หุ้น บริษัท เดลด้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA เงียบหายไปพักหนึ่งแล้ว แต่เมื่อวันศุกร์ที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ถูกปลุกผีขึ้นมาใหม่ มีการลากราคาขึ้นอย่างร้อนแรง แต่ไม่ทันถึงครึ่งวันถูกทุบขายจนดิ่งลงแทบจะติดลบ
และไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า เกิดอะไรกับหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ตัวนี้
ราคาหุ้น DELTA เปิดการซื้อขายที่ 598 บาท ก่อนจะถูกลากจนพุ่งทะยานขึ้นไปสูงสุดที่ 658 บาท เพิ่มขึ้นจากจุดปิดวันก่อน 82 บาท แต่เวลาประมาณ 11.00 น. มีแรงขายทะลักเข้ามาทำให้ราคาปักหัวลงอย่างต่อเนื่อง จนปิดการซื้อขายที่ 576 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน มูลค่าซื้อขายทั้งสิ้น 4,792.07 ล้านบาท โดยเป็นหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดประจำวัน
การปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงของ DELTA ในช่วงแรกมีผลทำให้ดัชนีหุ้นเปิดตลาดปรับตัวขึ้นตาม เนื่องจาก DELTA เป็นหุ้นขนาดใหญ่ มีมาร์เกตแคปหรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูง จึงมีผลผลักดันให้ดัชนีหุ้นพุ่งขึ้นหลายจุด แต่เมื่อราคาหุ้นปรับฐานลงมา ดัชนีหุ้นจึงอ่อนตัวลง จากบวกในช่วงแรกเกือบ 10 จุด แต่ปิดตลาดกลับมาติดลบ 5.94 จุด
ความร้อนแรงของ DELTA กลายเป็นพฤติกรรมปกติของหุ้นตัวนี้ไปแล้ว และไม่ควรหาคำอธิบายใดๆ เพราะทุกครั้งที่หุ้นพุ่งแรงหรือทรุดตัวลงแรง ไม่เคยมีเหตุผลสนับสนุน
ตลาดหลักทรัพย์แทบจะใช้ทุกมาตรการแล้ว ในการดับความร้อนแรงของ DELTA แต่ไม่เคยได้ผล โดยตั้งแต่ต้นปีประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายแล้ว 5 ครั้ง แต่ทำได้เพียงสยบราคาหุ้นได้เพียงครั้งคราวเท่านั้น
ปัญหาของ DELTA คือ ปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดน้อยมาก โดยหุ้นสัดส่วนกว่า 90% อยู่ในมือผู้ถือหุ้นรายใหญ่และนักลงทุนสถาบัน เหลือหุ้นในมือผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ถึง 10% ของทุนจดทะเบียน ทำให้ราคาขึ้นลงอย่างหวือหวา เมื่อมีแรงซื้อหรือแรงขายจำนวนมากไหลเข้ามา
และหากมีรายใหญ่หรือเจ้ามือลากราคาหุ้น ยิ่งทำได้ง่าย เพราะปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดมีน้อย
แม้ว่าหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัว และปริมาณความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังสูง แต่สำหรับราคาหุ้น DELTA ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน โดยมีค่าพี/อี เรโช 94 เท่า และอัตราเงินปันผลตอบแทนเพียง 0.57%
เทียบกับหุ้นในกลุ่มเดียวกันที่มีปัจจัยพื้นฐานน่าสนใจกว่า เช่น บริษัท ฮานา ไมโครอิเลคโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ซึ่งมีค่าพี/อี เรโช 30 เท่า และอัตราเงินปันผลตอบแทน 1.85% และหุ้น บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ซึ่งมีค่าพี/อี เรโช 77 เท่า และอัตราเงินปันผลตอบแทน 1.01%
ทั้ง HANA และ KCE แม้จะร้อนแรง แต่เป็นการปรับตัวขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ โดยขึ้นมาต่อเนื่องนับจากต้นปี ขณะที่ DELTA มีความผันผวน
การลากขึ้นทุบลงของราคาหุ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จะทำให้นักเก็งกำไรหวาดผวา DELTA กันมากขึ้น เพราะใครที่เข้าไปลุยคงเจ็บเนื้อเจ็บตัว เพราะราคาปักหัวลงจนขายหนีไม่ทัน และเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า
DELTA โหดจริงๆ ลากขึ้นไม่ถึงครึ่งวันก็ถล่มขายปิดรอบเสียแล้ว
และแม้ลากกันเห็นจะจะ แต่ก็ไม่มีใครทำอะไร DELTA ได้ นักลงทุนที่คิดเสี่ยงกับหุ้นตัวนี้ ต้องระวังกันเอง พลาดนิดเดียวหมดตัวได้