"ยู ซิตี้-วีจีไอ" ทุ่มทุน 19,236.91 ล้านบาท ซื้อหุ้น “เจมาร์ท-ซิงเกอร์ฯ” ด้วยการที่ U ใช้เงิน 12,211 ล้านบาท ซื้อหุ้น JMART สัดส่วน 9.90% และซื้อ SINGER สัดส่วน 24.90% ขณะ VGI ใช้เงิน 7,025 ล้านบาท ซื้อหุ้น JMART สัดส่วน 15% คาดปิดดีลได้ไตรมาส 4 ปีนี้ ยันไม่กระทบการดำเนินงานและการจ่ายเงินปันผล
น.ส.สรญา เสฐียรโกเศศ กรรมการ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U แจ้งมติประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ว่าบอร์ดได้มีมติอนุมัติการเข้าลงทุนในบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART และบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER โดยจะเข้าจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ JMART จำนวน 136,119,587 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.00 บาท ในราคาจองซื้อหุ้นละ 30.3370 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4,129.46 ล้านบาท ทำให้บริษัทถือหุ้นใน JMART สัดส่วน 9.90% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของ JMART
อีกทั้งให้จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SINGER จำนวนไม่เกิน 197,108,696 หุ้น พาร์หุ้นละ 1.00 บาท ในราคาจองซื้อหุ้นละ 36.3005 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 7,155.14 ล้านบาทบาท ทำให้บริษัทถือหุ้นใน SINGER ในสัดส่วน 24.90% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของ SINGER
ขณะเดียวกัน U ยังจะได้มาซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธิ หรือวอร์แรนต์ (JMART-W6) ที่จัดสรรให้แก่ผู้ลงทุนที่จองซื้อและได้รับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) จำนวน 16,723,002 หน่วย โดยไม่คิดมูลค่าการเสนอขาย อัตราการใช้สิทธิ 1 หน่วยต่อ 1 หุ้นสามัญของ JMART ในราคาใช้สิทธิ 30.3370 บาทต่อหุ้น หากบริษัทได้มีการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิครบจำนวนจะคิดเป็นมูลค่าการลงทุน 507.33 ล้านบาท และได้มา SINGER-W3 จำนวน 11,557,681 หน่วย อัตราการใช้สิทธิ 1 หน่วยต่อ 1 หุ้นสามัญของ SINGER ในราคาใช้สิทธิ 36.3005 บาทต่อหุ้น จะคิดเป็นมูลค่าการลงทุน 419.55 ล้านบาท
สำหรับการทำธุรกรรมครั้งนี้คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 12,211.48 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 2% ถึง 5% ต่อปี ทั้งนี้การกู้ยืมจากสถาบันการเงินดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหุ้น และกระแสเงินสดภายในของบริษัทฯ
ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบันธุรกิจประเภทการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า บริการ และโรงแรม ซึ่งธุรกิจของบริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงมีความต้องการลงทุนในธุรกิจประเภทใหม่ จึงสนใจในกลุ่มธุรกิจของ SINGER ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า การให้บริการเช่าซื้อ การให้บริการสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน การให้บริการทางการเงินอื่นๆ รวมไปถึงการให้บริการเป็นนายหน้าประกันชีวิตและประกันภัย ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่บริษัทฯ มองว่าเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มในการเติบโตที่ดีในอนาคตและจะช่วยเสริมสร้างให้บริษัทฯ มีผลประกอบการที่ดีขึ้นจากการลงทุนดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังเห็นว่า JMART ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจลงทุนในธุรกิจอื่น โดยมีธุรกิจหลักคือการจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมไปถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการค้าปลีกและค้าส่ง และลงทุนในธุรกิจหลากหลายจะช่วยเสริมสร้างให้บริษัทมีการดำเนินประเภทธุรกิจที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น และธุรกรรมการเข้าลงทุนใน JMART และ SINGER จะช่วยเสริมสร้างให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้นจากการลงทุนและลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโรงแรม ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีพันธมิตรใหม่ทางธุรกิจที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในอนาคต
นายมารุต อรรถไกวัลวที กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ว่าบอร์ดได้มีมติอนุมัติการจองหุ้นสามัญเพิ่มทุน JMART ที่จะออกและเสนอขายให้แก่บริษัทฯ ในรูปแบบของการออกและเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) จำนวน 206,241,800 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท ในราคาจองซื้อหุ้นละ 30.3370 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6,256.76 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้บริษัทถือหุ้นใน JMART สัดส่วน 15% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของ JMART คาดว่าดีลนี้จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปีนี้
สำหรับดีลนี้ VGI จะได้มาซึ่งวอร์แรนต์ หรือ JMART-W6 จำนวน 25,337,882 หน่วย โดยไม่คิดมูลค่าการเสนอขาย อัตราการใช้สิทธิ 1 หน่วยต่อหุ้นสามัญของ JMART จำนวน 1 หุ้น ในราคาใช้สิทธิ 30.3370 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าลงทุน 768.68 ล้านบาท
โดยดีลนี้คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7,025.43 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจากกระแสเงินสดภายในของบริษัทประมาณ 5-10% ของมูลค่าเงินลงทุน และเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 90-95% ของมูลค่าเงินลงทุน ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 0.9% ถึง 4% ต่อปี ซึ่งการใช้เงินลงทุนดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน และความสามารถการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น
นายมารุต กล่าวว่า มูลค่าการลงทุนของทั้ง 2 บริษัท คิดเป็นเม็ดเงินรวมประมาณ 19,236.91 ล้านบาท และการลงทุนดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจหลักด้านสื่อโฆษณา ธุรกิจบริการชำระเงิน และธุรกิจโลจิสติกส์ รวมถึงธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ Gadget จากประเทศจีนที่บริษัทเพิ่งเข้าลงทุนผ่านบริษัท แฟนส์ลิ้งค์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา บริษัทเล็งเห็นว่า JMART ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจลงทุนในธุรกิจอื่นเพราะมีธุรกิจหลัก คือ การจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมไปถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในรูปแบบค้าปลีกและค้าส่งเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแนวโน้มการทำงานและการเรียนหนังสือจากบ้านที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะช่วยสร้างประโยชน์และส่งเสริมระบบนิเวศทางธุรกิจ ณ ปัจจุบันของบริษัทฯ และเพิ่มความหลากหลายทางธุรกิจของกลุ่มบริษัทมากขึ้น รวมถึงเกิดประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้น
ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนของทั้ง 2 บริษัทของบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ครั้งนี้คิดเป็นเม็ดเงินรวมประมาณ 19,236.91 ล้านบาท