xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองกลางสั่งถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดฯ หรู 'แอชตัน อโศก' มูลค่า 6.7 พันล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โครงการแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 โปรเจกต์ร่วมทุนมูลค่ากว่า 6,700 ล้านบาท ต้องเข้าวังวนการเคลียร์ปมปัญหาครั้งใหญ่ เมื่อล่าสุด ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ ในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและพวกรวม 16 คน ได้ยื่นฟ้องที่ตั้งโครงการผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

กลายเป็น Talk of the town ที่ร้อนแรงไม่แพ้การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อโครงการคอนโดมิเนียมแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 ซึ่งบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เป็นเจ้าของโครงการและผู้ประกอบการ (โดยบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซี อินเวสเม้นท์ ไฟว์ ไพรเวท ลิมิเต็ด บริษัทในกลุ่มของบริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด) ตัวโครงการอยู่บนทำเลศักยภาพบนถนนอโศก ใกล้จุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าบีทีเอส และ MRT อโศก ด้านหลังจะเป็นห้างเทอมินอล 21 นั้น

ล่าสุด ความคืบหน้าของคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวกรวม 16 คน ได้ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตวัฒนา กับพวกรวม 5 คน มีความชัดเจนแล้วว่า

ทางศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือทุกฉบับในกรณีดังกล่าว

หลังศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแลัว เห็นว่า ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารโครงการแอชตัน อโศก ไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอด จนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

การที่ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ทำการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารโครงการแอชตัน อโศก ที่ถนนสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงสมควรที่ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับแจ้งการก่อสร้างอาคารพิพาททุกฉบับ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อมิให้คำสั่งดังกล่าวมีผลในระบบกฎหมายต่อไป

เปิดไทม์ไลน์ "แอชตัน อโศก" กับปมการใช้ประโยชน์บนแปลงของ รฟม.

สำหรับโครงการแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 เป็นโครงการที่อยู่ในทำเลไพรม์แอเรียร์ และเป็นโครงการที่ทางบริษัทอนันดาฯ มีความมั่นใจในตัวโครงการ พร้อมชูจุดขายในเรื่องสร้างคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ ซึ่งโครงการมีมูลค่าสูงถึง 6,700 ล้านบาท แต่หากย้อนไปช่วงก่อนปี พ.ศ.2561 โครงการใช่จะว่าราบรื่น เนื่องจากทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีที่ รฟม.อนุญาตให้สิทธิบริษัทในเครืออนันดาฯ เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เพื่อใช้เป็นทางเข้าและออกโครงการก่อสร้างอาคารชุดขนาดใหญ่ โดยไม่ขออนุญาตต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ซึ่งก่อนหน้านี้  สำนักข่าวอิศราได้ระบุรายงานการตรวจสอบของ สตง.พบว่า รฟม.อนุญาตให้สิทธิแก่บริษัทในเครืออนันดาฯ ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. โดยมีค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงิน 97.6 ล้านบาท พร้อมอ้างการให้สิทธิตามข้อบังคับ รฟม.ว่าด้วยการใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ของ รฟม.

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2561 ทางโครงการ ยังเจอปัญหาในเรื่องไม่สามารถโอนห้องชุดในโครงการกับลูกค้าได้ เนื่องจากติดขั้นตอนการยื่นขอออกเอกสาร อ.6 (ใบตรวจสอบอาคาร) หรือใบขอเปิดใช้อาคาร โดยเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่น

โดยวันที่ 16 มี.ค.2561 ในตอนนั้น นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Ananda Development ว่า ทางโครงการแอชตัน อโศก (Ashton Asoke) ซึ่งเป็นคอนโดหรูสูง 50 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสี่แยกอโศก ติดทางลง MRT สถานีสุขุมวิท มีเหตุจำเป็นที่ต้องให้ลูกค้าของโครงการเลื่อนการโอนรับมอบห้องออกไป 1 ปี (ตามแผนเดิมปลายปี 60) แม้ว่าขณะนี้การก่อสร้างโดยรวมจะเสร็จสมบูรณ์แล้วก็ตาม เนื่องจากติดข้อกฎหมายกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย โดยซีอีโ ได้กล่าวขอโทษลูกค้า แม้ว่าโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และมีความภาคภูมิใจในโครงการดังกล่าว

วันที่ 18 มิ.ย.61 บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้มีการส่งข่าวประชาสัมพันธ์ชี้แจงเรื่อง "การโอนห้องชุดในโครงการ Ashton Asoke" ให้สื่อมวลชน

โดยนายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดาฯ กล่าวเหตุที่มีการฟ้องคดีทางราชการที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ต่อศาลปกครองกลาง จำนวน 2 คดี (ซึ่งผู้ฟ้องไม่ได้ฟ้องบริษัทฯ บริษัทฯ เพียงถูกศาลเรียกเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดในภายหลัง) พร้อมทั้งอ้างเหตุปลีกย่อยอื่น เช่น พันธุ์ไม้ซึ่งปลูก ณ โครงการ และการติดตั้งป้ายบอกชั้นในห้องลิฟต์ดับเพลิงของโครงการฯ เป็นต้น ต่อมา บริษัทฯ ได้อุทธรณ์คำสั่งของกรุงเทพมหานครต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎหมาย ดังที่ทราบโดยทั่วกันนั้น

บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เจ้าของโครงการฯ และผู้ประกอบการ ใคร่ขอเรียนว่าคณะกรรมการพิจารณา อุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งของกรุงเทพมหานครและให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ซึ่งต่อมากรุงเทพมหานครได้ดำเนินการออกใบรับรองการก่อสร้างอาคาร (แบบ อ. 6) ให้แก่บริษัทฯ และสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการจดทะเบียนอาคารชุด และออกหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดของโครงการให้บริษัทฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทฯ ได้เริ่มทำการโอนห้องชุดให้ผู้จองซื้อบางรายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากที่ทางโครงการสามารถโอนห้องชุดได้แล้วนั้น ก็มีบางส่วนที่ตัดสินใจคืนห้องชุดให้ทางโครงการ แต่อีกจำนวนมากที่รับโอน เนื่องจากราคาขายต่อตารางเมตรปรับขึ้นสูงในช่วงดังกล่าว

อนันดาฯ กับแผนการขายหุ้นกู้ล็อตใหม่

ล่าสุด บริษัทอนันดาฯ ได้เตรียมที่จะออกขายหุ้นกู้ล็อตใหม่ จำนวน 2 รุ่น โดยได้เคาะผลตอบแทนหุ้นกู้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กล่าวคือ หุ้นกู้ อายุ 1 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 4.40% ต่อปี และหุ้นกู้ อายุ 2 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 5.20% ต่อปี โดยจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน จะเสนอขายในระหว่างวันที่ 5-6 และ 9-10 สิงหาคมนี้ ผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ 6 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด

หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ในระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) ที่ BBB- เช่นเดียวกับอันดับความน่าเชื่อถือขององค์กร โดยมีแนวโน้ม “คงที่” (Stable)

สำหรับผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 64 บริษัทมีการรับรู้ยอดโอนโครงการต่างๆ รวม 3,059 ล้านบาท และมียอดขายรวม 3,979 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 3,393 ล้านบาท ถึง 17% ขณะที่สัดส่วนยอดโอนจากลูกค้าต่างประเทศใกล้เคียงกับปีก่อนที่ระดับ 21% นอกจากนี้ ในไตรมาส 2 ของปี 2564 บริษัทฯ มียอดขายรวม 3,264 ล้านบาท ดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ อีก 17%

ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณ 100,000 บาท โดยศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sec.or.th หรือติดต่อผ่านสถาบันการเงินทั้ง 6 แห่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น