xs
xsm
sm
md
lg

จับตาประชุม FED เดือน ก.ย. พลิกเกมการลงทุนทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาการประชุม FED ปลายเดือนกันยายน พลิกเกมการลงทุนทั่วโลก นักลงทุนรุ่นใหม่ประเมินอาจเป็นจุดเปลี่ยนของราคาสินทรัพย์ต่างๆ หลังจากนี้ มองหุ้นกลุ่มแวลูสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรปมีโอกาสฟื้นตัวเร็วจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นและอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อยู่ในระดับที่สูง ส่วนตลาดหุ้นเอเชีย รวมถึงทองคำคาดว่ายังไม่ฟื้นตัวในช่วงระยะเวลาสั้น

นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ FED ในวันที่ 21-22 กันยายนนี้ น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ทั่วโลก เพราะคาดการณ์ว่า FED จะมีความชัดเจนในเรื่องของนโยบายทางการเงิน ซึ่งก่อนหน้านี้ในการประชุมวิชาการประจำปี เจอโรม พาเวล ประธาน FED ได้แสดงข้อความออกมาแล้วว่าจะเริ่มเดินหน้าลดวงเงินตามมาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน หรือ QE Tapering แต่จะยังไม่เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบกับการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐณ หรือ Non-farm Payroll ที่ออกมาน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก จะเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้กรรมการ FED ตัดสินใจที่จะลดการผ่อนคลายการอัดฉีดทางการเงิน

"เมื่อคืนวันอังคารที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.373% และ Dollar Index แข็งค่าอย่างรวดเร็ว อาจจะเป็นเพราะนักลงทุนบางส่วนมองว่าการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ ที่เพิ่งประกาศไปล่าสุดลดลงชั่วคราวเท่านั้น สุดท้ายแล้วเมื่อการจ้างงานดีขึ้น FED จะหันมาใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวด้วยการลดวงเงินการทำ QE อย่างต่อเนื่องและเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายในที่สุด ซึ่งเท่ากับว่าการประชุมในวันที่ 21-22 กันยายนที่จะถึงนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของราคาสินทรัพย์โลกที่จะผันแปรตามการตัดสินใจของ FED รวมถึงความคิดเห็นที่จะตามออกมาภายหลัง"

อีกประเด็นที่ต้องจับตา คือ ประธาน FED คนปัจจุบันกำลังจะหมดวาระลงในปี 2564 ซึ่ง เจอโรม พาเวล ได้รับการสนับสนุนจากพรรครีพับลิกัน ตั้งแต่สมัยโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี ซึ่งเขาเป็นฝ่ายสนับสนุนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย แต่หากพรรคเดโมแครต เสนอชื่อประธาน FED คนใหม่ ที่มีความอนุรักษนิยมและน่าจะมีนโยบายที่รักษาวินัยทางการเงินในระดับสูง ประเด็นนี้อาจทำให้ตลาดการเงินเกิดความผันผวนได้

สำหรับทิศทางสินทรัพย์การลงทุนหลังจากนี้ ตลาดหุ้นที่น่าสนใจยังคงเป็นตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากการที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แม้จะได้รับผลกระทบในระยะสั้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา แต่อัตราการฉีดวัคซีนยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจน่าจะผ่อนคลายลง โดยหุ้นกลุ่มแวลู หรือธุรกิจแบบดั้งเดิมที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ราคาหุ้นน่าจะปรับตัวขึ้นได้ดีกว่ากลุ่มหุ้นเติบโต หรือหุ้นเทคโนโลยีที่ปรับตัวขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว ขณะเดียวกัน มองตลาดหุ้นยุโรปมีโอกาสจะฟื้นตัวเร็วเช่นกัน เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับที่สูง และหลายประเทศเริ่มเปิดเมืองอย่างเต็มรูปแบบ และมูลค่าของตลาดหุ้นยุโรปยังไม่ได้แพงมากนัก จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีในการลงทุน

ทางด้านตลาดหุ้นเอเชียในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Market ประเมินจากสถิติในอดีตเมื่อ FED เริ่มนโยบาย QE Tapering จะทำให้กระแสเงินไหลกลับไปยังสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ตลาดหุ้น Emerging Market จะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี ขณะที่ตลาดหุ้นจีน ยังคงได้รับแรงกดดันจากนโยบายภาครัฐที่เข้ามาควบคุมการเติบโตของภาคธุรกิจ จึงมองว่าช่วงนี้ยังไม่ใช่จังหวะในการลงทุนสำหรับการลงทุนระยะสั้น แต่สามารถมองเป็นการลงทุนระยะยาวได้ เนื่องจากมูลค่าค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับอดีต

ส่วนราคาทองคำ ค่อนข้างที่จะอ่อนไหวและได้รับแรงกดดันจากนโยบายของ FED โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ให้น้ำหนักว่า FED จะใช้นโยบายการเงินแบบคุมเข้ม ทำให้ราคาทองคำยังไม่สามารถกลับมาเป็นขาขึ้นได้ในระยะสั้น ซึ่งผลวิเคราะห์กราฟเทคนิค หากราคาทองคำไม่สามารถผ่านแนวต้าน 1,830 ดอลลาร์สหรัฐ แนวโน้มราคาจะยังไม่สามารถพลิกกลับมาเป็นขาขึ้นได้ และหากราคายังร่วงลงอีกจะมีแนวรับแรกที่ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ ถ้ายังรับไม่อยู่ แนวรับถัดไปจะอยู่ที่ 1,770 และ 1,750 ดอลลาร์สหรัฐ

"แนะนำนักลงทุนรอดูนโยบายของ FED ที่จะประกาศออกมาในเดือนนี้ เพื่อจะสามารถจัดสินทรัพย์การลงทุนให้เหมาะสม เพราะนโยบายของ FED คือ ปัจจัยที่จะชี้นำทิศทางของทุกสินทรัพย์หลังจากนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าการคาดเดาทิศทาง คือ การบริหารเงินในพอร์ตให้ลงตัว ทั้งการจัดสรรเงินลงทุนระยะสั้น กลาง ยาว รวมถึงเงินสด เพื่อพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้น"


กำลังโหลดความคิดเห็น