xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต้อย” เฮ! ศาลมีคำสั่งคุ้มครองกลับไปนั่งรอง ผบ.ตร.หลังถูกสำรองราชการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา (แฟ้มภาพ)
ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครอง “วิระชัย” ที่ถูกสำรองราชการให้กลับไปดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร. ชี้ แม้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจออกคำสั่ง แต่ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป มิใช่เงื่อนไขโดยเด็ดขาดแม้ทำผิดวินัยร้ายแรง

วันนี้ (15 ก.ค.) มีรายงานว่า ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 ก.ค.คุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาให้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา ที่ถูกคำสั่งสำรองราชการให้กลับไปดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร.

ทั้งนี้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. ถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และถูกร้องทุกข์ดำเนินคดี กรณีถูกกล่าวหา ดักฟัง เผยแพร่ข้อมูลการสนทนา ระหว่างตนเอง กับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ขณะนั้น จากกรณีที่ คนร้ายยิงรถ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา สบ9 ซึ่ง พล.ต.อ.วิระชัย จึงได้ยื่นฟ้อง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 เพื่อขอให้ศาลปกครองสั่งเพิกถอนคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 387/2563 ลงวันที่ 29 ก.ค. 2563 ที่สั่ง พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา สำรองราชการ เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนเหตุผลที่ศาลฯมีคำสั่งคุ้มครอง ระบุว่า แม้ว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง ผู้ฟ้องคดีจะเป็นเหตุให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการ หรือมีอำนาจในการพักราชการ หรือมีอำนาจในการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนก็ตาม แต่ก่อนที่ผู้บังคับบัญชาจะออกคำสั่งดังกล่าวผู้บังคับบัญชาจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆ ไป กล่าวคือ หากผู้ได้รับคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของกฎหมายในการสั่งให้สำรองราชการ หรือสั่งให้พักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนผู้บังคับบัญชาไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งดังกล่าวได้ คดีนี้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการโดยการสั่งให้สำรองราชการนี้ถึงแม้ข้อ 3 ของกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือส่วนราชการใด หรือสำรองในส่วนราชการใด พ.ศ. 2548 จะกำหนดไว้ว่าบุคคลที่จะถูกสำรองราชการถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็ตาม แต่มิใช่เงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยเด็ดขาดว่าเมื่อข้าราชการตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงแล้วผู้บังคับบัญชาจะต้องสั่งให้สำรองราชการทุกกรณี โดยกรณีผู้บังคับบัญชาจะสั่งให้สำรองราชการควรที่จะมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมมาประกอบการพิจารณาด้วย อีกทั้งการสั่งให้สำรองราชการจะต้องมีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งสำรองราชการเท่านั้น หากมีการสั่งให้สำรองราชการโดยจุดประสงค์อื่นที่ไม่ได้เป็นไปตามคำสั่งให้สำรองราชการแล้วย่อมทำให้คำสั่งสำรองราชการน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คดีนี้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้สั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองตามนัยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ให้เหตุผลไว้ในคำสั่งดังกล่าวว่าเพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรมในการดำเนินการทางวินัยและอาญาและเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการ ในภาพรวมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการ

“แต่โดยที่ก่อนที่ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการนั้นก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงหรือมีพยานบุคคลใดได้ร้องขอต่อผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ว่า ผู้ฟ้องคดีไปยุ่งเหยิงกับพยานหรือเป็นอุปสรรคในการสอบสวนหรือทำให้เกิดความเสียหายให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตลอดจนหากให้ผู้ฟ้องคดียังคงอยู่ในตำแหน่งแล้วทำให้เกิดความเสียหายให้แก่ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 หรือบุคคลอื่นใดตามที่ระบุไว้ในคำสั่ง”

ต่อมาหลังจากที่ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการแล้วผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการคัดเลือกข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเสนอคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เพื่อให้ความเห็นชอบดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก่อนแล้วให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งแทนผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ต.ค. 2563

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวซึ่งต่อมาได้ออกอากาศในรายการเนชั่นทันข่าว เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 63 ว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งให้สำรองราชการแล้วผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะไม่สามารถเสนอชื่อผู้ฟ้องคดีเพื่อให้ดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้เพราะผู้ฟ้องคดีถูกสำรองราชการอยู่

“ดังนั้น จากเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมาตามลำดับจึงเห็นว่าพฤติการณ์หรือการกระทำของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงแม้จะมิใช่ความไม่เป็นกลางโดยสภาพภายนอกตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ก็ตาม แต่เห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องดังกล่าวข้างต้นจึงถือว่าผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางโดยสภาพภายในตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน และกรณีผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการนี้มิใช่กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยให้ล่าช้าไปจะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะหรือสิทธิของบุคคลจะเสียหายโดยไม่มีทางแก้ไขหรือไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนได้ การสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการจึงไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้นของมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน”

การที่ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 29 ก.ค. 63 จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีผลทำให้ประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 31 ส.ค. 63 เรื่องให้ข้าราชการตำรวจ (ผู้ฟ้องคดี) พ้นจากตำแหน่งน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย

คำขอของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นไปตามเงื่อนไขประการแรก ดังนั้น เมื่อคำขอของผู้ฟ้องคดีเป็นไปตามเงื่อนไขทั้ง 3 ประการข้างต้นกรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่จะทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ทุเลาการบังคับตามตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการและประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยในส่วนคดีหลักที่ฟ้องผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 นี้ ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 22 ก.ค.นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น