xs
xsm
sm
md
lg

กรมพระศรีสวางควัฒน ทรงเป็นประธานเปิดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 29

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 29 ประจำปี 2564 ในรูปแบบออนไลน์



วันนี้ (25 ส.ค.) สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 29 ประจำปีงบประมาณ 2564 ในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “วิทยาศาสตร์การแพทย์วิถีใหม่ เพื่อสุขภาพและเศรษฐกิจไทย : New Normal Medical Sciences for Thai Health and Economics” โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานประชุม พร้อมด้วย นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ ประธานกรรมการมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เข้าร่วมในพิธี ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนรับทราบความก้าวหน้าทางวิทยาการนวัตกรรมและเทคโนโลยี ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อที่จะได้พัฒนาและร่วมกันสร้างสรรค์งานวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้มีความก้าวหน้า และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน

ในการนี้ ทรงพระราชทานอนุญาตให้ผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น นักวิทยาศาสตร์การแพทย์รุ่นใหม่ DMSc Award และผู้มีอุปการคุณในการจัดการประชุม รวมจำนวน 7 ราย เข้ารับพระราชทาน โล่ที่ระลึกหน้าพระฉายาลักษณ์

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 29 ประจำปีงบประมาณ 2564 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม 2564 ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี ในรูปแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,000 คน มีการนำเสนอผลงาน การวิจัยและการประกวดผลงานทางวิชาการ ซึ่งได้รับความสนใจ จากนักวิชาการเข้าร่วมส่งผลงาน จำนวนทั้งสิ้น 193 เรื่อง โดยแบ่งเป็น 4 สาขา ได้แก่ สาขา Current Research and Innovation on Diseases จำนวน 46 เรื่อง สาขา Medical Sciences for Better Consumer’s Health จำนวน 82 เรื่อง สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน เพื่อการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน จำนวน 44 เรื่อง และสาขา Medical Science Symposium จำนวน 21 เรื่อง

“นอกจากนี้ยังได้รับเกียติจากวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วมปาฐกถาและบรรยายพิเศษ เช่น ปาฐกถาเกียรติยศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส เรื่อง “COVID-19 : บทบาทของวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจไทย” โดย องค์ปาฐก นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การบรรยายเรื่อง “นวัตกรรม เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ในการตอบโต้โควิด 19 และโรคอุบัติใหม่” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และการบรรยายเรื่อง “สายพันธุ์มนุษย์และโรค” โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตพลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีแห่งชาติ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และนายแพทย์จักรกฤษณ์ เอื้อสุนทรวัฒนา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ที่สนใจสามารถ รับฟังการบรรยายผ่านออนไลน์ระบบ Zoom Webinar และ Facebook Live ได้ 4 ช่องทาง คือ Fan page การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ Food_safety และผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเก็บคะแนนจำนวนหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์/เทคนิคการแพทย์ รวม 3 วัน 13.5 หน่วยกิต”นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น