xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.กลาง เพิกถอนใบอนุญาตสร้างคอนโดหรู แอชตัน อโศก ผิด พ.ร.บ.ถนนแคบกว่า 12 ม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แอชตัน อโศก (แฟ้มภาพ)
ศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดหรู แอชตัน อโศก ชี้ พื้นที่ตั้งโครงการถนนแคบกว่า 12 เมตร ผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

วันนี้ (30 ก.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการอาคารชุดที่พักอาศัย “แอซตัน” อโศก

โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือทุกฉบับในกรณีดังกล่าว ตามที่ชาวบ้านในพื้นที่ถนนสุขุมวิทซอย 19 แยก 2 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินทางมายื่นฟ้อง ผอ.สำนักงานเขตวัฒนา ผอ.สำนักการโยธา กทม. ผู้ว่าการ กทม. ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ คณะกรรมการผู้ชาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-5 ต่อ ศาลปกครองกลาง ว่า ร่วมกันละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ด้วยการ อนุญาต บจก.อนันดา เอ็มเอฟ เอเชียอโศก ดำเนินการก่อสร้างโครงการอาคารชุดที่พักอาศัยแอชตัน อโศก ซึ่งเป็นอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ ขนาดความสูง 51 ชั้น รวมชั้นใต้ดิน ในพื้นที่ขนาด 2.3 ไร่ ในซอยสุขุมวิท 19 แยก 2 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลาง ให้เหตุผลว่า ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารโครงการแอชตัน อโศก ไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 การที่ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ทำการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารโครงการแอชตัน อโศก ที่ถนนสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงสมควรที่ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับแจ้งการก่อสร้างอาคารพิพาททุกฉบับโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อมิให้คำสั่งดังกล่าวมีผลในระบบกฎหมายต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น