างๆ ในช่วงปลายปีและกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อผลประกอบการของบริษัทฯ ในปีนี้ที่จะมีรายได้และกำไรเติบโตกว่าปีก่อน” นายศิลปรัตน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น