xs
xsm
sm
md
lg

BM ชี้โปรเจกต์ “ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า” จ่อเปิดตัว-รับออเดอร์แรก ต.ค.64

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




"บางกอกชีทเม็ททัล" รุกคืบโปรเจกต์ “ตุ๊ดตุ๊กไฟฟ้า” เตรียมเปิดตัว-รับคำสั่งซื้อแรก เดือน ต.ค.64 พร้อมเปิดรับพันธมิตรลุยต่อยอดธุรกิจใหม่ หวังลดต้นทุนผลิต เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และกำลังการผลิตในเบื้องต้นรองรับยอดขายได้ถึง 400 คัน

นายธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกชีทเม็ททัล จำกัด (มหาชน) หรือ BM ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็กใน 6 กลุ่มสินค้า เปิดเผยความคืบหน้าธุรกิจตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ที่ใช้บรรทุกส่วนบุคคล และใช้บรรทุกสิ่งของไม่เกิน 1 ตัน ว่า ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาต่อยอดการผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่หลากหลายโมเดล เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด อย่างกลุ่มโรงแรม รีสอร์ต ฟาร์ม และโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความต้องการจำนวนมาก เนื่องจากทำให้เกิดความคล่องตัว ประหยัด ดูแลรักษาง่าย ไม่มีมลพิษ มีต้นทุนต่ำ ราคาจับต้องได้ ขณะที่การขอป้ายทะเบียนปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากกองวิศวกรรมแล้ว และคาดว่าได้รับการอนุมัติป้ายทะเบียนรถสาธารณะส่วนบุคคล ภายในเดือนกันยายน 2564 นี้

ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะเปิดตัวและรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2564 นี้ พร้อมจะนำโมเดลต้นแบบไปโชว์ให้ลูกค้าได้สัมผัส เช่น ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่เป็นรถนั่ง รถบรรทุก และฟูดทรัก โมเดลละ 2-3 ไซส์ โดยราคาขายรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเฉลี่ยจะเริ่มต้นที่ 60,000-300,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดการใช้งานของลูกค้า ซึ่งกำลังการผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ในช่วงแรกบริษัทฯ คาดว่าจะผลิตได้อยู่ที่ 1 คันต่อวัน และมีขีดความสามารถในการผลิตอยู่ที่ 5 คันต่อวัน หากมีคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หลังเปิดรับคำสั่งซื้อแรก บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะส่งมอบสินค้าได้เลยภายในสิ้นปี 2564

นอกจากการวางแผนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ด้วยการหาพันธมิตรธุรกิจเพื่อพัฒนาการผลิตแบตเตอรี่ร่วมกัน ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากแบตเตอรี่เป็นองค์ประกอบหลัก และเป็นหัวใจของต้นทุนอย่างหนึ่งในการผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ซึ่งหากสามารถผลิตแบตเตอรี่ได้เอง เชื่อว่าจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าแบตเตอรี่จากต่างประเทศที่มีราคาสูง ทำให้บริษัทฯสามารถผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง หรือเท่ากับผู้ผลิตรายอื่นๆ

สำหรับเป้าหมายหลังจากเปิดตลาดอย่างเป็นทางการคาดว่าปีแรกจะมียอดขายอยู่ที่ 400 คันต่อปี โดยมีช่องทางการจำหน่ายหลักคือ ผ่านโชว์รูม และตัวแทนขาย เป็นต้น เบื้องต้นจะเน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก แต่หากในประเทศประสบความสำเร็จ คาดจะขยายตลาดไปยังตลาดต่างประเทศด้วย ซึ่งจะเน้นรับจ้างผลิต (OEM) มากกว่า และส่งออกไปยังลูกค้าต่างประเทศเอง

“ด้วยจุดแข็งที่เรามีได้แก่ 1.กระบวนการผลิต ที่ครอบคลุมทั้งการออกแบบ การผลิต การทดสอบความแข็งแรงของรถ การเปลี่ยนการนำเข้าแบตเตอรี่ใหม่จากเดิมเน้นนำเข้าทั้งแพก เป็นการนำเข้าแค่เซลล์ แล้วนำมาประกอบเองที่ไทย ทำให้เราสามารถผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าได้ราคาถูก 2.ความสามารถผลิตได้ตามแบบที่ลูกค้าต้องการ และมีขนาดรถให้เลือกตามการใช้งาน 3.สามารถจดทะเบียนได้ในรุ่นที่ใหญ่ที่มีผู้โดยสารนั่งได้ และ 4.การมีบริการหลังการขายให้ลูกค้าเมื่อเกิดกรณีที่รถมีปัญหา ลูกค้าสามารถส่งรถไปซ่อมกับที่ตัวแทนศูนย์ซ่อมบำรุงที่เราเป็นพันธมิตรได้เลย นั่นจะเป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้ธุรกิจรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าของเราประสบความสำเร็จ และมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องแน่นอน” นายธีรวัต กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น