ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองภาพธุรกิจธนาคารพาณิชย์หลังเผชิญสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กินระยะเวลามาเกือบ 2 ปี โดยพิจารณาจากสถานการณ์กำไรสุทธิของระบบแบงก์ของไทยปัจจุบันนั้น บางส่วนมาจากรายได้ดอกเบี้ยค้างรับตามสิทธิ ซึ่งจะได้รับเมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้และมีมาตรการพักชำระหนี้ในช่วงท้ายสัญญา นั่นหมายความว่า ระหว่างทางธนาคารจะถือดอกเบี้ยค้างรับไว้ โดยที่ไม่สามารถแน่ใจได้ว่าลูกหนี้จะจ่ายชำระได้จริงหรือไม่และมากน้อยเพียงใด เพียงแต่ภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ ธนาคารสามารถพิจารณาความเสี่ยงเครดิตของลูกหนี้และตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้นได้ อันเป็นผลให้ที่ผ่านมา ระดับการตั้งสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์จึงยังสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19
ขณะที่การลดลงของหนี้ที่เข้ามาตรการความช่วยเหลือทางการเงินที่ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ คือความแตกต่างที่อาจทำให้ธนาคารไทยเสียเปรียบจากสัดส่วนลูกค้าเข้ามาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่สูงกว่าและลดลงช้ากว่า โดย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ 15.4% เทียบกับของสิงคโปร์ที่ 3% (ม.ค.64) และมาเลเซียที่ 15% (ก.พ.64) ตามลำดับ รวมถึงความสามารถในการทำกำไรที่วัดผ่านอัตรากำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) มีระดับต่ำกว่าประเทศเหล่านั้น เนื่องจากความกังวลต่อปัญหาคุณภาพหนี้ทำให้ยังต้องคงภาระการตั้งสำรองหนี้ในระดับสูงเป็นสำคัญ และด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งจึงวนอยู่กับกิจกรรมช่วยเหลือลูกค้าและดูแลประเด็นคุณภาพหนี้ที่เกี่ยวข้อง จึงส่งผลตามมาให้ระบบธนาคารพาณิชย์คงเห็นทิศทางผลประกอบการที่ฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นเช่นกัน โดยการเห็นตัวเลขที่กลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 คงยากจะเกิดขึ้นภายใน 1-2 ปีนี้ ขณะที่ฝั่งสิงคโปร์ และสหรัฐฯ น่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของผลประกอบการที่กลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 แล้วในปี 2564
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์จะมีการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานหรือปัญหาคุณภาพหนี้ที่คงจะล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ในรอบนี้ที่ยังมีอยู่ แต่โจทย์ที่สำคัญและน่ากังวลมากกว่า จะเป็นความอยู่รอดของธุรกิจและครัวเรือนที่ต้องฝ่าฟันปัญหาด้านรายได้ ขีดความสามารถทางการแข่งขัน รวมไปถึงหนี้สินที่เพิ่มขึ้นภายใต้บริบทเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมใหม่ที่เปลี่ยนไป ประกอบกับยังต้องเร่งหาคำตอบว่า ไทยจะอาศัยจุดแข็งของธุรกิจใดในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศท่ามกลางข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่ไทยเก่งแต่เป็นเทคโนโลยีในโลกเก่า เพราะจะหมายความถึงความยั่งยืนของทิศทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ ครัวเรือน ตลอดจนธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไทยในระยะยาว
ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์คงแก้ปัญหาและเร่งปรับตัวเฉพาะหน้าเพื่อหาวิธียืนยันรายได้ทางเลือกของลูกค้า การหาลูกค้าศักยภาพ การลดต้นทุนในมิติต่างๆ รวมถึงการหาโอกาสจากโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่มากไปกว่าโลกการเงินแบบเดิม ซึ่งแม้จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ลูกค้าได้กว้างและหลากหลายขึ้นกว่าเดิม และพอจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจประคองการเติบโตไว้ได้ แต่คงไม่สามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นการเติบโตที่ยั่งยืนได้ หากไม่ได้มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังจากโควิด-19 จบอย่างจริงจัง