ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองภาพรวมตลาดคริปโตเคอร์เรนซียังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนบางกลุ่ม แม้ว่าปัจจุบันจะยังคงมีความผันผวนสูง เนื่องด้วยเป็นสินทรัพย์ใหม่ที่อาจยังมีมูลค่าไม่ชัดเจนเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่น แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีกลับมีการเติบโตเป็นอย่างมาก ตามข่าวเชิงบวกและกระแสความต้องการลงทุนของนักลงทุนรายใหญ่ ทำให้คริปโตเคอร์เรนซีให้ผลตอบแทนสูง เมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน คริปโตเคอร์เรนซีจึงได้กลายเป็นสินทรัพย์ทางเลือกใหม่ในหมู่นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนที่พยายามแสวงหาสินทรัพย์ใหม่ๆ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for Yield) จากภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงในกลุ่มนักลงทุนที่ชื่นชอบความเสี่ยงและต้องการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนไปยังสินทรัพย์ใหม่ๆ ท่ามกลางภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
ด้วยความน่าสนใจของตลาดคริปโตเคอร์เรนซีที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง ทำให้เป็นที่ดึงดูดกลุ่มนักลงทุนรายใหม่เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน ได้มีนักลงทุนรายย่อยรายใหม่ๆ เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในวงจำกัด โดยปัจจุบันมีจำนวนบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยทั้งหมด 1,379,373 บัญชี ซึ่งน้อยกว่าบัญชีซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ราว 2.1 เท่า แต่ก็มีอัตราการขยายตัวสูงอยู่ที่ร้อยละ 27.6 ต่อเดือน ขณะที่บัญชีซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ 2.9 ต่อเดือน สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมลงทุนในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในไทย อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยคริปโตเคอร์เรนซียังคงเป็นสินทรัพย์ใหม่และมีความผันผวนสูง จึงมีประเด็นคำถามที่ว่า แท้จริงแล้ว นักลงทุนในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในไทยเหล่านั้นมีลักษณะ หรือมีมุมมองในแง่ของการลงทุนเป็นแบบใด
ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดูแลและพัฒนาตลาดคริปโตเคอร์เรนซีของไทยต่อไป ในช่วงที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ดำเนินการสำรวจการลงทุนในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีกับกลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชนที่มีรายได้สูง อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงน่าจะเป็นกลุ่มที่มีความเข้าใจด้านคริปโตเคอร์เรนซีสูง ขณะเดียวกัน เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีจำนวนตัวอย่างที่จำกัด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังในการตีความเชิงสถิติ เนื่องจากผลทางสถิติอาจจะเปลี่ยนแปลงตามขนาดของกลุ่มตัวอย่างได้ และผลทางสถิติอาจไม่ได้สะท้อนถึงประชากรทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจดังกล่าวได้มีผลทางสถิติที่น่าสนใจหลายประการที่น่าจะสามารถบ่งชี้ลักษณะ มุมมองและความคาดหวังของนักลงทุนไทยในเบื้องต้นได้
โดยผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า กลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปรู้จักคริปโตเคอร์เรนซีสูงถึงร้อยละ 69.4 มีคนสนใจลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีมากถึงร้อยละ 52.0 และลงทุนจริงในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 24.3 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปที่ยังไม่ได้ลงทุนจริงในปัจจุบันมีความสนใจที่จะลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีในอีก 1 ปีข้างหน้าราวร้อยละ 42.0 ยิ่งเป็นการตอกย้ำภาพให้เห็นว่า จะมีนักลงทุนรายใหม่ๆ เข้ามาในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในไทยอีกมากในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี กลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปส่วนใหญ่ยังคงมีความเข้าใจเกี่ยวกับสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีที่ค่อนข้างจำกัด โดยอาจเข้าใจว่าคริปโตเคอร์เรนซีเป็นเพียงระบบการให้บริการทางการเงิน หรือรู้จักคริปโตเคอร์เรนซีในนามของบิตคอยน์ และมีไว้เพื่อการลงทุนหรือเก็งกำไรเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว คริปโตเคอร์เรนซีสามารถทำได้มากกว่านั้น เช่น สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ สิทธิประโยชน์ รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ด้วยกัน
และเมื่อเจาะเพิ่มเติมด้วยคำถามถึงวัตถุประสงค์การลงทุน ภาพรวมกลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปที่รู้จักคริปโตเคอร์เรนซีส่วนใหญ่ราวร้อยละ 26.6 คาดหวังว่าคริปโตเคอร์เรนซีจะสามารถนำมาเก็งกำไรระยะสั้นได้ ซึ่งน่าจะสามารถบ่งชี้ในเบื้องต้นได้ว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีมุมมองต่อคริปโตเคอร์เรนซีในแง่ของสินทรัพย์ทางเลือกที่เน้นการเก็งกำไร และน่าจะมีการรับรู้ถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการลงทุน อันเนื่องมาจากความผันผวนของราคา สอดคล้องผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ชี้ว่า นักลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีในกลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปกว่าร้อยละ 76.3 สามารถรับได้หากเงินลงทุนจะหายไปมากกว่าร้อยละ 50 ภายใน 1 วัน ซึ่งสะท้อนความมั่นใจอีกมุมหนึ่งว่าราคาคริปโตเคอร์เรนซีจะสามารถผันตัวกลับมาได้โดยเร็ว ขณะเดียวกัน มีนักลงทุนบางส่วนที่คาดว่าคริปโตเคอร์เรนซีจะสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้ (ร้อยละ 18.6) หรือสามารถทดแทนการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินแบบดั้งเดิม เช่น หุ้น ตราสารหนี้ (ร้อยละ 16.3) สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีในอนาคต สอดคล้องกับผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยอีกด้านหนึ่งว่า กลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปที่ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีส่วนใหญ่ราวร้อยละ 56.7 เปรียบการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีเหมือนเช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้น
ส่วนเหตุผลส่วนหนึ่งที่นักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี เพราะมีความเชื่อมั่นว่าราคาจะขึ้นไปอีกเรื่อยๆ และคาดหวังที่จะได้ผลตอบแทนสูง (ร้อยละ 21.0) หรือเห็นเพื่อนหรือคนรอบข้างลงทุนและได้ผลตอบแทนสูง (ร้อยละ 11.5) หรือเพื่อนหรือคนรอบข้างชักชวนลงทุน (ร้อยละ 9.0) ซึ่งจากเหตุผลต่างๆ ดังกล่าวสะท้อนถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดความเสียหายจากการลงทุนในตลาดสูง เนื่องจากความไม่เข้าใจในทิศทางตลาดที่อยู่ในภาวะความผันผวนสูง และอาจเป็นเป้าหมายต่อการถูกชักชวนให้เข้าร่วมลงทุนแบบผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ดี นักลงทุนส่วนใหญ่ใช้เงินลงทุนจริงในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีไม่มาก โดยจากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปที่ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีส่วนใหญ่ราวร้อยละ 48.5 ใช้เงินลงทุนในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินออม นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดจากการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีได้ในระดับหนึ่ง หากตลาดเกิดความผันผวนรุนแรงในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
โดยสรุป ท่ามกลางความนิยมในการลงทุนตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในไทย ภายใต้มุมมองของนักลงทุนไทยที่ส่วนใหญ่ค่อนข้างเข้าใจในภาวะเสี่ยงจากการลงทุนในตลาด ขณะเดียวกัน มีนักลงทุนบางส่วนที่อาจจะยังไม่เข้าใจถึงสภาวะเสี่ยงนั้น ขณะที่มีความคาดหวังและมีความเชื่อมั่นว่าจะได้รับผลตอบแทนในระดับสูงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการจะลดความเสี่ยงจากภาวะความผันผวนในตลาด หรือสร้างโอกาสจากการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีจำเป็นต้องอาศัยทักษะความรู้ทางการเงินและความรู้เท่าทันต่อเทคโนโลยีดิจิทัลด้วย นับว่าเป็นโจทย์สำคัญต่อทั้งกลุ่มนักลงทุนและทางการ โดยนักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีควรต้องเร่งเสริมสร้างทักษะความรู้และความเข้าใจในเรื่องสกุลเงินดิจิทัลอย่างคริปโตเคอร์เรนซีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเทรนด์เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่มีสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีใหม่ๆ เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง
ส่วนทางการอาจต้องเพิ่มแหล่งการเรียนรู้ที่จะเป็นสื่อกลางในการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น เพื่อลดความสูญเสียอันจะเกิดกับนักลงทุนในตลาด โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือนักลงทุนมือใหม่ที่มุ่งหวังผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับสูง ท่ามกลางอัตราผลดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ที่จะยังอยู่ในระดับต่ำอย่างน้อยในอีก 1-2 ปีข้างหน้าตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ ความรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์ดิจิทัล ควบคู่กับความรู้ทางการเงินที่ดีขึ้นยังน่าจะช่วยปูทางไปสู่การใช้เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง และนวัตกรรมทางการเงินที่จะตามมาอีกมากในอนาคตด้วย